xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.จี้คุรุสภาเปิดทางคนเก่งเฉพาะด้านรับตั๋วครู ท้วงจ่ายตั๋วอัตโนมัติหวั่นไม่เป็นธรรมกับ นศ.ครู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จี้คุรุสภาเปิดทางให้คนเก่งเฉพาะด้านมีโอกาสได้ใบตั๋วครู ชี้เงื่อนไขที่มีไม่จูงใจ แนะหาวิธีการ ขณะที่ผู้แทนคณะครุ/ศึกษา ท้วงข้อเสนอให้ตั๋วครูอัตโนมัติหวั่นสร้างความไม่เป็นธรรมกับ นศ.ครู พร้อมเผยครูอาชีวะ-ครู กศน.-ครูบนดอย กว่า 3 พันคนยังไร้ตั๋วครู
นางสุทธศรี วงษ์สมาน
นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือสำนักงานคุรุสภา คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ผู้แทนองค์กรหลักของ ศธ.ถึงข้อเสนอแนะการผลิตและพัฒนาครูที่เกี่ยวข้องกับคุรุสภา เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้พิจารณากันหลายประเด็น โดยเฉพาะการรับรองหลักสูตรตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งเป็นที่สงสัยมากว่าหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับรองแล้วเหตุใดยังต้องส่งมาให้คุรุสภารับรองอีก ถือเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ เรื่องนี้คุรุสภาชี้แจงว่าจำเป็นต้องทำเหมือนกับวิชาชีพอื่น เช่น แพทย์ พยาบาล ที่สภามหาวิทยาลัยรับรองหลักสูตรแล้วยังต้องส่งไปสภาวิชาชีพให้รับรองอีกครั้ง เพราะคุรุสภาถือเป็นสภาวิชาชีพเหมือนกัน ส่วนกรณีที่ประกาศคุรุสภาเรื่องการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2557 กำหนดให้ผู้เรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ปีการศึกษา 2557ต้องสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น คุรุสภาชี้แจงว่าเพื่อเป็นการยกระดับวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงและมีคุณค่า ทั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่สิ้นสุดสำหรับเรื่องนี้ยังมีเวลาอีก5ปีที่จะทำให้ชัดเจน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวางในประเด็นเส้นทางการเข้าสู่อาชีพครูของผู้เรียนสาขาอื่น เช่น การขาดแคลนครูในสาขาวิชาหลัก คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย การขาดแคลนครูที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ วิชาชีพเฉพาะทางด้านอาชีวศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ว่าหากต้องการได้คนเก่งมาเป็นครูต้องมีวิธีให้คนเหล่านี้ได้รับใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ เพื่อเอื้อให้คนเก่งเข้าสู่วิชาชีพ เนื่องจากเงื่อนไขของคุรุสภาไม่จูงใจให้คนเข้ามาเป็นครู แต่ผู้แทนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ให้เหตุผลว่าอาจไม่เป็นธรรมกับผู้เรียนครู ซึ่งเรื่องนี้ทางคุรุสภารับว่าจะไปหาทางออกและกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมอีกครั้ง

“จากการสำรวจพบว่ามีครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จำนวน 2,004 ราย และครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) และครูบนดอย ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จำนวน 1,200 ราย ซึ่งการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของคุรุสภานั้น บางครั้งต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมด้วย โดยเฉพาะกับครูบนดอย หรือครูสาขาขาดแคลนที่มีประสบการณ์สอนมาเกือบทั้งชีวิต อาจนำผลที่เป็นรูปธรรมมาเทียบโอนให้ได้ เพราะการจะให้เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) วิชาชีพครู แบบเดียวอาจไม่สะดวก เพราะห่างไกล สถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตร ป.บัณฑิต ดังนั้น คุรุสภาอาจสร้างวิธีที่ได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในหลายรูปแบบ” นางสุทธศรี กล่าวและว่า ทั้งนี้ศธ.จะสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุรุสภาในการประชุมองค์กรหลักวันที่ 17 มี.ค.นี้ก่อนเสนอให้คุรุสภาพิจารณาแก้ไขต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น