xs
xsm
sm
md
lg

ไอแอลโอแนะไทยทำฐานข้อมูลแรงงานเด็ก ชี้ช่วยแก้ปัญหาง่ายขึ้น เล็งดันเด็กต่างด้าวเข้า ร.ร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไอแอลโอแนะไทยทำฐานข้อมูลการใช้แรงงานเด็กระดับชาติ วางระบบติดตามเฝ้าระวัง-ช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ ชี้ช่วยแก้ปัญหาง่ายขึ้น ด้านนักวิชาการเผยผลวิจัยเด็กต่างด้าวมีปัญหาเข้า ร.ร.ทั้งขาดเอกสาร พ่อแม่ไม่สนับสนุน กลัวตำรวจจับ ตั้งเป้าดันเข้า ร.ร.ให้ได้ 5 พันคนในปีนี้

วันนี้ (3 เม.ย.) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานสัมมนาระดับชาติเรื่อง “การคุ้มครองแรงงานเด็กและแรงงานเด็กต่างชาติในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งและอาหารทะเลโครงการแก้ปัญหาแรงงานเด็กในกิจการแปรรูปสินค้ากุ้งและอาหารทะเลในประเทศไทย” จัดโดยสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันในประเทศไทย มีเด็กเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ แม้กฎหมายการศึกษากำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับถึง 9 ปี แต่ยังมีแรงงานเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาลักลอบทำงาน โดยเฉพาะเด็กข้ามชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสหรัฐอเมริกายังมีข้อสงสัยเรื่องการปราบปรามจับกุม และการดำเนินคดีที่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กของไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการพยามแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมกุ้ง จนอเมริกาจัดอันดับให้ไทยเป็น 1ใน10ประเทศที่มีความคืบหน้าและพยายามแก้ปัญหา
 
“ภาครัฐมีเครื่องมือคือนโยบาย กฎหมายและมีเจ้าหน้าที่ แต่ยังมีจุดอ่อนในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างประเทศต้องร่วมมือกัน และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ เชื่อว่าสินค้าจากอุตสาหกรรมอ้อย สิ่งทอ และอุตสาหกรรมกุ้ง จะสามารถปลดล็อคการขึ้นบัญชีดำการห้ามนำเข้าสินค้าเหล่านี้ของสหรัฐอเมริกาได้ จาก 5 ประเภทสินค้า คือ อ้อย สิ่งทอ กุ้ง ปลาและสื่อลามก ซึ่งการสัมมนาวันนี้จะนำข้อเสนอแนะไปจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปี 2558-2563 ” นายจีรศักดิ์ กล่าว
 
  ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) พบว่า ในปี 2554 มีการจ้างแรงงานเด็กจำนวน 19,074 คน ในปี 2555 จำนวน 14,972 คน และจากฐานข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พบว่าในปี 2554 มีแรงงานเด็กเข้าสู่ระบบ 50,239 คน และในปี 2555 จำนวน 20,465 คน ขณะที่ข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในปี 2554 ภาคเอกชนมีการจ้างลูกจ้างที่เป็นเด็ก 227,013 คน และในปี 2555 จำนวน 189,633 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแรงงานเด็กที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี เข้าสู่ตลาดแรงงานลดลง
 
นายมอริซิโอ บุสสี รักษาการ ผอ.องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว กล่าวว่า หลังจากไทยรับรองอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่182 ว่าด้วยการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เมื่อปี 2544 ขณะนี้การแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กดีขึ้นมาก โดยเฉพาะการใช้แรงงานเด็กในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล ซึ่งไอแอลโอได้ร่วมกับรัฐบาลไทยและภาคเอกชนแก้ปัญหามากว่า 2 ปี ทั้งนี้ หากไทยจะแก้ปัญหาให้ดีขึ้น ยังมีประเด็นสำคัญที่จะต้องดำเนิน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ควรมีการเก็บสถิติและฐานข้อมูลการใช้แรงงานเด็กในระดับชาติ เพื่อนำใช้แก้ปัญหา 2.การบังคับใช้กฎหมายและลงโทษอย่างเข้มงวด 3.มีระบบติดตามเฝ้าระวังและช่วยเหลือแรงงานเด็กที่มีประสิทธิภาพ 4.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และ 5.มีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนและนโยบายการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก
 
น.ส.อภิชญา ง่วนบรรจง เจ้าหน้าที่ติดตามและประเมินผลโครงการแก้ปัญหาแรงงานเด็กในกิจการแปรรูปสินค้ากุ้งและอาหารทะเล ไอแอลโอ กล่าวถึงรายงานการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กในประเทศไทยว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อรวบรวมข้อมูลแรงงานเด็กจากกลุ่มพื้นที่อุตสาหกรรมเกี่ยวกับกุ้งและอาหารทะเล โดยล่าสุดจากการลงพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัดคือ สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและสงขลาในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคมปี 2555 จากการลงพื้นที่มีสถานประกอบการกุ้งและอาหารทะเลใน 4 จังหวัด พบว่า มีประมาณ 7,000 ครัวเรือน มีประชากรกว่า 40,000 ทั้งคนไทยและต่างด้าว ในจำนวนนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี กว่า 8,000 คน มีทั้งเด็กไทยและต่างด้าวที่ส่วนใหญ่เป็นพม่า และพบว่าเด็กอายุ 15-17 ปี บางส่วนทำงานแล้วในอุตสาหกรรมอาหารทะเล การเกษตรและบริการ และพบการใช้แรงงานเด็กที่ต่ำกว่า 15 ปี บ้างแต่ก็ถือเป็นส่วนน้อย

“อยากให้ไทยทำฐานข้อมูลเด็กต่างด้าวทั้งที่ทำงานและติดตามพ่อแม่เข้ามาในไทย เช่น จำนวนเด็ก อายุและงานที่ทำ การได้รับการคุ้มครอง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และใช้แรงงานเด็ก รวมทั้งเป็นดัชนีชี้วัดความคืบหน้าการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และใช้แรงงานเด็ก ซึ่งประเทศในอาเซียนร้อยละ 80-90 มีการทำฐานข้อมูลนี้แล้ว แต่ไทยต้องทำความเข้าใจกับสังคม เนื่องจากบางคนมองว่าการที่เด็กทำงานถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องนำไปหารือต่อไป” น.ส.อภิชญา กล่าว
 
น.ส.อภิชญา กล่าวอีกว่า ยังพบว่ามีเด็กต่างด้าวทั้งที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาและเกิดที่ไทยที่ไม่เข้าโรงเรียนเป็นจำนวนมากทั้งจากที่เด็กไม่มีเอกสาร กลัวถูกตำรวจจับ พ่อแม่ ไม่สนับสนุนให้เรียนเพราะเห็นว่า ไม่สามารถนำวุฒิไปเทียบโอนที่ประเทศต้นทางได้ และพ่อแม่ ตัวเด็กต่างด้าวบางครอบครัวมีความคิดว่าเข้ามาในไทยก็เพื่อหาเงิน เมื่อมีเงินมากพอจะกลับประเทศ อีกทั้งมีปัญหาว่าผู้ปกครองของเด็กไทยไม่อยากให้เรียนร่วมกับเด็กต่างด้าวเพราะวัฒนธรรมต่างกัน
 
“โครงการได้ร่วมกับภาคประชาสังคมเข้าไปช่วยเหลือให้เด็กที่ไม่มีเอกสารสามารถเข้าเรียนได้ รวมทั้งการขอสถานที่ เงินสนับสนุน จากสถานประกอบการ รวมทั้งจ้างครูผู้สอน ซึ่งปัจจุบันยังขาดแคลนครูอย่างมาก เพื่อจัดตั้งห้องเรียนภาษาไทย ซึ่งมีโรงเรียนบางแห่งในอ.เมือง จ.สมุทรสาครใช้ภาษาพม่าสอนเด็กโดยครูชาวพม่าซึ่งเด็กเรียนหนังสือได้ดีและเรียนรู้ทั้งภาษาพม่า ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ โครงการช่วยให้เด็กสามารถเข้าเรียนได้แล้วกว่า3,500 คนโดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าปีนี้จะนำเด็กต่างด้าวเข้าโรงเรียนให้ได้ประมาณ 5,000 คน” น.ส.อภิชญา กล่าว

นอกจากนั้นได้มีการเสวนา “บทบาทของภาครัฐในการคุ้มครองแรงงานเด็กและแรงงานต่างชาติ” โดยนายธีร์ ภวังคนันท์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กต่างด้าวไม่มีเอกสารรับรองสถานะในพื้นที่ชายแดน เช่น ตาก จันทบุรี จำนวน 65,739 คน และจังหวัดพื้นที่เมืองท่า เช่น สมุทรสาคร มีเด็กต่างด้าวกลุ่มนี้อยู่ที่หลักพันคน ซึ่ง สพฐ.ได้ช่วยเหลือให้เด็กกลุ่มนี้ได้เข้าเรียนโดยออกบัตรประจำตัวเลข 14 หลัก เพราะ สพฐ.มีระเบียบจัดการศึกษา รวมทั้งยึดหลักให้การคุ้มครองและการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส รวมทั้งเด็กต่างด้าวให้มากที่สุด แต่จะต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานในสังกัดและโรงเรียนให้มีความเข้าใจเรื่องระเบียบให้ตรงกัน ทั้งนี้ ล่าสุดพบว่ามีเด็กถูกบังคับขายแรงงาน 114 คน และบังคับขายบริการ 61 คน ซึ่ง สพฐ.ได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองฯขึ้นใน 225 เขตพื้นที่การศึกษาเพื่อดูแลคุ้มครองเด็ก
 
นางธีรดา สุธีรวุฒิ นักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในปี 2556 มีแรงงานต่างด้าวเข้าสุ่ระบบประกันสุขภาพของ สธ.จำนวน 405,453 คน และยังมีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้เข้ามากว่า 4-5 แสนคน ทำให้โรงพยาบาลสังกัดสธ.ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละกว่า 300 ล้านบาท ส่วนเด็กต่างด้าวเกิดใหม่ในประเทศไทยอยู่ที่ปีละกว่า 2-3 หมื่นคนโดยปี 2555 อยู่ที่ 33,319 คน ซึ่ง สธ.ได้ฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยักให้แก่เด็กเหล่านี้
 
นางสุวรีย์ ใจหาญ ผอ.สำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ล่าสุดนั้นพบว่ามีต่างด้าวถูกหลอกมาค้าบริการมากที่สุด คือ ลาว รองลงมาถูกหลอกมาบังคับใช้แรงงานมีจำนวน 700 คน โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 50 เป็นคนไทย อีกร้อยละ 50 เป็นแรงงานต่างด้าวโดยเป็นพม่ามากที่สุด รองลงมาเป็นกัมพูชาและลาว ซึ่ง พม.ได้มีศูนย์รับร้องเรียนและมีกองทุนช่วยเหลือต่างด้าวให้กลับประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น