ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วันก่อน “นายสมเกียรติ บุญรอด” ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) ออกมาเปิดเผยว่า จำนวนผู้ที่เข้าสอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1 ปี 2557 ที่เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 17-24 มี.ค.2557 ใน 89 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) รวม 1,888 อัตรา ใน 40 กลุ่มสาขาวิชา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดรับสมัคร
ล่าสุดยอดผู้สมัครสอบครูผู้ช่วย ปรากฏว่ามียอดสมัครรวม 104,545 คน โดยเขตพื้นที่การศึกษาที่มียอดสมัครมาที่ได้ 10 อันดับแรก
ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 6 ฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ สมัคร 5,617 คน รับ 128 อัตรา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) บึงกาฬ สมัคร 4,728 คน รับ 11 อัตรา สพป.ตาก เขต 2 สมัคร 3,699 คน รับ 31 อัตรา สพป.นครราชสีมา เขต 6 สมัคร 3,633 คน รับ 8 อัตรา สพป.ปัตตานี เขต 2 สมัคร 3,653 คน รับ 15 อัตรา สพม.เขต 32 บุรีรัมย์ สมัคร 2,975 คน รับ 11 คน สพป.นราธิวาส เขต 1 สมัคร 2,934 คน รับ 32 อัตรา สพป.สระแก้ว เขต 2 สมัคร 2,821 คน รับ 10 อัตรา สพม.เขต 19 เลย หนองบัวลำภู สมัคร 2,341 คนรับ 17 คน และ สพม.เขต 7 ปราจีนบุรี นครนายกและสระแก้ว สมัคร 1,843 คน รับ 54 อัตรา
สำหรับสาขาวิชาที่มีคนสมัครสอบมากที่สุด ได้แก่ คอมพิวเตอร์ 13,253 คน รับ 54 อัตรา ปฐมวัย/อนุบาลศึกษา 12,127 คน รับ 119 อัตรา สังคมศึกษา 11,507 คน รับ 94 อัตรา ภาษาอังกฤษ 10,632 คน รับ 227 อัตรา วิทยาศาสตร์ 9,181 คน รับ 65 อัตรา คณิตศาสตร์ 8,999 คน รับ 407 อัตรา สุขศึกษา/พลศึกษา 8,562 คน รับ 77 อัตรา ภาษาไทย 6,760 คน รับ 307 อัตรา วิทยาศาสตร์ทั่วไป 4,096 คน รับ 39 อัตรา และประถมศึกษา 3,251 คน รับ 66 อัตรา ส่วนสาขาวิชาที่มีผู้สมัครค่อนข้างน้อย ได้แก่ กายภาพบำบัด สมัคร 1 คน รับ 17 อัตรา ภาษาญี่ปุ่น สมัคร 4 คน รับ 1 คน ดุริยางคศิลป์ สมัคร 3 คน รับ 2 อัตรา กิจกรรมบำบัด สมัคร 4 คน รับ 10 อัตรา
ส่วนปัญหาของ “บัณฑิตคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุรินทร์” ที่มรภ.สุรินทร์ไม่จัดส่งหลักสูตรปริญญาครุศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร 5 ปี) ที่ปรับปรุงใหม่มาให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับทราบและคุรุสภารับรอง ส่งผลให้บัณฑิตไม่สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อสมัครสอบครูผู้ช่วย
สรุปแล้ว “คณะกรรมการคุรุสภา” ใจดี มีมติให้เยียวยาบัณฑิตกลุ่มดังกล่าว โดยเปิดโอกาสให้เทียบโอน 9 มาตรฐานวิชาชีพเพื่อรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอนชั่วคราว นำไปใช้สมัครสอบครูผู้ช่วย
โดยเป็น บัณฑิต มรภ.สุรินทร์ ที่แจ้งขอใบอนุญาตฯ ชั่วคราว ประมาณ 300-400 คน จากจำนวนบัณฑิตที่จบหลักสูตรนี้ 700 คน
เรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ก็เลยล้อมคอก!! ด้วยการเร่งตรวจสอบข้อมูลการเปิดสอนหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต หรือศึกษาศาสตรบัณฑิต(ค.บ. 5 ปี) ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ว่ามีหลักสูตรใดบ้างที่ยังไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐาน สกอ. และมีหลักสูตรใดบ้างที่การรับรองหรือรับทราบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหมดอายุ หรือใกล้จะหมดอายุแล้วบ้าง
แถม ยังให้ไปดู เวปไซต์ http://www.mua.go.th/users/bhes/index.htm ของ ของ สกอ. ที่คนภายนอก หรือ นักเรียนนักศึกษา ส่วนน้อยจะรู้ว่ามีข้อมูลประเภทนี้ซ้อนอยู่ หวังแก้ปัญหา นิสิต นักศึกษา จะได้รับความเดือนร้อน ในปีต่อๆไป
กลับมาที่ สอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี2557 ที่หลายคน ทั้งผู้สอบ ผู้ปกครอง เกรงว่าจะมีการโกง ทุจริตมโหฬาร เหมือนปีที่ผ่านมาจากทำให้มีการยกเลิกการสอบบางพื้นที่นั้น
ตั้งแต่ต้นแล้ว มีการแจ้งไว้ว่า หลักเกณฑ์ปีนี้เปลี่ยนไปจากเดิม โดยได้เปิดโอกาสให้ผู้สมัครสอบได้หลายเขต พื้นที่ฯ แต่เข้าสอบได้เพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ จะต้องสอบผ่านภาค ก และภาค ข ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงมีสิทธิสอบภาค ค อีกทั้ง ผู้เข้าสอบต้องนั่งอยู่ในห้องสอบจนหมดเวลาทำข้อสอบด้วย
เรื่องนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งจับตาว่า "ขบวนการทุจริต" เจ้าเดิม กำลังเตรียมการทุจริตสอบครูผู้ช่วยในรอบใหม่นี้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคอีสาน
อาจซ้ำรอยเนื่องจากเริ่มมีกระแสข่าวว่ามีขบวนการเตรียมทุจริตการสอบในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ สพท. ต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการทุจริตรัดกุมยิ่งขึ้น อาทิ หากผู้สอบผมยาวต้องรวบหนังยางให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการซุกซ่อนอุปกรณ์สื่อสารหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการทุจริตสอบไว้ในบริเวณศีรษะและลำคอ การตรวจสอบลายนิ้วมือผู้สมัครสอบ เป็นต้น
ขณะที่ยังมีข้อเสนอ ไปยัง สพฐ. ให้ส่งเจ้าหน้าที่จับตาการสอบทั้งทางลับและทางแจ้งโดยเฉพาะเขตพื้นที่ฯ ที่มีข่าวทุจริตซ้ำๆ ซากๆ ตลอดจนอยากให้สังคมที่อยู่ในพื้นที่ช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องด้วย
แม้จะมีการป้องกันการทุจริตการสอบในพื้นที่สอบแล้ว
ยังมีการตั้งข้อสังเกตเรื่อง “การทุจริตเชิงนโยบาย” จากปัญหาที่เกิดขึ้นจากปีที่แล้ว จนทำให้ระดับบิ๊กในกระทรวงศึกษาธิการถูกเรียกสอบสวนจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน
ที่พูดถึง ทุจริตเชิงนโยบาย เพราะมีการเปิดเผยจากผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา แถมมีการเผยแพร่ในโลกโซเชียลเน็ทเวิร์ต พบว่า กลุ่มสาขาวิชาเอกต่างๆ ที่เขตพื้นที่การศึกษาเปิดสอบ จะเห็นสาขาวิชาเอกแปลกๆ อาทิ การเงินและบัญชี วัดผลและประเมินผลการศึกษา โสตทัศนศึกษา ธุรกิจ เป็นต้น ทั้งที่ในปัจจุบันโรงเรียนต่างๆ กำลังขาดแคลนครูใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ อาทิ กลุ่มวิทยาศาสตร์ กลุ่มคณิตศาสตร์ กลุ่มภาษาไทย กลุ่มภาษาต่างประเทศ และตามนโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก็ต้องการให้โรงเรียนเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผลคะแนนทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และอันดับโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ของนักเรียนไทย
ดังนั้น เขตพื้นที่การศึกษาควรเปิดสอบในสาขาที่เป็นกลุ่มสาระฯ หลักที่ขาดแคลนก่อน ไม่ใช่มาเปิดสาขาที่ไม่มีความจำเป็นเหล่านั้น ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เด็กไทยทำคะแนนโอเน็ตหรืออันดับ PISA เพิ่มขึ้นได้ จึงเห็นว่า เขตพื้นที่ฯ เปิดกลุ่มสาขาดังกล่าวไปเพื่ออะไร
มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลฯ กันว่าการที่เขตพื้นที่การศึกษาเปิดสอนสาขาวิชาแปลกๆ ดังกล่าว เพื่อไว้รองรับลูกหลานของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ลูกหลานของผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งที่เป็นพรรคพวกตัวเอง เพราะการเปิดสอนสาขาวิชาแปลกๆ เหล่านี้ ผู้สมัครสอบจะน้อย จึงมีคู่แข่งน้อย ช่วยให้ลูกหลานของพรรคพวกตัวเองมีโอกาสสอบติดหรือติดสำรองได้ง่าย ในขณะที่อัตราว่างที่มีตามเขตพื้นที่ฯต่างๆ มีมากกว่าจำนวนอัตราที่เขตพื้นที่ฯ เปิดสอบ ดังกล่าวโอกาสจะดึงไปบรรจุจึงมีสูงตามไปด้วย แม้ว่าจะติดแค่ในลำดับสำรองก็ตาม
มีการตั้งข้อสังเกตต่าง ๆนานา ว่า จะมีการทุจริตแน่ แต่ระวัง “ทุจริตเชิงนโยบาย”
กลับมาดูความคืบหน้าของ คดีทุจริตสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี 2556 กรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว12 ตามรายชื่อของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จำนวน 344 ราย ที่เข้าข่ายการทุจริตการสอบ
พบว่า ก.ค.ศ. ได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีศึกษาธิการ ให้ทบทวน ผู้สอบได้ 344 ราย ให้มีการแยกคุ้มครองผู้สุจริตและเอาผิดกับคนทุจริต เป็นรายๆ
โดยจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็นได้รับการบรรจุและแต่งตั้งแล้ว 262 ราย ยังไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง 51 ราย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายังไม่รายงานข้อมูล 8 เขตพื้นที่ฯ จำนวน 31 ราย หากแยกในจำนวนที่บรรจุแล้วได้ถูกสั่งให้ออกจากราชการ 188 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 62 ราย ขอลาออก 4 ราย และเขตพื้นที่ฯ ยังไม่ได้ดำเนินการตามมติ ก.ค.ศ.อีก 8 ราย โดยได้มีการร้องทุกข์ต่อ ก.ค.ศ.แล้ว 187 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้องทุกข์ตามกระบวนการและขั้นตอนตามกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาร้องทุกข์ พ.ศ.2551 ให้เสร็จสิ้น
มีการสอบสวนผู้สอบมาจนถึงปัจจุบัน เพราะบางรายก็บรรจุไปแล้ว!
ส่วนผู้บริหารที่ถูกกล่าวหา มีการสอบสวนวินัย “นายชิภัทร ภูมิรัตน” อดีตเลขาธิการ กพฐ.ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหาย แก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82(2) ประกอบมาตรา 85(7) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จากกรณีปัญหาทุจริตการสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ (คดีที่หนึ่ง)
ล่าสุด!! ยังไม่สามารถสรุปคดีและกำหนดบทลงโทษได้แม้ว่าจะสอบสวนเสร็จแล้ว เพราะคณะกรรมการสอบสวนฯได้หารือและลงมติกันว่า ต้องนำผลการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายชินภัทร ที่มีทั้งหมด 2 คดี
โดยคดีที่ 2 อยู่ระหว่างการสอบพยาน 4 ปาก ฐานกระทำผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ มารวมกันก่อนแล้วค่อยพิจารณาโทษร่วมกัน เนื่องจากเป็นความผิดที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งตามกฏหมาย แม้แต่กฏหมายอาญากำหนดไว้ว่าการลงโทษในความผิดลักษณะเดียวกันไม่สามารถลงโทษซ้ำได้ ให้พิจารณาลงโทษเพียงครั้งเดียว
สำหรับการดำเนินการของ “ดีเอสไอ” ที่เข้าสู่ คณะกรรมการคดีพิเศษ หรือ กคพ. เป็นคดีพิเศษ และยังมีการสอบสวนอยู่จนถึงปัจจุบัน