xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อวสาน...”แท็บเล็ต” ประชานิยมจอมปลอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นโยบายประชานิยมโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียนส่อแววรุ่งริ่งมานับแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ โดยพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) รองหัวหน้า คสช.ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ได้สั่งการให้ชะลอและยุติกระบวนการดำเนินการทุกอย่างในโครงการแท็บเล็ต ทั้งที่ค้างเติ่งของปีงบประมาณ 2556 ในโซนที่ 4 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) วงเงิน 1,170 ล้านบาท รวมถึงโครงการแท็บเล็ตของปีงบประมาณ 2557 ที่ได้เตรียมงบประมาณไว้แล้วกว่า 5,800 ล้านบาทด้วย

ขณะเดียวกัน หัวหน้าฝ่ายสังคมฯ ได้ให้ 10 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สำนักการศึกษา เมืองพัทยา กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สถาบันการพลศึกษา และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ไปสรุปข้อดี ข้อเสียของโครงการ และรวบรวมผลงานวิจัยต่าง ๆ มาเป็นข้อมูลเสนอ และให้โจทย์แก่ 10 หน่วยงานไปคิดมาโครงการใหม่มาเสนอว่าจะทำอะไรหากไม่แจกแท็บเล็ตจะนำเงินไปทำอะไรที่จะเกิดประโยชน์ในเรื่องของคุณภาพการศึกษา

ย้อนรอยมหากาพย์โครงการแท็บเล็ต...เป็นแนวคิดตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เริ่มขายฝันจนมาก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างได้เมื่อส่งน้องสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาลงเล่นการเมืองและชูการแจกแท็บเล็ตเป็นนโยบายขายฝันของพรรคเพื่อไทย (พท.) และคงไม่ผิดหากจะบอกว่านโยบายนี้เป็น 1 ในโครงกาประชานิยม เช่นเดียวกับโครงการจำนำข้าว ที่ทำให้พรรคเพื่อไทย ได้รับเสียงเลือกตั้งถล่มทลายก่อตัวเป็นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์

แต่ต้องยอมรับความจริงว่า โครงการแจกแท็บเล็ตส่อแววได้ประโยชน์ไม่คุ้มเงินมหาศาลที่ต้องเสีย ตั้งแต่เริ่มแจกรุ่นแรกให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษา ปีที่ 1 ในปี 2555 ใช้งบประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท ให้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เป็นผู้จัดซื้อก็มีปัญหาตั้งแต่จัดซื้อล่าช้าและมีเสียงคัดค้านการดำเนินการ เพราะมองว่าส่งผลกระทบต่อเด็กโดยเฉพาะปัญหาทางสุขภาพ แม้ว่าในสมัยนั้นจะมีความพยายามให้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่วิจัยผลดีผลเสีย เพื่อการันตีคุณภาพและเพื่อความสบายใจของผู้คัดค้าน

แต่ความจริงก็ย่อมเป็นความจริง เพราะปรากฏว่าแท็บเล็ตที่สั่งซื้อไปไม่มีประสิทธิภาพ แบตเตอร์รี่ไม่เก็บไฟ ศูนย์ซ่อมน้อย ความพร้อมของโครงสร้าง เช่น โครงข่ายอินเตอร์เน็ต และในพื้นที่ห่างไกลไม่มีไฟฟ้า ทำให้แท็บเล็ตที่แจกไปมีค่าไม่ต่างกับกระดานชนวน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ออกมาตบหน้ารัฐบาลในเวลานั้น

ต่อมาในปีที่ 2 ปีงบประมาณ 2556 ได้เพิ่มแจกให้นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพิ่มเติมอีกระดับใช้งบประมาณสูง 3,000 กว่าล้านบาท แต่จนป่านนี้เด็กเลื่อนชั้น ป.2 และ ม.2 ของปีการศึกษา 2557 ก็ยังไม่ได้ใช้แท็บเล็ต และมีการเปลี่ยนรูปแบบจัดซื้อโดยให้ สพฐ.เป็นเจ้าภาพรับมอบอำนาจแทนอีก 9 หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอี-ออกชันใน 4 โซน แต่ถึงเวลานี้ดำเนินการสำเร็จไปอย่างหืดขึ้นคอเพียง 3 โซน

กล่าวคือ โซนที่ 1 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ภาคกลางและภาคใต้) และ โซน 2 ของนักเรียนชั้น ป.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือ) ที่แม้ต้องยกเลิกสัญญากับบริษัท เสิ้นเจิ้น อิงถัง อินเทลลิเจนท์ คอนโทรล จำกัดไปก่อนหน้าเพราะบริษัทไม่สามารถจัดส่งเครื่องได้ตามสัญญา แต่ก็เพิ่งทำการอี-ออกชันใหม่ โซน 1 บริษัท ไฮเออร์อิเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ จำกัด ชนะประมูล ส่วนโซนที่ 2 บริษัท ไทยทรานสมิชชั่นอินดัสตรี ชนะประมูล

ด้านโซนที่ 3 ของนักเรียนม.1 และครู (ภาคกลางและภาคใต้) มีปัญหาร้องเรียนว่าส่อฮั้วประมูลจนบริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จํากัด ต้องมีการยื่นอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจนสามารถกลับมาดำเนินการต่อได้

โดยขณะนี้ทั้ง 3 โซน อยู่ระหว่างการทยอยส่งเครื่องให้ถึงมือนักเรียน

สุดท้ายคือโซนที่ 4 ระดับม.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สพฐ.ต้องยกเลิกสัญญาเพราะบริษัทที่ชนะการประมูลไม่สามารถจัดส่งแท็บเล็ตได้ตามเวลาที่กำหนด ต้องถอยหลังไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

สุดท้าย...ไม่ว่าโซน 4 ที่คาราคาซัง หรือกระทั่งความหวังที่จะจัดซื้อในปีงบประมาณ 2557 ที่มีการตั้งงบประมาณไว้รอสูงถึง 5,800 ล้านบาทและจัดทำร่างขอบเขตงาน หรือ ทีโออาร์ไว้เรียบร้อยแล้วก็เป็นอันพับแฟ้มโครงการปิดตาย เป็นไปตามกระแสข่าวออกมาก่อนหน้าว่า คสช.ให้ยุติโครงการแท็บเล็ตถาวรและจะให้ ศธ.ทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณปี 2556-2557 รวมกว่า 6,970 ล้านบาท เพื่อทำโครงการอื่นที่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและการศึกษา

ทุกอย่างกระจ่างชัดทันทีที่นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ.ในฐานะปฏิบัติหน้าที่รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลัง หัวหน้าฝ่ายสังคมฯ ได้เชิญ ศธ. และ 10 หน่วยงานที่เข้าไปหารือการดำเนินการแท็บเล็ตโดยพิจารณาจากข้อมูลตั้งแต่เริ่มโครงการปีงบประมาณ 2555 จนถึงปัจจุบันและข้อคิดเห็นที่หน่วยงานเสนอและมีมติยุติโครงการแท็บเล็ตทั้งหมด และนำงบประมาณไปทำโครงการที่เกิดประโยชนต่อผู้เรียนเป็นหลัก อาทิ โครงการห้องเรียนอัจฉริยะ หรือ ห้องเรียนสมาร์ทคลาสรูม อี-เลิร์นนิ่ง ซึ่งทำให้ ให้นักเรียนหมุนเวียนมาใช้ จะเกิดประโยชน์ในวงกว้างมากกว่า

ขณะเดียวกัน มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ด้วยว่านักเรียนทุกคนไม่จำเป็นต้องได้รับแจกแท็บเล็ตเป็นของตนเอง เพราะใช้แท็บเล็ตเรียนเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น จึงถือว่าไม่คุ้มค่า และไม่เหมาะสมที่จะจัดซื้อให้แก่นักเรียนทุกคน ขณะเดียวกันยังเห็นว่าแท็บเล็ตไม่เหมาะที่จะนำมาใช้สอนนักเรียนตลอดเวลา ควรใช้ในการเรียนการสอนบางชั่วโมงเท่านั้น ในคุณภาพของเครื่องเนื่องจากมีราคาถูก เพราะราคาต่อเครื่องต่ำกว่า 3,000 บาท จึงทำให้แท็บเล็ตมีคุณภาพต่ำ อายุใช้งานสั้นเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น และไม่คุ้มค่าเมื่อต้องมีการซ่อมแซม

ปัญหาที่ถูกหยิบขึ้นมาวิพากษ์ สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เงินมหาศาลที่ทุ่มลงไปกับแท็บเล็ต กับผลที่ไปสู่ตัวเด็กดูท่าจะได้ประโยชน์ไม่คุ้มกับเงินเท่าไรนัก เพราะแม้แต่ผลติดตามโครงการแท็บเล็ต ปี 2555 ของนักเรียน ป.1 ของผู้ตรวจราชการ ศธ.ก็สะท้อนปัญหาได้ชัด โดย นายวัชรินทร์ จำปี ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาประจำเขตตรวจราชการ 17-18 ในพื้นที่จังหวัดเหนือ เปิดเผยว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะระดับโรงเรียนประถมศึกษา และโรงเรียนขนาดเล็ก ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีความพร้อมรองรับเพียงพอ จะมีปัญหาในการใช้แท็บเล็ตค่อนข้างมาก เพราะเด็กเล็กยังไม่มีความสามารถในการเก็บรักษาดูแลเครื่อง ขณะที่ยังมีปัญหาขาดแคลนครู โดยเฉพาะขาดครูที่มีความรู้ทางไอซีทีมาสอนเด็กรวมถึงมาทำหน้าที่ดูแลรักษาเครื่อง ปัญหาแบตเตอรี่ ที่ไม่สามารถเก็บไฟได้นาน โรงเรียนไม่มีความพร้อมรองรับไม่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้ไม่สามารถใช้งานแท็บเล็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ช่วงเวลาจากนี้ สพฐ. ต้องมาทำการบ้านอย่างหนักเพื่อเตรียมเสนอโครงการใหม่ทดแทนและต้องนำบทเรียนในการวางแผน ซึ่ง นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการ กพฐ. บอกว่า ในอนาคตการพัฒนาไอซีทีเพื่อการศึกษาไม่ใช้ให้ความสำคัญแต่ฮาร์ดแวร์เท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องของเนื้อหา และการเชื่อมโยงกับเครือข่ายความรู้บนอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ เพื่อให้การใช้ไอซีทีเพื่อการศึกษาทำได้เต็มประสิทธิภาพ และเตรียมครูให้พร้อมสำหรับใช้ไอซีทีในการเรียนการสอน ซึ่ง 10 หน่วยงานที่มีงบฯ จัดซื้อแท็บเล็ต มีความเห็นตรงกันว่าโครงการใหม่ควรเป็นลักษณะของห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกระดับชั้นได้ใช้แท็บเล็ตร่วมกัน โดยจะเสนอให้หัวหน้าฝ่ายสังคมฯ พิจารณา 4 รูปแบบ ได้แก่ สมาร์ทคลาสรูม สมาร์ทสคูล อี-เลิร์นนิ่ง และสมาร์ทไลบรารี่ โดยวันที่ 23 มิถุนายนนี้ สพฐ.จะหารือ ร่วมกับ 10 หน่วยงานที่มีงบประมาณจัดซื้อแท็บเล็ต กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอซีที มาให้คำแนะนำว่าควรเป็นห้องเรียนลักษณะใด แต่แนวโน้มคาดว่าฝ่ายสังคมฯ จะให้ความสนใจและอาจตัดสินใจเลือกจัดทำสมาร์ทคลาสรูม

นายกมล ระบุด้วยว่า เบื้องต้น สพฐ.ได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการจัดทำสมาร์ทคลาสรูมแบบมาตรฐานทั่วไป 1 ห้องต่อ 1 โรงเรียน โดยใช้งบประมาณปี 2557 จำนวนกว่า 5,800 ล้านบาทจะสามารถทำสมาร์ทคลาสรูมได้ 15,000 ห้อง แต่หากรวมงบของปี 2556 จำนวน 1,170 ล้านบาทมาด้วยจะสร้างเพิ่มได้อีก 4,000 ห้องรวมเป็น 19,000 ห้อง โดยราคาต่อห้องเริ่มที่ห้องขนาด 20 เครื่อง ประมาณ 2.5 แสนบาท ขนาด 30 เครื่อง ประมาณ 3.5 แสนบาท ขนาด 40 เครื่อง ประมาณ 4.5 แสนบาท และขนาด 50 เครื่อง ประมาณ 5.4 แสนบาท อย่างไรก็ตาม ที่สุดต้องรอ คสช.ชุดใหญ่ชี้ขาดอีกครั้ง และ สพฐ.จะเสนอ คสช.และสำนักงบประมาณเพื่อขอกันงบประมาณเหลื่อมปี 2556 และขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณ 2557 เพื่อดำเนินการรวมไปถึงขออนุมัติเปลี่ยนชื่อโครงการ โดยอาจจะใช้ชื่อ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา หรือ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา เป็นต้น

คำสั่ง คสช.ยุติโครงการแท็บเล็ตในคราวนี้คงถูกใจใครหลายคนที่ไม่เห็นดีด้วยมาแต่ต้น เพราะมองว่าเม็ดเงินมหาศาลที่ทุ่มไปได้ไม่สมประโยชน์ เห็นได้จากข้อมูลผลวิจัยต่าง ๆ ที่ปรากฏมาตอกย้ำ และแม้ว่าการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจะเป็นเรื่องที่ควรพัฒนาในยุคนี้ แต่ก็คงไม่ใช่แค่เรื่องการให้เด็กต้องมีแท็บเล็ตประจำตัว แต่ต้องพลิกแพลงทำโครงการพัฒนาโครงการอื่น ๆ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อเด็กในวงกว้างได้ ดังนั้น จากนี้คงต้องฝากความหวัง คสช.ที่จะเลือกสรรโครงการเพื่อเด็กและการศึกษาชาติได้อย่างแท้จริง



กำลังโหลดความคิดเห็น