xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ชาวสวนยาง” ก็อยากมีความสุขเหมือนชาวนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตลอดสัปดาห์นี้ชาวนากำลังมีความสุข ระหว่างที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนา ที่ถูกเบี้ยวจ่ายเงินค่ารับจำนำข้าวตามนโยบายของรัฐบาลเดิม

มีการจ่ายเงินก้อนแรกไปแล้ว ก้อนหลังและก้อนต่อๆไปก็น่าจะถึงมือชาวนาในเร็วๆนี้

ชาวนาดีใจแล้ว ต่อไปก็ชาวสวนผลไม้ แว่วว่า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ เร่งรัดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแผนช่วยเหลือให้มีรูปธรรมระหว่างที่ไม่มี คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ในขณะนี้ แต่ยังมีเม็ดเงินของ คชก.จำนวนมหาศาลอยู่ในมือ

ขณะที่เกษตรกรกลุ่มใหญ่ อีกกลุ่มหนึ่งกำลังมองถึงอนาคตตัวเองว่า จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะ “ชาวสวนยางพารา”ทั่วประเทศ

เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ก่อนการรัฐประหาร กลุ่มชุมนุมสหกรณ์เกษตรอุตสาหกรรมการยางแห่งประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เครือข่าย สวนยางแห่งประเทศไทย และสมาคมเครือข่าย เกษตรสถาบันเกษตรยางพาราแห่งประเทศไทยนำโดย “นายอุทัย สอนหลักทรัพย์”  ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงินการคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานสภา การยางพาราแห่งประเทศไทย

ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวระงับการกระทำ“กรณี คณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การสวนยางมีมติวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้ระบายยาง ในสต็อกจำนวน 210,000 ตัน ออกสู่ตลาดโลก”

ตามข้อมูลของ อ.ส.ย. ระบุว่า สำหรับสถานะของโครงการเสริมศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ใช้งบประมาณรับซื้อยางรวมตลอดโครงการประมาณ 22,000 ล้านบาท มียางในสต๊อกประมาณ 208,000 ตัน หรือเฉลี่ยรัฐรับซื้อยางจากตลาดในราคากิโลกรัม (กก.) ละ 106 บาท หากระบายยางออกสู่ตลาดในขณะนี้ราคาตลาดอยู่ที่ กก.ละประมาณ 68 บาท จะทำให้รัฐขาดทุน กก.ละ 38 บาท หรือขาดทุนรวมจากการระบายยางทั้งหมดประมาณ 7,904 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ได้มาทั้งหมดจะต้องนำไปจ่ายคืนให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนต่างเงินขาดทุนที่เหลือต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่ตั้งงบประมาณจ่ายคืน ธ.ก.ส.ต่อไป.

โดยศาลปกครองกลาง ได้นัดไต่สวนเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร จะรับไต่สวนฉุกเฉินหรือไม่

เป็นการร้องต่อศาลให้มีคำสั่งคุ้มครอง จากการที่กระทรวงเกษตรฯ ที่เตรียมระบายยางในสต๊อก ที่รัฐรับซื้อมาตามโครงการเสริมศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ตั้งแต่สมัยที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ซึ่งผู้ฟ้องเกรงว่าหากรัฐระบายยางทั้งหมด จะซ้ำเติมปัญหาราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้

เหตุผลที่ยื่นฟ้องศาลปกครอง “นายอุทัย”ระบุไว้ว่า หากจำกันได้ปีที่แล้ว 2556 ชาวสวนยาง ได้กดดันไปยังรัฐบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือ กรณีราคายางตกต่ำ ซึ่งต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยใช้งบประมาณ 4.5 หมื่นล้าน รับซื้อยางพาราแผ่นดิบในราคา 100 บาท ต่อกิโลกรัม และยางรมควันชั้น 3 ในราคา 104 บาทต่อกิโลกรัม

ผลที่ตามมาจากการรับซื้อยางพารามาตรภายใต้การดังกล่าว ทำให้มียางในสต็อก จำนวน 210,000 ตัน ส่วนการบริหารสต็อก ยางที่ซื้อมานั้น ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางเมื่อเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน มอบหมายให้องค์การสวนยาง จัดทำแผนบริหารสต็อกยาง และมีการมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เป็นฝ่ายจัดซื้อยาง จากสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และนำมาแปรรูปเก็บเป็นสต็อก เพื่อรอจำหน่ายในราคาและช่วงราคาที่เหมาะสม

จน การประชุมในวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่มีรักษาการรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาการจัดการยางในสต็อก โดยมติที่ ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการดูแล เรื่องการระบายสต็อก โดยให้องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เป็นผู้ดูแล และมติที่ออกจึงกลายเป็นข้อขัดแย้งกับมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาฯ และมติของกนย. ก่อนหน้านี้ ที่ต้องการให้ อ.ส.ย. นำยางที่มี อยู่ในสต๊อกมาใช้ในประเทศ เพราะหากเป็น การขายออก ก็เท่ากับว่าจะเป็นการขาดทุนในราคารับซื้อทันที เนื่องจากราคายางปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ที่กิโลกรัมละ40-50 บาท

"ที่เราเป็นห่วงก็คือ ถ้าขายยางได้หมดสต็อกจะเป็นวงเงินเฉลี่ยที่ 1หมื่นล้านบาท ซึ่งมันสวนทางกับราคาแทรกแซงในปี 56 ที่มีการจัดซื้อยางผ่านสถาบันเกษตรกร เพราะราคาขณะนั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท ดังนั้นหากระบายยางออกไปภายใต้สูตรนี้ เท่ากับว่ารัฐบาลจะต้องขาดทุนจากการนำยางในสต็อกออกขายที่ 4 หมื่นล้านบาท"

“มติ ให้ตั้งกรรมการขายยางในสต็อกดังกล่าว ก็ทำให้ตลาดยางดิ่งตัวลงแบบต่อเนื่อง จนเหลือราคากิโลกรัมละ 57.21 บาทนับถึงเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ที่สำนักเศรษฐกิจการเกษตร กำหนดต้นทุนราคายางแผ่นดิบไว้ที่กิโลกรัมละ 64.19 บาท”

“ต้องการให้ระงับการขายยางในสต๊อก เนื่องจากเชื่อว่าแนวทางของหน่วยงานรัฐ จะสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพราคายางในประเทศ”

“การนำยาง ที่มีอยู่ในสต๊อก ไปใช้ในส่วนอื่น เช่น การผสมยางมะตอย ทำถนน น่าจะมี ความเหมาะสมมากกว่า การที่จะบายผลผลิตออกมา ที่จะดีงให้ราคาผลผลิตถดถอยลง "

ทั้งหมด เป็นความจำเป็นที่ต้องฟ้องต่อศาลเพื่อไต่สวนฉุกเฉิน และยืนยันว่าจะไม่ถอนฟ้องด้วย

สำหรบสถานการ์ยางพารา หากจะดูตัวเลขทางวิชาการ ที่หอการค้าจังหวัดสงขลา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสรุปผลการจัดทำ "หอการค้าสงขลาโพลล์" และผลการวิจัยในประเด็นสถานการณ์ เศรษฐกิจของ จ.สงขลา และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งราคายางพาราที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของ จ.สงขลา

ผลจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง ในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจด้านยางพาราในพื้นที่ จ.สงขลา จำนวน 65 แห่ง พบว่า ผู้ประกอบการ 60% เห็นว่า ความเหมาะสมของราคายางพารา ควรจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 96 บาท ซึ่งราคายางในปัจจุบัน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 60 บาท ได้ส่งผลกระทบต่อ ความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่ให้ลดลง และยิ่งทำให้เกษตรกร มีภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นตามราคา ของสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ยังคงมีราคาสูงอยู่เช่นกัน

ขณะที่แนวโน้มต่อราคายางพารา ในรอบเดือนพ.ค. น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่กิโลกรัมละ 60.83 บาท และปลายไตรมาส 2 (มิ.ย.) ราคาน่าจะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 63.50 บาท

ส่วนปัจจัยที่น่าเป็นห่วงต่อยางพารา ก็คือ การเมืองที่ยังไม่ยุติ และไม่มีรัฐบาล ทำให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและเอกชนทั้งในและต่างประเทศไม่กล้าที่จะลงทุน-

ขณะที่ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาทเศษ ถือเป็นราคาที่เกษตรกรชาวสวนยางประสบปัญหาขาดทุน แต่หากราคาปรับตัวลดลงมากกว่านี้ จะยิ่งสร้างปัญหาให้กับชาวสวนยางมากยิ่งขึ้น

ส่วนฝากผู้ถูกฟ้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อเร็วๆนี้นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมเตรียมข้อมูลร่วมกับองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เพื่อรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมชี้แจงต่อศาลปกครอง

นายชนะชัย เปล่งธนศิริวัธน์ ผอ.อ.ส.ย. บอกว่า แม้ว่าเอกชนได้ร้องต่อศาลปกครองให้มีคำสั่งคุ้มครองในกรณีรัฐจะระบายยางออกจากสต๊อก แต่ขั้นตอนการระบายยางของภาครัฐขณะนี้ อ.ส.ย. ยังแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการสต๊อกยางไม่แล้วเสร็จ

“การทำรัฐประหารไม่เกี่ยวกับการดำเนินขายระบายยางในสต๊อกรัฐบาล เพราะเป็นการดำเนินงานตามนโยบายปกติ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือการจัดตั้งคณะทำงานระบายยาง ที่ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์นั้น จะมีความล่าช้าออกไป และยังไม่สามารถที่จะกำหนดทิศทางได้”

“เบื้องต้นทีโออาร์ระบายยางคร่าวๆ ที่จะเสนอ มี  2 วิธี  ได้แก่ การเสนอราคาแบบเปิดเผย และเสนอแบบซองปิด จะเสนอขายภายใต้เงื่อนไขที่ขายเสร็จแล้วส่งมอบภายใน 1 เดือน ถ้าหากรับของไม่ทัน ผู้ซื้อจะต้องเช่าโกดังต่อ และจะขายพร้อมกันทุกโกดัง 36 แห่งทั่วประเทศ ตามสภาพ”

เรื่องนี้ตามข่าว “นายชวลิต ชูขจร” ปลัดกระทรวงฯ แจ้งว่า ทางกองทัพยังไม่ได้ลงรายละเอียด แต่อำนาจของบอร์ด อ.ส.ย. สามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นมติครม.ที่ได้มีการอนุมัติไว้แล้ว เป็นการปฏิบัติตามนโยบาย

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำเรื่องถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่กำกับด้านเศรษฐกิจเพื่อพิจารณาแล้ว ในช่วงที่ประกาศกฎอัยการศึก

จะยุติโครงการนี้หรือไม่ต้องรอดู ประกอบกับคำสั่งศาลปกครองจะออกมาในทิศทางใดด้วย
    
แม้จะมีเสียงเล่าลือจากแวดวงค้ายางพารา ว่า การระบายยางเร่งด่วนเนื่องจากรัฐบาลเดิม มีเป้าหมายในการนำเงินมาใช้หนี้ชาวนาในโครงการจำนำข้าว ซึ่งยังค้างอยู่กว่า 9 หมื่นล้านบาท หากระบายได้รวดเร็วจะไม่กระทบราคาตลาดมาก จะสามารถดึงราคาในอนาคตได้

เรื่องนี้ชาวสวนยางพารา กำลังรอคำตอบว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ด้านเศรษฐกิจจะเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างไร ให้เกษตรกรได้ประโยชน์ เฉกเช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหานำเงินมาใช้หนี้ชาวนาในโครงการจำนำข้าว

เพราะ คสช.กำลังได้รับคำชื่นชมว่า แก้ปัญหาได้รวดเร็วอย่างที่สุด ทั้งเร่งจ่ายเงินให้ชาวนา ระงับการระบายข้าวทั้งระบบ และอาจจะยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวไปโดยปริยายด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น