xs
xsm
sm
md
lg

กรมทางหลวงวางแนวก่อสร้างมอเตอร์เวย์ชลบุรี-หนองคาย ใหม่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมทางหลวง วางแนวก่อสร้างมอเตอร์เวย์ชลบุรี-หนองคาย ใหม่แล้ว
ฉะเชิงเทรา - กรมทางหลวง ได้วางแนวเส้นทางการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) สายชลบุรี-หนองคาย ตอนแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี พาดผ่านพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เส้นใหม่แล้ว ชี้เป็นเส้นทางเลือกที่ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่โรงแรมซันธาราเวลเนส รีสอร์ท อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา นายบุญเกื้อ จั่นบรรจง ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์นโยบายและแผนกรมทางหลวง กล่าวเปิดเผยระหว่างการจัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อผลสรุปการคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายชลบุรี-หนองคาย ตอนท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี

โครงการดังกล่าว กรมทางหลวงได้สรุปผล และคัดเลือกแนวเส้นทางการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย ชลบุรี-หนองคาย ตอนท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรีได้แล้ว

จากผลการสำรวจด้านผลกระทบ และรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่ จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นรวม 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อสรุปว่า กรมทางหลวงได้ทำการคัดเลือกแนวเส้นทางลำดับที่ 2 หรือแนวเส้นทางสาย B+C+D จาก 3 แนวที่ได้มีการทำการสำรวจไว้

สำหรับเส้นทางสาย D ที่ตัดผ่านพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราเป็นส่วนใหญ่นั้น จะเป็นเส้นทางที่มีจุดเริ่มต้นโครงการจากบริเวณทางหลวงสาย 344 ที่บ้านหนองใน ต.หนองไผ่แก้ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ตัดข้ามทางหลวงสาย 3440 บริเวณบ้านเนินสวรรค์ มุ่งหน้าขึ้นมาทางทิศเหนือ

และตัดข้ามทางหลวงหมายเลข 3245 ที่บริเวณบ้านหนองปลาดุก พร้อมตัดข้ามทางหลวงสาย 3259 ที่บ้าน กม.7 ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ไปสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 359 ที่ กม. 8+700บ้านหว้าเอน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี รวมระยะทาง 77.1 กม.

นายบุญเกื้อ กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางการก่อสร้างจากท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีโครงการสาย B และ C เป็นจุดเชื่อมต่อมาบรรจบนั้น โครงการสาย B มีจุดเริ่มต้นมาจากถนนสุขุมวิท (สาย 3) บริเวณ กม.ที่ 130+500 อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตัดข้ามทางรถไฟ จากนั้นจึงมาตัดข้ามและเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ที่บ้านหนองแขวะ ผ่านนิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน ตัดข้ามทางหลวงหมายเลข 331 ที่บ้านศิริอนุสรณ์ มาสิ้นสุดที่บริเวณตอนใต้ของแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว เขาชมพู่ รวมระยะทาง 22.6 กม.

จากนั้นจะเชื่อมต่อด้วยแนวของเส้นทางสาย C ซึ่งจะเป็นเส้นทางขนาน และตัดข้ามกับทางหลวงสาย 331 ที่บริเวณเขาคันทรง และมาบรรจบกับจุดเริ่มต้นของโครงการทางหลวงพิเศษสาย D ที่บริเวณทางหลวงสาย 344 บ้านหนองใน ต.หนองไผ่แก้ว ดังกล่าว รวมระยะ 19.5 กม.

ดร.ปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล วิศวกรโยธาชำนาญการ สำนักแผนงานกรมทางหลวง กล่าวว่า ในการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบแนวเส้นทางได้พิจารณาจากปัจจัยด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเพื่อรองรับการจราจรได้ดี และใช้ระยะเวลาการเดินทางน้อย

รวมถึงความยุ่งยากในการก่อสร้าง โดยนำมาเปรียบเทียบกัน ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมหากแนวเส้นทางไหนส่งผลกระทบต่อประชาชนมาก เวนคืนมากต้องมีการโยกย้ายบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างมากก็จะนำข้อมูลทั้งหมดมาสรุปรวมเปรียบเทียบกันเพื่อหาความเหมาะสมที่สุด

จึงได้ข้อสรุปว่าเป็นแนวเส้นทางที่ 3 (B+C+D) เป็นแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้เพื่อต้องการจะเชื่อมต่อเกตเวย์ที่สำคัญของประเทศ มายังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งปัจจุบันนี้มีความแออัดค่อนข้างมากบริเวณใกล้ๆ ท่าเรือ ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่เป็นจำนวนมากที่ใช้ทางหลวงปกติในการเดินทางขนส่งสินค้ามายังท่าเรือ และขนออกจากท่าเรือ จึงทำให้การจราจรแออัดซึ่งหากเราสามารถพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่มีมาตรฐานสูงได้ก็จะทำให้การเดินทางมีความคล่องตัว ตรงต่อเวลา ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขนส่งมายังท่าเรือ

ดร.ปิยพงษ์ กล่าวต่อไปว่า เส้นทางสายนี้ก็จะครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่อย่างหนาแน่นทั้งใน จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และยังรองรับการเดินทางตามปกติของประชาชนด้วย ซึ่งในช่วงแรกได้เริ่มพัฒนาเส้นทางจาก จ.ชลบุรี ไปยัง จ.ปราจีนบุรีก่อน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเส้นทางที่ได้พยายามที่จะเชื่อมโยงไปจนถึงยัง จ.นครราชสีมา และ จ.หนองคาย ตามลำดับ ก็จะทำให้การเดินทางจากประเทศลาว จากเมืองเวียงจันทน์ ลงมายังท่าเรือแหลมฉบังได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น

ด้วยการเดินทางบนเส้นทางที่วิ่งตรงเพียงอย่างเดียวในระบบของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองโดยไม่ต้องผ่านทางแยกไฟแดง ไม่ต้องผ่านชุมชน ซึ่งจะทำให้การเดินทางปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะเราสามารถแยกการเดินทางระยะไกล ที่มีเส้นทางรวม 500-600 กม.และมีความเร่งรีบใช้ความเร็วสูง ออกจากการเดินทางตามปกติในท้องถิ่นของประชาชน ที่มีการตัดข้ามมีการกลับรถ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาอุบัติเหตุได้

สำหรับอัตราค่าผ่านทางนั้นต้องมีการศึกษา ซึ่งจะดูจากปริมาณของการจราจร ดูมูลค่าการลงทุนด้วย ว่า ค่าผ่านทางที่เหมาะสมนั้นควรเป็นเท่าใด ซึ่งวัตถุประสงค์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผ่านนั้นเพื่อที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้าง การบำรุงรักษาเส้นทาง และยึดหลักที่ว่าผู้ใช้เป็นผู้จ่ายซึ่งจะมีความเป็นธรรมต่อประชาชนในส่วนรวมหากใครใช้เส้นทางก็ต้องมีภาระในการบำรุงรักษาเส้นทางที่ใช้

ดร.ปิยพงษ์ กล่าว สำหรับแนวเส้นทางที่ถูกเลือกนี้ที่ผ่านมานั้นยังไม่พบว่ามีกระแสของการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ของการตัดผ่าน มีเพียงการซักถามจากภาคประชาชนระหว่างการสำรวจ และศึกษาแนวเส้นทางบ้างว่าจะตัดผ่านตรงบริเวณใด เนื่องจากอาจมีแนวที่ต้องตัดผ่านพื้นที่ของของประชาชน พื้นที่การประกอบธุรกิจบ้าง แต่ในภาพรวมนั้นยังไม่มีกระแสของการต่อต้าน หรือคัดค้านแต่อย่างใด
จัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อผลสรุปการคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย ชลบุรี-หนองคาย
ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย ชลบุรี-หนองคาย ตอนท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น