xs
xsm
sm
md
lg

สันติสงบ

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 (ตอนบ่าย 4 โมงหลังประกาศกฎอัยการศึก 1 วัน-21 พฤษภาคม 2557 ตอนตี 3) โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.เป็นหัวหน้าคณะฯ เนื่องเพราะบ้านเมืองไม่สงบ จำเป็นต้องทำให้สงบเหมือนน้ำเน่าเหม็นสกปรกทนไม่ไหว ก็ต้องระบายออกไปให้หมด แล้วใส่น้ำใหม่ที่สะอาด (เน้น-สะอาด) ลงไปแทน ความเน่าเหม็นสกปรกหายไป ความใสสะอาดก็มาแทนที่เหมือนสัจธรรมที่ว่า “ความมืดหายไป ณ ที่ใด ความสว่างย่อมเกิดขึ้น ณ ที่นั่น”

“โปร่งใส-ใจสะอาด-ไม่คลาดธรรม” คือแสงสว่างนำทางสังคมประเทศชาติ ไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและสันติสุข

“สุขใดไหนเล่า จะเท่าความสงบ”

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นี้รู้จักใช้คำสวย เรียบง่าย แต่ลึกซึ้ง คำว่า “สงบ” เป็นคำธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา

“สันติ” หรือ “สงบ” เป็นคำเดียวกัน เป็นไวพจน์ (คำที่ใช้เรียกแทนกันได้) กับคำว่า “นิพพาน”

นิพพาน คือ ความเย็นที่เกิดจากความไม่มีไฟ คือกิเลส (โลภ โกรธ หลง) ความเย็น คือ ความสงบ ความร้อนคือความไม่สงบ เมื่อดับความร้อน หรือดับความไม่สงบ ความเย็นหรือความสงบก็เกิดขึ้น

นั่นคือ สันติสุข ความสงบเป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่มีสุขใดยิ่งกว่า

ไม่ว่าจะเป็น “นิพพาน” หรือ “ความสงบ” หรือ “สันติ” ต่างก็มีหลายมิติ มีหลายระดับ นำไปใช้ในภาวะต่างๆ ได้ตามภูมิธรรมภูมิปัญญาของผู้ใช้

อย่าง...สมาธิ บางมิติอาจจะนั่งหลับตา แล้วภาวนาจนสงบนิ่ง บางมิติอาจจะทำงานเคลื่อนไหวตามปกติ เพียงแต่ใจคอยดูกายดูจิตว่าทำอะไรคิดอะไร คือให้รู้ทันกายและจิต หรือมีสติทุกเมื่อ ฯลฯ

อย่าง...ความสงบ บางมิติอาจจะไม่ต้องคิด ไม่ต้องพูด ไม่ต้องวิจารณ์อะไร ให้อยู่เฉยๆ ปฏิบัติเข้มตามคำสั่งเท่านั้น อย่าแหลม อย่ารู้มาก อย่าฉลาดมาก ไม่ต้องพูด ไม่ต้องวิจารณ์อะไร ให้อยู่เฉยๆ ปฏิบัติเข้มตามคำสั่งเท่านั้น อย่าแหลม อย่ารู้มาก อย่าฉลาดมาก รู้จักโง่บ้าง บางมิติอาจจะลดละเลิกในสิ่งไม่ดีงาม ไม่ถูกต้อง เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน การไม่กล้าทำความดี การเสพสิ่งไร้สาระ การหลับใหล การหลับยืน เป็นต้น

พักรบพักใจ พักรบคือหยุดต่อสู้กันชั่วคราว จะให้หยุดชั่วนิรันดร คงเป็นไปไม่ได้ เพราะชีวิตคือการต่อสู้ การต่อสู้แบบบัณฑิตไม่มีปัญหา ควรส่งเสริม แต่การต่อสู้แบบคนพาลอย่างนี้มีปัญหา ควรขจัด

พักใจ ใจคือผู้นึกคิดตลอดเวลา แทบไม่มีเวลาพักผ่อน น่าสงสาร การพักใจ ก็คือการหยุดนึก หยุดคิด จึงเป็นการเติมพลังเหมือนชาร์จแบตเตอรี่ ดังนั้นเราควรออกกำลังใจบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ออกกำลังกายอย่างเดียว “ออกกำลังกาย กายเคลื่อนไหว ออกกำลังใจ ใจหยุดนิ่ง”

ชีวิตเราประกอบด้วยกาย ใจ จะทำอะไรควรให้ทั้งสองฝ่ายสมดุลกัน ชีวิตปกติ คือชีวิตที่สมดุล

แก่งแย่งกันใหม่ การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน เป็นชีวิตไม่งดงาม แต่มันเป็นภาวะจริงในยุคสมัยนี้ (ยุคที่ 5 คือยุคแก่งแย่งชิงดีมั่นคง) เริ่มตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา)

การพยายามเอารัดเอาเปรียบกัน พยายามชิงดีชิงเด่นกัน แข่งกันให้ตนดีหรือเด่นกว่าคนอื่น ภาวะเช่นนี้มีให้พบเห็นบ่อยๆ ในทุกสังคม แม้กระทั่งสถาบันการศึกษา อันเป็นศูนย์บ่มเพาะให้คน “ดี-เก่ง-กล้า-โรจน์” ก็มิได้ละเว้น

ปราชญ์ท่านหนึ่ง มีความเห็นว่า...โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ที่ให้การศึกษาเรามาทั้งหมด ล้วนทำลายความเป็นมนุษย์ ในขณะที่คิดกันว่า สถาบันเหล่านั้น ช่วยอำนวยประโยชน์ให้บุคคลและสังคม แต่นั่นเป็นแค่การหลอกตัวเอง ถ้าคนเราไม่มีความสมดุล ไม่ทำให้ “หัวคิด” กับ “หัวใจ” พัฒนาไปด้วยกันแล้ว ย่อมต้องยังทนทุกข์อยู่ และความทุกข์จะแผ่ขยายต่อไป

เมื่อเราถูกครอบงำด้วยหัวคิด และหลงลืมการมีอยู่ของหัวใจมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะมีความทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ

ลองพินิจพิจารณาความเห็นของปราชญ์ดังกล่าวดู ท่านอาจจะตะโกนดังๆ ใช่แล้วๆ หรือไม่ก็ไม่ใช่ดอกๆ ภายในใจท่านต้องรักษาความสงบภายนอก ตามมารยาทหรือประเพณีของเรา

พักรบพักใจ สักพักแล้วก็ลุกขึ้นสู้กันใหม่ แก่งแย่งกันใหม่ หมุนเวียนเปลี่ยนไปเช่นนี้ตามยุคสมัย “เงินเป็นพระเจ้า เอาเป็นหัวคิด ผิดถูกช่างมัน ฉันไม่แคร์” การแก่งแย่งเลยกลายเป็นวิถีชีวิตอันปกติธรรมดาของผู้คนในสังคม แล้วอย่างนี้ความปรองดอง (ไม่แก่งแย่งกัน) สมานฉันท์ (ความมีใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าอยากให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์จริงๆ ไม่ต้องเสียเวลากับอีเวนท์ให้เปลืองงบประมาณ ทำสิ่งที่โดนใจประชาชนซิ ลดน้ำมันเหลือลิตรละ 20 บาท แก๊สหุงตุ้มเหลือถังละ 200 บาท โอนรัฐวิสาหกิจกลับมาเป็นของรัฐให้หมด ผลประโยชน์จึงจะตกเป็นของรัฐ ไม่ใช่ตกเป็นของนายทุนเจ้าของหุ้น นี่มันประเทศไทย ไม่ใช่บริษัทจำกัด เมื่อรัฐมีอำนาจเต็มที่ ก็เป็นโอกาสทองที่จะนำความเป็นธรรมมาสู่บ้านเมืองตามรอยพ่อประเสริฐสุดแล้ว พ่อบอกว่า จะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม อำนาจมีแล้วรีบทำเถอะ มัวลังเลอยู่ไย

ตราบไม่ตื่นรู้ แน่นอนถ้ายังหลับใหลอยู่ ยังหลับยืนอยู่ แม้จะพักรบพักใจ กี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ตาม การแย่งแย่งก็จะกลับมาใหม่ ในรูปแบบใหม่ เกรียงไกรกว่าเดิม เริ่ดหรูชูคอกว่าเดิม ยาวนานกว่าเดิม ผู้ถูกปกครองก็ทุกข์ทรมานกว่าเดิม ส่วนผู้ปกครองก็ยังเป็นผู้ปกครองเหมือนเดิม...

“ตื่นรู้” เป็นอย่างไร?

ถ้าผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองตื่นรู้ การสู้รบกัน การแก่งแย่งกันก็จะหมดไป หรือลดน้อยลงไป

คนเราถ้ายังหลับอยู่ มันก็ไม่รู้ไม่เห็นอะไร ไม่รู้ว่าไผเป็นไผ ใครเป็นใคร ต่อเมื่อมันตื่นขึ้นมา มันจึงรู้จึงเห็น เอ้ย ไอ้นี่โจรเสื้อนอกนี่หว่า ไอ้นี่โกงกันทั้งโคตร ไอ้นี่จอมคอร์รัปชัน ไอ้นี่ติดอันดับหนึ่งคนชั่วคนขี้โกงของโลก ไอ้นี่นักโทษหนีคุก ไอ้นี่เหตุแห่งความชั่วร้าย ฯลฯ

ท่าน “โอโช่” ผู้นำจิตวิญญาณแห่งศตวรรษที่ 20 กล่าวว่า...

จงเป็นสิ่งที่ท่านเป็น และอย่าได้ไปสนใจโลกเลย แล้วท่านจะรู้สึกผ่อนคลายอย่างมากมายมหาศาล ความสุขสงบจะหยั่งรากลึกเข้าไปในใจท่าน นี่คือสิ่งที่ชาวเซนเรียกว่า “ใบหน้าที่แท้จริง” ของท่านผ่อนคลายปราศจากความตึงเครียด ปราศจากการเสแสร้งแกล้งทำ ปราศจากความหลอกลวง ปราศจากสิ่งที่เรียกว่าวินัยของการมีพฤติกรรมที่ดี

...(เด็ดเดี่ยว/โอโช่-เขียน/ดร.ประพนธ์ ผาสุกยึด แปล/สนพ.ฟรีมายด์)

จิตหรือความคิดตื่นรู้ และก้าวพ้นจากอวิชชา หรือพ้นจากความมืดบอดทางปัญญา หมายถึง จิตตื่นรู้ และเห็นพุทธภาวะว่า สรรพสิ่งปราศจากตัวตน ปราศจากบุคคล ปราศจากสัตว์ และปราศจากชีวิต เป็น “สุญญตา” หรือ “พุทธธรรม” ก็จะปรากฏขึ้นอย่างฉับพลัน

...(นิพพานฉับพลัน-อ.นิโรธ จิตวิสุทธิ์/สนพ.ก้าวแรก)

สำหรับผม (ผู้เขียน) มีความเห็นว่า... “ตื่นรู้” เป็นคำธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพราะมีใช้อยู่ทั่วไป ทั้งระดับพื้นๆ ระดับกลางๆ ส่วนระดับสูงๆ เป็นคำที่เป็นไวพจน์ (ใช้เรียกแทนกันได้) กับคำว่า นิพพาน สุญญตา พุทธธรรม จิตหนึ่ง จิตเดิมแท้ อสังขตธรรม ฯลฯ

“สังขตธรรมทั้งปวง
ดุจฝันมายาฟองน้ำรูปเงา
ดุจนิศาชลและอสนี
ควรพินิจด้วยอาการเช่นนี้แล”

เพียงแค่โศลก 4 บาท (จากวัชรสูตร) รับเอามาเป็นข้อปฏิบัติ (สมาทาน) สวดท่องและสาธยายอธิบายเรื่องแก่ผู้อื่นทุกวัน วันละหลายครั้ง จะได้รับอานิสงส์ (ผลที่ได้จากการกระทำ) อันไพศาลมากกว่าการทำบุญทำทานใดๆ ทั้งมวล

นี่คือ “ตื่นรู้” คู่กับ “หลับยืน” จัดให้เป็นหนึ่งเดียวคือ “หลับยืนตื่นรู้” เป็นสองด้านของชีวิตที่เราเจ้าของชีวิตต้องรู้ จึงจะ “เป็นตัวของตัวเอง” ที่มีอิสรภาพ ไม่ใช่คอยเป็นไปตามที่คนอื่นบอกให้เป็น

“สันติสงบ
พักรบพักใจ
แก่งแย่งกันไป
ตราบไม่ตื่นรู้”

ตื่นรู้แบบธรรมดาเนี่ยมันง่าย แต่แบบไม่ธรรมดามันยาก เราปฏิเสธมันไม่ได้ เพราะมันเป็นสองด้านของชีวิตเรา

พินิจพิจารณาไปเรื่อยๆ ความกระจ่างแจ้งชัดก็จะเกิดขึ้นเอง พันธนาการก็จะคลายออก เมฆหมอกที่ปกคลุมก็จะจางหาย รัศมีแห่งตะวันและดาวเดือนบนฟากฟ้า ก็จะฉายฉานได้เต็มที่ ยังประโยชน์แก่สรรพสิ่งอย่างไร้ขอบเขต

โอ...ผองมนุษย์สุดปรารถนาความสุขทั้งหลาย ต่างก็แสวงหาความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป ที่ไม่มีอื่นใดยิ่งกว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่หามาตลอดเวลานั้น มันอยู่กับตัวเราเองตั้งแต่อ้อนแต่ออก นั่นคือ สันติสุข (นตฺถิ สนฺติ ปรมํ สุขํ) สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี เพียงแต่ว่าเราเอาแต่หลับ ไม่ยอมตื่น จึงไม่รู้วิธีเอาสิ่งครอบออกจากความสงบความสุข นอกจากจะไม่เอาสิ่งครอบออกแล้ว ยังทากาวสิ่งครอบให้หนาขึ้นเรื่อยๆ แล้วอย่างนี้อีกกี่ปีกี่ชาติจึงจะได้ตื่นรู้กับเขาสักที?
กำลังโหลดความคิดเห็น