ใช้บัตร Easy Pass ใบเดียววิ่งเชื่อมทางด่วนกับมอเตอร์เวย์ไม่คืบติดปมข้อกฎหมายของ ทล. กรณีไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) “อัยยณัฐ” เผยล่าสุดทาง ทล.หารือกรมสรรพกรขอความชัดเจนและต้องรอนโยบายรัฐบาลใหม่ด้วย ชี้สภาพการเมืองปัจจุบันคาดรออีกนาน
นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดเก็บค่าผ่านทางระบบทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี) ของกรมทางหลวง (ทล.) ด้วยบัตรจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (Easy Pass) ใบเดียวกันว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจารายละเอียดในด้านการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องหาสรุปความชัดเจนข้อกฎหมายก่อนกรณีที่ กทพ.ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ส่วนกรมทางหลวงจะนำรายได้จากค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์ส่งเข้ากองทุนฯ ซึ่งไม่ต้องเสีย VAT โดยล่าสุดกรมทางหลวงได้ทำหนังสือสอบถามไปที่กรมสรรพกรเพื่อขอความชัดเจนในการดำเนินงานจากที่ก่อนหน้านี้ได้หารือไปที่กฤษฎีกาซึ่งทราบว่ายังไม่ได้ข้อสรุป
ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐ ทั้ง กทพ. และกรมทางหลวงมีหน้าที่ในการเร่งรัดเพื่อดำเนินการโครงการใช้บัตร Easy Pass เพียงใบดียวใช้ได้ทั้ง 2 โครงข่ายเร็วเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งยอมรับว่านอกจากในแง่เทคนิคข้อกฎหมายที่ต้องหาข้อสรุปในการนำมาปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อความรอบคอบนั้น แนวทางของฝ่ายการเมืองก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องมีความชัดเจน ซึ่งยอมรับว่าอาจจะต้องรอรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาตัดสินใจ จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเปิดให้บริการได้เมื่อใด โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นแบบนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอะไรได้หรือไม่เพราะต้องรอดูนโยบายใหม่ด้วย
สำหรับการใช้บัตร Easy Pass ใบเดียวจ่ายค่าผ่านทางด่วนและมอเตอร์เวย์นั้น มีปัญหาประเด็นที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยหักทันทีเมื่อมีการซื้อบัตร Easy Pass ส่วนกรมทางหลวงรายได้จากมอเตอร์เวย์จะเข้ากองทุน ซึ่งไม่ต้องเสีย VAT
ดังนั้นหากใช้บัตรกับมอเตอร์เวย์แต่ VAT ถูกหักไปแล้วจะคืนผู้ใช้ทางอย่างไร เป็นต้น ซึ่งในทางปฏิบัติศูนย์กลางบริหารรายได้กลาง หรือ Clearing House สามารถจัดการได้ เพียงแต่ในข้อกฎหมายจะต้องมีความชัดเจนก่อน โดยตั้งเป้าว่าจะใช้ร่วมกันปลายปี 2557
นายอัยยณัฐกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอบตะวันตกกรุงเทพมหานคร ซึ่งบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL เป็นผู้รับสัมปทานว่า ล่าสุด กทพ.ได้จ่ายเงินชดเชยค่าใช้ที่ดินให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 1,500 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว โดยการก่อสร้างยังคืบหน้าตามแผนงาน มีความล่าช้าไม่ถึง 1% จึงยืนยันว่าสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนในปี 2559
สำหรับข้อพิพาทกับ BECL นั้นยังมีการเจรจาระหว่างกันเป็นระยะแต่ยอมรับว่าส่วนใหญ่ไม่สามารถตกลงกันได้จึงต้องรอคำสั่งศาลเป็นหลัก ส่วนการพิจารณาขยายสัมปทานให้ BECL เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากปัญหาการปรับค่าผ่านทางนั้น ขณะนี้คงต้องชะลอไว้ก่อน