xs
xsm
sm
md
lg

ท่าทีของตะวันตก กับเดือนแรกของ คสช.

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ผ่านมาหนึ่งเดือนแล้วสำหรับการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองโดย คสช.ทุกอย่างสำหรับประเทศไทยเริ่มเข้าระบบมากขึ้น

เมื่อมีความชัดเจนว่า คสช.จะคงอำนาจเต็มในลักษณะนี้ไว้ก่อน โดยยังไม่ต้องตั้งรัฐบาลขึ้นมารักษาการเหมือนในการรัฐประหารครั้งก่อนๆ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ผู้คนก็เริ่มทำความเข้าใจได้ และเลิกทวงถาม หรือคอยนั่งเก็ง นั่งถามกันว่า ใครจะเป็นนายกฯ หรือเมื่อไรจะตั้งรัฐบาล

ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะรู้สึกในใจว่า “จริงๆ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน”...

เพราะการควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช.ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่ารัฐบาลทั้งคณะ หรือถ้าพูดตรงไปตรงมา ก็คือการตัดสินใจอยู่ภายใต้ “บิ๊กตู่” หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดียวนั้น

ถ้าจะเอาคำอธิบายตามรูปแบบทฤษฎีการเมืองการปกครองแบบฝรั่งมาจับ ก็คงเห็นว่าเป็นเรื่องการใช้อำนาจแบบ “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” นั่นแหละ

เพียงแต่เรายอมรับว่า ในภาวะอันสับสนวุ่นวายเช่นนี้ การที่ใครสักคนถืออำนาจไว้ชัดเจนคนเดียวมีอำนาจตัดสินใจ มันแก้ปัญหาได้จริงๆ

อุปมาคล้ายกับเวลาเกิดไฟไหม้ หรือมีภัยพิบัติ การค่อยๆ ตัดสินใจ ฟังทุกคน มันก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายแก้ไม่ทัน แต่ถ้าใครสักคนสั่งไปก่อน ตัดสินใจไปก่อน เพื่อดับไฟหรือระงับภัยนั้นไปได้ จากนั้นค่อยว่ากัน บางครั้งอาจจะเป็นทางออกที่ดีกว่าก็ได้

สิ่งที่ประจักษ์กันให้คนไทยส่วนใหญ่เห็น คือปัญหาสำคัญๆ ถูกปัดเป่าลงไปได้ บางเรื่องก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ รู้กันทั่วว่าเป็นปัญหา แต่ไม่มีใครแก้ไขกันจริงจังจนคนทั่วไปทำใจกันหมดแล้ว เช่น ปัญหารถตู้ยึดถนนแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ ปัญหาแท็กซี่สนามบิน ปัญหาลอตเตอร์รี่เกินราคา หรือปัญหาใหญ่ๆ เช่น เรื่องการทุจริต ก็มีทั้งข่าวการจับกุมผู้ทุจริตประพฤติมิชอบได้ทั้งใหญ่เล็ก ตั้งแต่ข้าราชการขู่เรียกหัวคิวค่าวัตถุดิบอาหารเรือนจำไปยันนักธุรกิจใหญ่ยักยอกข้าว หรือการกวาดล้างการพนันฟุตบอล หวยเถื่อน หรือหนี้นอกระบบ ที่แต่ก่อนอยู่ในลักษณะ “ใครๆ ก็รู้ว่าอยู่ตรงไหน ยกเว้นเจ้าหน้าที่” แต่ในที่สุดก็ถูกจับกุมปราบปรามจริงจังลงไปได้

ความสงบเรียบร้อยที่กลับคืนมาอย่างเห็นได้ชัด สัมผัสได้จริงเช่นนี้ แม้ทำให้ในรูปแบบหรือทฤษฎีนั้น จะเป็นเผด็จการหรืออะไรก็ตามที แต่ประชาชนก็ไม่ได้รู้สึกลำบากเดือดร้อนอะไร

ซึ่งก็ไม่แปลกใจว่า ทำไมเสียงเรียกร้องต้องการรัฐบาลรักษาการ หรือรัฐธรรมนูญชั่วคราวถึงเงียบลงไป แถมพอเมื่อมีการสำรวจกัน กลับกลายเป็นว่า คนยังสนับสนุนต่อว่า แม้แต่ถ้ามีรัฐบาลชั่วคราวเมื่อไร ก็ยังอยากให้บิ๊กตู่นี่แหละเป็นนายกฯ ต่อไป

ในทางทฤษฎีการปกครองก็เรื่องหนึ่ง แต่ความรู้สึกและการตอบสนองของผู้คนในสังคมก็อาจจะเป็นคนละเรื่องได้ ก็ในเมื่อสิ่งที่เขาได้พบเจอ เขารู้สึกเหมือนได้รับ “ความสุข” กลับคืนมาจริงๆ มีชีวิตที่รู้สึกมั่นคงปลอดภัยขึ้นจริง เช่นนี้เลยยิ่งทำให้ฝ่ายของการต่อต้านรัฐประหารอ่อนแรงลงเรื่อยๆ และกิจกรรมเพื่อการต่อต้านก็คล้ายๆ เน้นตลกไร้สาระ เช่น การออกมากินแซนวิชหรืออ่านหนังสือ 1984 ของ จอร์จ ออร์เวล ต้านรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม ก็มีข่าวให้พวกต่อต้านรัฐประหารรู้สึกมีความหวัง (ทั้งที่เป็นเหมือนข่าวร้ายของประเทศ) คือข่าวที่สหภาพยุโรปประกาศลดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประเทศไทย และข่าวที่สหรัฐฯ เตรียมมาตรการกีดกันทางการค้าของไทย โดยอ้างเหตุว่ามาจากการค้ามนุษย์และใช้แรงงานทาส รวมทั้งอาจจะมีการพิจารณาย้ายฐานการฝึกซ้อมคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นการซ้อมรบต่อเนื่องยาวนานของกองทัพไทยและสหรัฐฯ ออกไป

อันที่จริงหากทำความเข้าใจในเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมาก็คงพอเข้าใจได้ว่า เนื่องจากทั้งสหรัฐอเมริกาและทางยุโรปนั้น จะต้องแสดงออกในเรื่องของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการสำคัญ และพวกเขาเองก็ใช้หลักการสำคัญอันนี้แหละเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงกิจการต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อประเทศไทยเรามี “รูปแบบ” การปกครองที่ผิดไปจากตำราว่าด้วยประชาธิปไตย เพื่อการรักษาจารีตประเพณีอย่าง “รูปแบบ” ก็ไม่แปลกว่า ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปก็ต้องแสดงท่าทีเช่นนี้ออกมา เพียงแต่สาระสำคัญจะเป็นเช่นไรนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

ในกรณีของสหภาพยุโรปนั้น การลดระดับความสัมพันธ์ เป็นการลดระดับในระดับ “รัฐต่อรัฐ” เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับภาคเอกชน ได้แก่การห้ามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปมาเยือนประเทศไทย (และในทางกลับกันก็เช่นกัน คือห้ามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยไปเยือนสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ) แต่ทั้งนี้ในระดับเอกชนต่อเอกชนนั้นไม่มีผล ไม่ได้ห้ามเอกชนเข้ามาค้าขายกับไทย ซึ่งการลดระดับความสัมพันธ์ตามแบบพิธีนี้ก็เหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่กระทบศักดิ์ศรีของประเทศ แต่ในทางการค้าแล้วไม่ถือว่าเสียหายหรือน่าตกใจอะไร

ส่วนเรื่องการลดระดับประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ นั้นอาจจะรุนแรงกว่า เพราะเป็นเงื่อนไขหรือข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าได้ด้วย และก็ปรากฏว่ามีบริษัทเอกชนในยุโรปเลิกสั่งซื้อกุ้งไทยไปแล้วเพราะข้ออ้างนี้ แต่ก็เป็นการยกเลิกเฉพาะของเอกชนรายนั้นกับเอกชนของไทยที่เป็นคู่ค้าเท่านั้น

หากพิจารณาดีๆ แล้ว จะเห็นว่า สาเหตุนั้นไม่ใช่เรื่องการรัฐประหารโดยตรง แต่เป็นเรื่องการค้ามนุษย์ที่เป็นปัญหาหมักหมมมาทุกรัฐบาล ซึ่งถ้าไม่เกิดการรัฐประหารในคราวนี้ ตอนนี้ปูเป็นนายกฯ ก็อาจจะโดนกล่าวหาเช่นนี้ได้เหมือนกัน

การยกข้ออ้างมาเพื่อกีดกันทางการค้านั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก่อนก็เคยมีอยู่มาก เช่นการปรับลดโควตาสิ่งทอไทย โดยอ้างว่าไทยมีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บ้าง ซึ่งตอนนั้นทางภาครัฐก็ต้องออกมาตาลีตาเหลือกจับสินค้าละเมิดสิทธิ์ให้เขาพอใจบ้าง เพื่อจะได้ไม่เสียโควตาไป หรือการกีดกันปลาทูน่าไทยโดยอ้างว่าการจับปลาทูน่าของไทยนั้นไปกระทบกระเทือนปลาโลมา ข้ออ้างกีดกันทางการค้าด้วยข้อหาแปลกๆ ที่บางเรื่องก็ตลกๆ นี้มีมาทุกยุคทุกสมัย แต่ที่ทำให้ตกอกตกใจ (และบางฝ่ายเหมือนกระหยิ่มยิ้มย่องนึกว่าต่างชาติจะมาช่วย) ก็เพราะดันมาประกาศขึงขังเอาในสมัยที่เราอยู่ในช่วงการจัดระเบียบประเทศหลังรัฐประหารกัน

อย่างไรก็ตาม การกีดกันทางการค้าในโลกยุคใหม่ อาจจะทำได้ไม่ง่ายนักในปัจจุบันนี้ เพราะ “ขั้วอำนาจ” ของโลกไม่ได้มีอยู่ขั้วเดียว ไม่มีพี่เบิ้มที่จะชี้เป็นชี้ตายได้ อย่างน้อยในทวีปเอเชียนี้ก็ยังมีจีนที่เป็นตัวแปรสำคัญอยู่ ทำให้ท่าทีฮึ่มฮั่มอะไรจะมีมาจากทางตะวันตกบ้าง ก็คงเป็นไปเพื่อการรักษาจารีตและแบบพิธี ไม่มาก ไม่น้อยไปกว่านี้แน่

สุดท้ายแล้ว ข้อพิจารณาประการสำคัญคือการที่เราต้องรักษาตัวเองไว้ก่อน แม้ในสายตาของประชาคมโลก เราอาจจะดูไม่ดีไปบ้าง แต่ในนาทีที่ความเสียหายร้าวลึกกินวงกว้างฝังรากลึกขนาดนี้ เราต้องเน้นเอาคนในชาติหรือ “โลกภายใน” ให้อยู่รอดไว้ก่อนไปคิดเรื่องการดูดีมีหน้ามีตาในสังคมโลก “ภายนอก”.
กำลังโหลดความคิดเห็น