กรมทางหลวงขอ 1-2 สัปดาห์ประเมินผลเปลี่ยนเก็บเงินมอเตอร์เวย์(กรุงเทพฯ-ชลบุรี) จากระบบเปิดเป็นระบบปิด เผยรถติดยาว 2 กม.รอจ่ายเงินด่านลาดกระบังไม่ผิดปกติ ชี้ระบบเปิดแบบเก่าก็ติดพอกัน พร้อมเร่งหารือกฤษฎีกายุติประเด็น VAT กรณีใช้บัตรผ่านทางร่วมกับ Easy Pass ของ กทพ. ตั้งเป้าปลายปี 57 ได้ใช้
นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากที่กรมทางหลวงได้ทดลองปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี) จากระบบเปิดเป็นระบบปิด โดยผู้ใช้ทางต้องรับบัตรที่ด่านทางเข้า แล้วไปจ่ายค่าธรรมเนียมที่ด่านทางออก ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2557 นั้น พบว่ามีปัญหารถติดที่ด่านที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อออกจากระบบ โดยเฉพาะด่านลาดกระบังในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ รถติดเพื่อรอเข้าคิวจ่ายเงินเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ซึ่งจากสถิติไม่แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ใช้ระบบเปิดเนื่องจากมีปริมาณรถค่อนข้างมาก ดังนั้น ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้กรมฯ และบริษัทที่ปรึกษาจะร่วมกันประเมินการทดลองระบบปิดและสรุปผลว่าจะเดินหน้าทดลองต่อไป หรือกลับไปใช้ระบบเปิดเหมือนเดิมไปก่อนจนกว่าจะสามารถปรับปรุงด้านกายภาพซึ่งจะมีการเพิ่มช่องเก็บเงินขาออกที่ด่านลาดกระบังอีก 3 ตู้ จากเดิมที่มีแล้ว 11 ตู้ แล้วเสร็จรวมถึงรอให้มีประกาศกฎกระทรวงเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามระยะทางก่อนค่อยกลับมาใช้ระบบปิดอีกครั้ง
“ต้องยอมรับว่าช่วงเริ่มต้นอาจมีปัญหาบ้าง ประกอบกับระบบของกรมฯ ยังไม่สมบูรณ์มากนัก โดยมีปัญหาจุดเดียวคือ ด่านลาดกระบังที่มาจากชลบุรี และจะจ่ายเงิน ติดยาวมาก ซึ่งตอนใช้ระบบเปิดก็ติดเหมือนกัน ภาวะใกล้เคียงกัน ดังนั้นเห็นว่าควรทดลองระบบปิดต่อไป เพื่อให้ผู้ใช้ทางเคยชินและเจ้าหน้าที่มีความคล่องตัวในการทำงานจะต้องเร่งแก้ปัญหา เช่น เพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อให้กระบวนการหน้าด่านเร็วขึ้น” นายชัชวาลย์กล่าว
ส่วนการใช้บัตรจ่ายค่าผ่านทางร่วมกับบัตร Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) นั้น หลักการจะทำให้การผ่านด่านรวดเร็วขึ้นแน่นอน ซึ่งตั้งเป้าจะใช้ร่วมกันปลายปี2557 โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือกฤษฎีกาในข้อกฎหมายกรณีที่ กทพ.ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยหักทันทีเมื่อมีการซื้อบัตร Easy Pass ส่วนกรมทางหลวงรายได้จากมอเตอร์เวย์จะเข้ากองทุน ซึ่งไม่ต้องเสีย VAT
ดังนั้น หากใช้บัตรกับมอเตอร์เวย์แต่ VAT ถูกหักไปแล้วจะคืนผู้ใช้ทางอย่างไร เป็นต้น ซึ่งในทางปฏิบัติศูนย์กลางบริหารรายได้กลาง หรือ Clearing House สามารถจัดการได้ แต่ประเด็นในข้อกฎหมายจะต้องมีความชัดเจนก่อน
โดยในทางปฏิบัติที่เป็นธรรมกรณีค่า VAT ของ กทพ.นั้นทำได้หลายวิธี เช่น หารือกับกรมสรรพากรให้หัก VAT ต่อเมื่อนำบัตรใช้บนทางด่วนของ กทพ.แทนการหักล่วงหน้าตั้งแต่ซื้อบัตร และให้ กทพ.ขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อรองรับในประเด็นนี้ หรือกรณีให้ธนาคารกรุงไทยเป็น Clearing House ของการใช้บัตรผ่านทางร่วมระหว่าง กทพ. กับกรมทางหลวงก็ไม่มีปัญหาเพราะกรุงไทยมีใบอนุญาตอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติเหลือเพียงหารือเรื่องระเบียบให้ถูกต้องตรงกันเท่านั้น