“จาตุรนต์” ตั้งเป้าก้าวกระโดดในการประเมิน PISA ปี 58 และ 61 ต้องเพิ่มทุกอันดับโดยมุ่งเน้นที่ระดับ ม.1-3 กับการสอบในปี 61 ภายใต้แนวทางปฏิบัติ 5 ข้อ พร้อมเตรียมทุ่มงบ 210 ล.เดินสู่เป้าหมาย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนเพื่อยกระดับผลการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ประจำปีการศึกษา 2557 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมพิจารณาร่างแผนที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องยกร่างมา มีเป้าหมายเพื่อให้คะแนนทดสอบ PISA ทั้ง 3 วิชาเพิ่มขึ้น ให้อันดับของประเทศไทยสูงขึ้น รวมถึงร้อยละของนักเรียนที่ได้คะแนนต่ำกว่าระดับ 2 จะต้องลดลง ร้อยละของนักเรียนที่ได้คะแนนระดับ 5 คือมีศักยภาพสูงจะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งได้มีการตั้งเป้าว่า อันดับและคะแนนทดสอบรายวิชาของไทยจะต้องเพิ่มขึ้น ดังนี้ ด้านการอ่านปัจจุบันไทยระหว่างอันดับที่ 45-51 จากประเทศที่ประเมินทั้งหมด 65 ประเทศ จะต้องขยับเป็นอันดับที่ 39 ในการประเมินปี 58 และเป็นอันดับที่ 25 ในการประเมินปี 61 วิชาคณิตศาสตร์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างอันดับ 49-52 จะต้องขยับเป็นอันดับที่ 40 ในปี 58 และอันดับที่ 35 ในปี 61 วิชาวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างที่ 44-49 ขยับเป็น 38 ในปี 58 และอันดับที่ 25 ในปี 61
“ถ้าจะถามว่าเป็นการตั้งเป้าหมายที่สูงเกินจริงหรือไม่นั้น ไม่ถือว่าตั้งเป้าสูงเกินไป เพราะจากข้อมูลที่ได้รับมา การประเมินปี 55 ประเทศเวียดนาม ได้อันดับ 8 ในการประเมินวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนประเทศกัมพูชา ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย กัมพูชาจะแซงเราในด้านการอ่านและภาษาอังกฤษ” รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า การสอบ PISA ครั้งที่ผ่านมา โรงเรียนขยายโอกาสมีคะแนนสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลจากที่ สพฐ.เน้นพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของ ร.ร.กลุ่มนี้ เพราะฉะนั้น หากทำอย่างเป็นระบบทุกฝ่ายเอาจริง ก็น่าจะทำได้ตามเป้าหมาย ถ้าปี 58 ทำได้ดี ปี 61 ก็จะยิ่งมีความเป็นไปได้ที่คะแนนจะสูงขึ้นอีก เพราะเด็กที่จะสอบปี 61 จะมีโอกาสเตรียมตัวนานกว่า
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า แผนปฏิบัติการที่ยกร่างเสร็จแล้วนั้น จะนำมาเริ่มดำเนินการในกลุ่มเป้าหมายชั้น ป.4-ป.6 และ ม1.-ม.3 เพราะเด็กกลุ่มนี้จะเป็น 2 รุ่นที่จะต้องสอบ โดย ม.1-ม.3 จะสอบในปี 58 และ ป.4-ป.6 จะสอบในปี 2561 แต่ว่าจะเน้นที่ ม.1-ม.3 ก่อน โดยมีแนวปฏิบัติแบ่งเป็น 5 ด้าน คือ 1.การแทรกกิจกรรมพัฒนาการอ่านและการวิเคราะห์ในทุกรายวิชา หรือรายวิชาที่เหมาะสมไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 2.ปรับข้อสอบ เพิ่มข้อสอบที่แสดงให้เห็นการใช้ศักยภาพในการคิดวิเคราะห์และแบบทดสอบตามแนว พิซ่ามากขึ้น 3.สร้างความตระหนักให้กับผู้บริหารสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และสังคม ให้มีความรู้ความเข้าใจ 4.ส่งเสริมสนุบสนุนโรงเรียนกลุ่มที่มีการสอบพิซ่าปี 2555 ต่ำ และ 5.สร้างความเข้มแข็งของการกำกับ ติดตาม และประเมินผลในการพัฒนาผู้เรียน
“จากที่ได้เสนอร่างแผนนี้แล้ว คณะกรรมการได้แสดงความเห็นกันไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ที่สำคัญเห็นว่าโครงการนี้ มีการจัดสรรงบไว้ประมาณ 210 ล้านบาท ควรกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่า การเลื่อนอันดับพิซ่าของประเทศเป็นตัวชี้วัด โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน และเรื่องที่ประชุมเห็นว่าใดที่ทำได้เร็ว เช่น การจัดหาข้อสอบ โดยจัดหามาจากสิ่งที่มีอยู่แล้วทั้งในและต่างประเทศก็ให้ไปทำมา เพื่อจะมีเวลาสำหรับการทำในเรื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า เช่น การอบรมครู นำข้อสอบมาวิเคราะห์ เพื่อให้ทราบว่าการที่เด็กจะทำข้อสอบนั้นๆ ได้ดี จะต้องมีการสอนอย่างไร จะต้องเปลี่ยนเนื้อหาหลักสูตรอย่างไร ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของพิซ่า และที่ประชุมยังให้แบ่งโครงการออกเป็นหลายด้าน โดยให้ไปทำปฏิทินการทำงานให้เป็นโรดแมป ว่าจากนี้ไปจะทำอะไร โดยงบที่จัดสรรในครั้งนี้จะให้โครงการแต่ละด้าน ขณะเดียวกันจะมอบไปยังเขตพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการได้ด้วย”