ราชบุรี - ชาวราชบุรีรุมต้านโครงการถนนมอเตอร์เวย์สาย นครปฐม-ชะอำ ที่จะต้องผ่านทั้งหมด 5 อำเภอในราชบุรี เนื่องจากเห็นว่าการค่าเวนคืนที่ดินนั้นไม่คุ้ม และไม่สามารถที่จะนำไปลงทุนซื้อที่ดินทำกิน รวมทั้งไปสร้างที่ใหม่ได้ รวมทั้งบริเวณที่ถนนตัดผ่านก็มีโบราณสถานหลายแห่งที่จะต้องได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนจากรถที่วิ่งด้วยความเร็ว 120 กม.ต่อชั่วโมง เตรียมยื่นหนังสือถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้ระงับโครงการ
วันนี้ (5 มิ.ย.) นายณรงค์ศักดิ์ เฉลิมเกียรติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้ไปเป็นประธานเปิดการประชุมรูปแบบโครงการและทางแยกต่างระดับ (ครั้งที่ 2) หรือถนนมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่โรงแรมเวสเทิร์นแกรด์ เขตเทศบาลเมืองราชบุรี ที่จัดขึ้นโดยกรมทางหลวงและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา มีประชาชนใน จ.ราชบุรี กว่า 300 คน เข้าร่วมรับฟังการประชุม
โดยนายสมบูณรณ์ เทียนธรรมชาติ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ กรมทางหลวง ได้กล่าวถึงโครงการถนนมอเตอร์เวย์สายนี้ว่า เป็นถนนทางหลวงพิเศษสายนครปฐม-อ.ชะอำ เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ที่ต่อเนื่องมาจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ จ.นครปฐม และเชื่อมต่อยังไป อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยผ่าน จ.ราชบุรี เป็นทางหลวงพิเศษแนวใหม่ที่ได้มาตรฐานสากล และมีความทันสมัยรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ภาคตะวันตก และภาคใต้
โดยแบ่งเป็น 2 ตอนๆ ที่ 1 เริ่มจาก กม.ที่ 9 บ้านโคกพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และมาสิ้นสุดที่ กม.ที่ 73 บริเวณทางหลวงหมายเลข 35 ถนนธนบุรี-ปากท่อ รวมระยะทาง 63 กม. และตอนที่ 2 เริ่มที่ กม.73 บริเวณทางหลวงหมายเลข 35 ถนนธนบุรี-ปากท่อ และสิ้นสุดที่ กม.119 บริเวณบ้านท่าต้นโพธิ์ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ระยะทางรวม 46 กม.
ในส่วนของ จ.ราชบุรี นั้น ถนนมอเตอร์เวย์จะผ่านทั้งหมด 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางแพ อำเภอเมือง อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอวัดเพลง และอำเภอปากท่อ 19 ตำบล และ 60 หมู่บ้าน โดยถนนจะมีความกว้าง 80 เมตร และในส่วนของจุดพักรถจะมีความกว้าง 120 เมตร ซึ่งจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่เดินทาง และมีการจัดเก็บค่าผ่านทาง
ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน ทางกรมทางหลวงก็จะดำเนินการเรื่องค่าตอบแทนตามราคาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งการประชุมสัมมนาดังกล่าวได้มีประชาชนชาว จ.ราชบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทางหลวงพิเศษได้นำป้ายต่อต้าน และไม่เอาถนนมอเตอร์เวย์ขึ้นมาชู และลุกขึ้นประท้วงต่อต้านให้ล้มเลิกโครงการดังกล่าว
โดยชาวบ้านอ้างว่า ถนนมอเตอร์เวย์นั้นชาว จ.ราชบุรี ไม่ได้ใช้เนื่องจากเป็นถนนสายยาวที่มีรั้วกั้นมิดชิดผู้ที่จะใช้ถนนเส้นนี้ส่วนใหญ่จะต้องมาจากกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการแบ่งแยกพื้นที่ที่เคยทำกินมาก่อนเพราะถนนมาผ่ากลาง
บางคนพื้นที่ที่เคยทำมากินก็ถูกถนนตัดผ่านหมด ซึ่งการค่าเวนคืนที่ได้นั้นไม่คุ้ม และไม่สามารถที่จะนำไปลงทุนซื้อที่ดินทำกิน รวมทั้งไปสร้างที่ใหม่ได้ และบริเวณที่ถนนตัดผ่านก็มีโบราณสถานหลายแห่งที่จะต้องได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนจากรถที่วิ่งด้วยความเร็ว 120 กม.ต่อชั่วโมง
รวมทั้งเสียงที่เกิดจากรถที่วิ่ง ซึ่งวิถีชีวิตแบบเดิมก็จะหายไป ทำให้ชาวบ้านนั้นไม่ยินยอมให้มีการก่อสร้าง และได้มีขอฉันทมติให้ห้องประชุมไม่ให้มีการก่อสร้าง
จากนั้นชาวบ้านที่ไปร่วมประชุมได้เดินออกจากห้องประชุมทั้งหมด และจะร่วมกันไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้ระงับโครงการดังกล่าวด้วย