xs
xsm
sm
md
lg

1 เดือน “คสช.”สอบตก ปิดกั้น“สิทธิ-เสรีภาพ”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


แม้จะมีผลโพล์หลายสำนักบอกว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้คะแนนการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมาว่า สอบผ่าน

อาทิเช่น "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตที่เปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนถึงการทำงานของคสช.หนึ่งเดือนโดยพบว่า ประชาชนให้คะแนนผลงาน 1 เดือน คสช. เต็ม 10 ได้ 8.82 คะแนน บนการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,614 คน

แต่เวลานี้ ก็เริ่มได้ยินเสียงวิจารณ์การทำงานของคสช.เริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแล้วว่า กำลังหลงทาง ไปเอาปัญหาเล็กมาเป็นปัญหาใหญ่ จนทำให้ หลายคนเริ่มเป็นห่วงแล้วว่า อาจไม่ถึง 3 เดือน เสียงทวงถามผลงานคสช.คงเริ่มปรากฏให้เห็น และหากคสช.ยังไม่มีผลงานอะไรที่โดดเด่นมากกว่านี้ ก็น่าเป็นห่วงว่า ช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ประชาชนให้โอกาสกับคสช.อาจหมดลงในเวลาอันรวดเร็ว!

หากประเมินผลการทำงานของคสช.ในรอบหนึ่งเดือนและสิ่งที่คสช.กำลังจะต้องแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต “ทีมข่าวการเมือง”ประเมินว่า การบ้านข้อใหญ่ของคสช.ในเวลานี้ ที่แก้ไขให้ลุล่วงไปให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหากับคสช.ในอนาคต มีอยู่ด้วยกัน 2 ปมคือ

การรับมือกับ “แรงกดดัน-แรงบีบ”จากต่างประเทศ ที่พุ่งเข้าใส่ คสช.เป็นระลอก

นับแต่มีการทำรัฐประหาร หลายชาติก็แสดงท่าทีอย่างเป็นทางการไม่ยอมรับการขึ้นสู่อำนาจของคสช.มาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศล ออสเตรเลีย โดยมีการประกาศตัดงบประมาณสนับสนุนในด้านต่างๆ ซึ่งแม้ คสช.จะพยายามใช้ทั้งวิธีทางการฑูตและการค้า เพื่อให้นานาประเทศยอมรับคสช.แต่ก็จะพบว่า ปัญหาดังกล่าวก็ยังกวนใจ คสช.อยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณี สหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนประณามการยึดอำนาจปกครองประเทศโดยกองทัพไทย พร้อมกับเรียกร้องให้ไทยกลับคืนสู่ระบอบการปกครองแบบพลเรือนโดยเร็ว และล่าสุดกับกรณี สกอต มาร์เซล เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ที่อ้างว่า รัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากจะตัดงบความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแก่ไทยเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านดอลลาร์แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะย้ายการฝึกคอบร้าโกลด์ไปจัดที่อื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย

เรื่องนี้ ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ ที่ คสช.ต้องให้ควาสำคัญมากขึ้นในการแก้ปัญหาเรื่องภาพลักษณ์-การยอมรับของคสช.ในเวทีนานาชาติ ซึ่งจริงอยู่ว่า ไทยเป็นประเทศเอกราช ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญมากกับต่างประเทศ คนไทยพร้อมแก้ไขปัญหาการเมืองของเรากันเองได้ ไม่ต้องให้อียู-สหรัฐฯมาชี้นิ้วสั่ง ผนวกกับเป็นเรื่องปกติที่พวกประเทศแถบยุโรปหรือสหรัฐฯ ก็ต้องมีท่าที ไม่ยอมรับการทำรัฐประหาร แต่คสช.จะทำเป็นไม่สนใจก็ไม่ได้ ต้องหาทางพยุงสถานการณ์ให้ดีขึ้น เพื่ออย่างน้อยทำให้อียู-สหรัฐฯ ไม่เอาเรื่องนี้มากดดันทางธุรกิจ กับคนไทย ไม่เช่นนั้น จะมีผลกระทบอย่างมากกับระบบเศรษฐกิจของไทย

ส่วนเรื่องที่ 2 คสช.ยังสอบไม่ผ่านก็คือเรื่อง “สิทธิ-เสรีภาพ”โดยเฉพาะกับสื่อมวลชนรวมถึงผู้ที่เห็นต่างกับ คสช.เช่นผู้ประท้วงตามจุดต่างๆ ที่ถูกดำเนินคดีกันไปแล้วหลายคน อย่างในคำแถลงของอียู ก็จะพบว่า มีการพูดถึงข้อเป็นห่วงในเรื่องนี้เช่นกัน จนมีการเรียกร้องให้คสช. ปล่อยผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทั้งหมด และเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ

จริงอยู่ว่าประเทศหลังมีการทำรัฐประหาร เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ย่อมถูกจำกัด โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ หลังรัฐประหาร

อย่าง สื่อมวลชน เอง จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น-การวิพากษ์วิจารณ์แม้แต่การเสนอข่าวเหมือนกับช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ได้อยู่แล้ว สิทธินี้ที่เคยได้รับอย่างเต็มที่ในยุครัฐบาลประชาธิปไตย ย่อมถูกจำกัดลงไปโดยปริยาย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ คนทำสื่อเองก็เข้าใจสภาพ

แต่ด้วยอุดมการณ์ความเป็นสื่อโดยเฉพาะสื่อภาคเอกชนที่มีเสรีภาพมากกว่าสื่อภาครัฐ ทุกคนก็พร้อมจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด แม้ต่อให้คสช.มีอำนาจล้นฟ้าแต่หากเห็นว่า คสช.ทำอะไรไม่ถูกต้อง สื่อก็พร้อมตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่กลัวกับการสั่งให้ยุติกิจการ

แต่เมื่อวันนี้คสช.บริหารประเทศมาได้ร่วม 5 สัปดาห์แล้ว สถานการณ์ต่างๆ เริ่มนิ่งแล้ว สภาพการณ์โดยรวมกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว ทุกฝ่ายแม้แต่พรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดง ก็ยุติการเคลื่อนไหว แถมยังให้ความร่วมมือกับคสช.ในเรื่องการปรองดอง และการปฏิรูปประเทศ อีกทั้งแรงกดดัน-เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ต้องการให้ คสช.เปิดพื้นที่เสรีภาพให้กับสื่อและประชาชน เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับปรากฏว่า เรื่อง “สิทธิ-เสรีภาพสื่อ”ที่จนถึงตอนนี้ คสช. ก็ยังไม่เปิดกว้างเท่าที่ควร

เห็นได้ชัด จากกรณีที่เวลานี้ จริงๆ แล้ว คสช.ต้องทบทวน ประกาศ-คำสั่ง หลายฉบับ ที่เข้าข่ายปิดกลั้นสิทธิเสรีภาพสื่อและประชาชน

อย่างเช่น ประกาศคสช.ฉบับที่ 14/2557 เรื่อง “ห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฏิบัติงาน ของคสช.”ที่ทำให้การทำงานของสื่อมวลชนที่ผ่านมาอยู่ในสภาพเกร็งกันไปหมด เพราะไม่อยากมีปัญหากับคสช.จนสื่อบางสำนัก เลือกที่จะขออยู่รอดแบบปลอดภัย ด้วยการลดโทนการเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์การเมืองน้อยลง เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะในประกาศฉบับที่ 14 ระบุไว้ว่า

“เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ จึงให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ ดังนี้

๑. ห้ามเจ้าของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์และรายการวิทยุโทรทัศน์ทุกประเภท บรรณาธิการ พิธีกรและสื่อมวลชน เชิญบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มิได้ดํารงตําแหน่งราชการในปัจจุบันทั้งในส่วนของข้าราชการ และนักวิชาการ รวมทั้งอดีตผู้ปฏิบัติงานในศาลและกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ ให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็น ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม รวมทั้งอาจนําไปสู่การใช้ความรุนแรงโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้หากฝ่าฝืน จะถูกเรียกตัวมาดําเนินคดีตามกฎหมาย ตลอดจนระงับการจําหน่ายจ่ายแจกสื่อสิ่งพิมพ์และการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที”

แล้วก็ยังมี “ประกาศคสช.ฉบับที่ 18”เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ที่ระบุว่า เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย คสช.จึงให้ผู้ประกอบกิจการและผู้ให้บริการด้านสื่อมวลชนทุกประเภท ทั้งที่เป็นของราชการและเอกชน งดเว้นการนําเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะต่างๆ ซึ่งในประกาศฉบับที่ 18 ก็มีบางอันที่เป็นเรื่องดีที่คสช.ตั้งกฎเหล็กไว้เช่น งดเว้นการเสนอข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

แต่ในประกาศฉบับที่ 18 ข้อที่ 3 ก็ระบุว่า ให้สื่องดเว้น การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับระบุในตอนท้ายประกาศว่า สื่อดังกล่าวข้างต้น มีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ!

เนื้อหาในประกาศคสช.ทั้งฉบับที่ 14 และ 18 เห็นได้ชัดว่า มีการจำกัดการทำหน้าที่สื่อไว้ในระดับเข้มงวด แม้คสช.จะอ้างได้ว่าผ่านมาร่วม 5 สัปดาห์แล้ว คสช.ยังไม่มีการปิดหนังสือพิมพ์-ระงับการพิมพ์หนังสือพิมพ์-สั่งปิดเว็บไซด์ที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช. หรือ ระงับการออกอากาศของวิทยุโทรทัศน์ช่องไหนทั้งสิ้น ที่นอกเหนือจากคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 15 ที่มีการระงับการแพร่ภาพทีวีดาวเทียม-ดิจิตอลไป 14 สถานีและวิทยุชุมชนทั่วประเทศ คือพยายามบอกว่ามันเป็นแค่ กฎเหล็กวางไว้เท่านั้น หากสื่อไม่ไปสัมภาษณ์บุคคลที่ “อาจก่อให้เกิดการขยายความขัดแย้ง”ก็ไม่เข้าข่ายขัดคำสั่งคสช.ฉบับที่ 14

แต่หากพิจารณาเนื้อหาในประกาศคสช.อย่าง ฉบับที่ 14 ที่ยกมาข้างต้น ก็จะพบว่าตัวประกาศดังกล่าว ได้เปิดกว้างในการตีความให้คสช.สามารถจัดการกับสื่อที่คสช.ไม่พอใจได้ทุกเมื่อ

มาถึงเวลานี้แล้ว หลายคนเห็นด้วยอย่างมากว่า คสช.ต้องทบทวนการออกประกาศต่างๆที่เป็นการจำกัดสิทธิ-เสรีภาพ สื่อและประชาชน ได้แล้ว แต่กลับพบว่า คสช.ก็ยังไม่ทำ แถมไม่พอ กลับมีท่าทีจะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อหนักขึ้นกว่าเดิมอีก

โดยที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะคสช.ในฐานะดูแลเรื่องฝ่ายกิจการพิเศษ ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อคอยมอนิเตอร์การเสนอข่าวของสื่อทุกแขนงในแต่ละวัน โดยมีการสั่งการว่าหากพบข้อมูลเป็นเท็จกระทบกับการทำงานของ คสช. ให้รายงานข้อมูลให้กับหัวหน้า คสช. ทราบทันที

เรื่องการมามอติเตอร์สื่อ เป็นเรื่องปกติ ที่หน่วยงานรัฐ ปกติ ก็ทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว ขอยืนยันว่า สื่อไม่ได้ปฏิเสธหรือไม่ยอมให้ถูกมอนิเตอร์การเสนอข่าว แต่ที่ คสช.ควรทำให้เกิดความชัดเจนก็คือ เรื่อง ขอบเขตการตีความว่า สื่อรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จกระทบกับการทำงานของคสช.แล้ว คสช.จะเข้ามาดูแล ขอบเขตอยู่ตรงไหน

เพราะหากสื่อรายงานข่าวหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคสช. แบบถูกต้อง ตรงไปตรงมา แต่คสช.ไม่ต้องการให้ใครมาวิจารณ์ได้ แล้วมาไขสือบอกว่าสื่อรายงานเท็จ เพราะไม่ถูกใจคสช. แล้วจะหาเหตุมาจัดการกับสื่อเช่นมาใช้ประกาศฉบับที่ 14 จัดการกับองค์กรสื่อ มันก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสม

เนื่องจากหากคสช.เห็นว่าสื่อรายงานข่าวไม่ตรงกับความจริง รายงานเท็จ ก็สามารถใช้ช่องทางต่างๆ ได้ เช่นการทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงไปยังองค์กรสื่อนั้นๆ -การให้ข่าวจากคสช.เพื่อปฏิเสธข่าวดังกล่าวอย่างเป็นทางการ สิ่งเหล่านี้ คสช. สามารถทำได้โดยกระบวนการปกติและทำได้ตลอดเวลา ที่หากคสช.ยึดแนวทางแบบนี้ ก็จะทำให้บรรยากาศแห่งสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน ค่อยๆกลับคืนสู่สภาวะปกติ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อคสช.เองด้วยซ้ำ คสช.จึงต้องบอกให้ชัดว่า จะมอนิเตอร์สื่อเพื่ออะไร และมีขอบเขตแค่ไหน ตรงนี้ คสช.ต้องบอกให้ชัด

เวลานี้ คสช.ต้องยกเลิกบรรยากาศแห่งการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ-ประชาชนได้แล้ว ประกาศหรือคำสั่งฉบับไหน ที่เห็นว่าควรต้องทบทวนยกเลิก ก็ต้องทำ เพื่อคืนสิทธิ-เสรีภาพ ที่เป็น จุดอ่อนสำคัญของ คสช. ให้ประชาชนโดยเร็ว
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น