xs
xsm
sm
md
lg

โละแท็บเล็ต ผุดสมาร์ท คลาสรูมแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศธ.เตรียมเสนอ 4 รูปแบบทดแทนซื้อแท็บเล็ตแจก นร. “กมล” เตรียมเชิญ 10 หน่วยงานและผู้แทนจากเนคเทค ไอซีที และอาจารย์มหา’ลัยร่วมถก ก่อนเคาะหาตัวเลือกสุดท้าย คาดห้องเรียนอัจฉริยะ : สมาร์ทคลาสรูม เป็นไปได้สูง “กมล” แจงคำนวนเงินปีงบ 57 สามารถสร้างห้องสมาร์ทคลาสรูมได้ถึง 15,000 โรงๆ ละ 1 แห่ง แถมได้แท็บเล็ตราคาเฉลี่ย 8 - 9 พันบาท แต่คุ้มค่ากว่าแท็บเล็ตราคาถูก เตรียมเคาะอีกครั้ง 23 มิ.ย. นี้ พร้อมเตรียมเสนอ คสช. และสำนักงบฯขอกันงบเหลื่อมปี 56 และเปลี่ยนแปลงงบปี 57 และเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่

       นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ภายหลัง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ได้มีมติร่วมกับชุมร่วมกับผู้บริหาร ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าให้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณการจัดซื้อแท็บเล็ตในโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียนไปใช้พัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาในรูปแบบอื่น โดยคำนึงถึงงบประมาณที่มีอยู่และมุ่งเป้าให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียนอย่างแท้จริง โดยมอบ ศธ. ไปตั้งคณะทำงานและคิดโครงการหรือรูปแบบดำเนินการที่เหมาะสมมาเสนอฝ่ายสังคมจิตวิทยา ดังนั้น ศธ. ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นภาพในการดำเนินการ และตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว 1 ชุด มี นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานและเบื้องต้นได้คิดรูปแบบการดำเนินการทดแทนจัดซื้อแท็บเล็ตไว้ 4 รูปแบบ ได้แก่ สมาร์ทคลาสรูม สมาร์ทสคูล อี-เลิร์นนิง และสมาร์ทไลบรารี่

“ในที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าการนำไอซีทีมาใช้พัฒนาการเรียนการสอนทำได้หลายรูปแบบและยังต้องคำนึงถึงสถานภาพของสถานศึกษาทั่วประเทศ ที่มีความพร้อมทั้งด้านกายภาพและครูแตกต่างกัน จากสถิติพบว่า เกิน 50% ของครูไทยที่มีประมาณ 7 แสนคนอายุเกิน 50 ปี เป็นอุปสรรคหนึ่งต่อการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการเรียนการสอน เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้นที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าควรจะมีการพัฒนารูปแบบการใช้ไอซีทีเพื่อการเรียนการสอนที่มีความเหมาะสมและหลากหลาย มาแทนการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน” นางสุทธศรี กล่าว

ด้าน นายกมล กล่าวว่า คณะทำงานจะเชิญ 10 หน่วยงานที่มีงบประมาณจัดซื้อแท็บเล็ต พร้อมด้วยผู้แทนจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีมาประชุมร่วมกันในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ซึ่งมีแนวโน้มสูงจะจัดทำในรูปแบบห้องสมาร์ทคลาสรูม โดยได้ทดลองคำนวณว่าถ้าจะจัดทำห้องสมาร์ทคลาสรูมที่มีประสิทธิภาพระดับมาตรฐาน ใช้เครื่องแท็บเล็ตระดับราคา 8,000 - 9,000 บาท ซึ่งสามารถใช้งานได้ดีกว่าแท็บเล็ตราคาถูก ด้วยวงเงินงบประมาณโครงการแท็บเล็ตปี 57 ประมาณ 5,800 ล้านบาท จะสามารถจัดสร้างห้องสมาร์ทคลาสรูมให้โรงเรียนได้ 15,000 โรงๆ ละ 1 ห้อง โดยคิดเป็นงบประมาณที่ใช้ต่อห้อง ได้แก่ ห้องขนาด 20 เครื่อง ราคาห้องละประมาณ 2.5 แสนบาท ขนาด 30 เครื่อง ราคาห้องละประมาณ 3.5 แสนบาท ขนาด 40 เครื่อง ราคาห้องละประมาณ 4.5 แสนบาท และขนาด 50 เครื่อง ราคาห้องละประมาณ 5.4 แสนบาท อย่างไรก็ตาม แต่หากนำงบประมาณปี 2556 ของโซนที่ 4 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 1,170 ล้านบาทมาใช้ จะสามารถทำห้องเรียนเพิ่มได้อีก 4,000 โรง รวมเป็น 19,000 โรง

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้กำหนดโรงเรียนที่จะจัดทำห้องเรียนสมาร์ทคลาสรูม ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. โรงเรียนประจำจังหวัดและโรงเรียนขนาดใหญ่ 2. โรงเรียนประจำอำเภอ 3. โรงเรียนดีศรีตำบล และ 4. โรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งหากใช้รูปแบบนี้ดำเนินการ 1 - 2 ปีก็ทำได้ครบเพราะโรงเรียนทั่วประเทศมีประมาณ 30,000 กว่าโรง

“มติที่ให้ยกเลิกโครงการจัดซื้อแท็บเล็ตเป็นความเห็นของฝ่ายสังคมจิตวิทยา ซึ่งต้องนำเสนอ คสช. ชุดใหญ่ต่อไป ซึ่ง คสช. อาจมีการพิจารณาเพิ่มเติมหรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงมติได้ แต่สำหรับตอนนี้เหตุผลที่เห็นสมควรให้ยกเลิกโครงการจัดซื้อแท็บเล็ตเพราะเป็นภาระงบประมาณสูงมาก สำหรับการจัดซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียนให้ทุกคน แต่นักเรียนกลับใช้เครื่องแท็บเล็ตวันละ 1 - 2 ชั่วโมง ขณะที่เครื่องแท็บเล็ตที่จัดซื้อมามีคุณภาพต่ำ อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณจริง สพฐ. จะต้องทำเรื่องเปลี่ยนแปลงชื่อโครงการไปยังสำนักงบฯ และ คสช. ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีชื่อแน่นอน แต่อาจจะใช้ชื่อว่าโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา หรือ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา โดยในส่วนของงบประมาณปี 2556 ที่ยังเหลือการจัดซื้อในโซน 4 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 1,170 ล้านบาท สพฐ. จะต้องขอกันงบประมาณเหลื่อมปีและขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณ 2557 ซึ่งในส่วนของโครงการใหม่ สพฐ. จะเริ่มนำร่องกับนักเรียนในพื้นที่โซนที่ 4 ก่อนจากนั้นจะทยอยทำในโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป” นายกมล กล่าว

นายกมล กล่าวต่อว่า หากเลือกทำห้องเรียนสมาร์ทคลาสรูม ในส่วนการจัดซื้อนั้นแต่ละหน่วยงานจะดำเนินการเองแต่เบื้องต้นคิดว่า สพฐ. อาจจะต้องกำหนดสเปกกลางกำกับไว้ เฉพาะโรงเรียนในสังกัด สพฐ. คงจะให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ในส่วนการดำเนินการโซนที่ 1-3 นั้น โซน 1-2 อยู่ระหว่างการจัดส่งเครื่องแท็บเล็ตตามสัญญา ส่วนโซนที่ 3 ได้รับรายงานว่าการจัดส่งเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ในการประชุมกับฝ่ายสังคมจิตวิทยา ได้กำชับให้หน่วยงานที่ยังไม่เซ็นสัญญาจัดซื้อกับบริษัทที่ชนะการประมูล คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ไปเซ็นสัญญาให้เรียบร้อยเพราะการดำเนินการลุล่วงไปหมดแล้ว ส่วนกรณีที่มีการยกเลิกโซน 4 ในส่วนของ สพฐ. สช. และสำนักพระพุทธศาสนา เนื่องจากยังไม่ได้มีการประมูลจัดซื้อจัดจ้างจึงไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นคาดว่าจะไม่มีปัญหาการฟ้องร้องแน่นอน สำหรับเครื่องแท็บเล็ตที่แจกให้เด็กติดตัวไปตั้งแต่เริ่มโครงการนั้น เนื่องจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังระบุว่าแท็บเล็ตถือเป็นครุภัณฑ์ของโรงเรียนที่สุดแล้วนักเรียนและผู้ปกครองจะต้องคืนกับโรงเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเรียกคืนตั้งแต่ตอนนี้ เพียงแต่ว่าจากนี้คณะทำงานจะหาวิธีการและกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อที่นักเรียนทุกคนจะใช้ประโยชน์ได้สูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น