xs
xsm
sm
md
lg

สภาการยางฯ จวกยับรัฐเทขายยางมีเงื่อนงำ เตรียมยื่น ป.ป.ช.-สตง.สอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - สภาการยางฯ จวกยับรัฐบาลรักษาการเทขายยางในสต๊อก คาดมีเงื่อนงำ เตรียมยื่น ป.ป.ช.และ สตง.ตรวจสอบด่วนส่อเค้าไม่โปร่งใส

วันนี้ (3 พ.ค.) นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีที่นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอ้างถึงที่ประชุมบอร์ดองค์การสวนยาง (อสย.) ได้เร่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการ อสย.เพื่อบริหารจัดการยางในสต๊อกให้มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระต่องบประมาณรัฐบาล โดยเตรียมเทขายยางในสต๊อกกว่า 2 แสนตันนั้น จะกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกับตัวแทนสมาพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และตัวแทนเครือข่ายชาวสวนยางทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทุกคนมีมติไม่เห็นด้วยต่อการนำยางในสต๊อกออกมาขายเพราะจะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกร ยิ่งทำให้ราคายางดิ่งลงเหวหนักไปอีก รัฐบาลควรระงับโครงการการขายยางไว้ก่อนจนกว่าราคายางจะดีขึ้น โดยทางสมาพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เตรียมยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.และ สตง.เร่งตรวจสอบอย่างเร่งด่วน เพราะส่อเค้าไม่โปร่งใส มีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง

นายอุทัย กล่าวด้วยว่า ราคายางที่ขายต้องขายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน เท่ากับยิ่งดัมป์ราคาลงไปอีก ทั้งที่ยางน่าจะมีมูลค่ามากกว่านี้ และยังสวนทางกับนโยบายรัฐบาลในช่วงเวลาเดียวกันในช่วงปีที่ผ่านมา สมัยที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในขณะนั้นที่มีโครงการเข้าแทรกแซงราคายางที่กิโลกรัมละ 120 บาท หากรัฐบาลเทขายยางในสต๊อกครั้งนี้จะซ้ำเติมชาวสวนยางอย่างหนัก เพราะในความจริงแล้วชาวสวนยางเริ่มกรีดยางออกมาตั้งแต่กลางเดือน เม.ย.แล้ว

อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐบาลทบทวนในเรื่องดังกล่าวให้รอบคอบ และรัดกุมยิ่งขึ้น เพราะการที่นำยางในสต๊อกออกขายในขณะนี้จะขาดทุนทันทีเนื่องจากขายในราคาถูกไม่เกินกิโลกรัมละ 40-50 บาท เพราะจะมีการหักเปอร์เซ็นต์เชื้อรา รูปทรง (มิสเชส) เชื่อได้ว่าขายหมดสต๊อกคิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 10,000 ล้านบาทแน่นอน ในขณะที่ต้นทุนที่ได้จากการแทรกแซงราคายางเมื่อปีที่ผ่านมา อยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท คิดเป็นมูลค่า 25,000 ล้านบาท บวกกับค่าบริหารจัดการจนถึงวันนี้ ทั้งค่ารมควัน, อัดก้อน, เช่าโกดัง รวมถึงค่าประกันภัยอีกมูลค่า 15,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท

สำหรับในส่วนของความต้องการใช้ยางของประเทศจีนมีมากถึงเดือนละ 3 แสนกว่าตัน โกดังยางที่ชิงเต่า ของไทยน่าจะถูกระบายออกขายได้ก่อนแทนที่จะนำยางไทยในสต๊อกไปขายเพราะขณะนี้เป็นช่วงราคายางขาลง จึงไม่สมเหตุสมผลต่อการกล่าวอ้างของรัฐบาล “ดูเหมือนเป็นความจริงที่โกหก เป็นเรื่องไม่ปกติที่รัฐบาลจะเอายางในสต๊อกออกมาขาย คิดว่ารัฐบาลกำลังจะหมดอำนาจ เลยถือโอกาสขายยาง จากการที่เคยเข้าแทรกแซงพยุงราคาในช่วงนี้กลับเทออกมาขาย เป็นการเขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า”

จากการประชุมสัมมนายางที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 30 เม.ย 57 ที่ผ่านมา ผอ.อสย.เข้าร่วมประชุมด้วย สรุปหารือแล้วว่าไม่ควรขายเพราะจะเป็นการซ้ำเติมยางให้ราคาดิ่งลง ซึ่งน่าจะได้นำมาทบทวนพิจารณาอย่างรอบด้าน แต่เวลาห่างกันเพียงข้ามคืน กลับมาแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาขายยางในสต๊อกอย่างเร่งด่วน หากรอจังหวะเวลาไปสักระยะให้ได้ราคาจะดูสมเหตุสมผลกว่า หรือว่าการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องถึงต้องรอไม่ได้” นายอุทัย กล่าว

นายอุทัย ยังกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลมีความจริงใจต้องการช่วยเหลือชาวสวนยางจริง ควรนำยางในสต๊อก 2.1 แสนตันนี้ประกาศออกนอกระบบ การซื้อขายยางจะไม่สร้างความหวั่นไหวต่อเสถียรภาพราคายางในประเทศ ด้วยการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ เช่น นำไปทำถนนลาดยางแทนยางมะตอย การสร้างเขื่อนยางเพื่อกักเก็บน้ำ และทำอิฐตัวหนอนปูทาง หรือใช้ในสนามเด็กเล่น และอื่นๆ

นอกจากนี้ รัฐบาลเองยังต้องเตรียมความพร้อมทำแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนยางพาราของประเทศไทย และในเขตภูมิภาคอาเซียนเพื่อรองรับการเปิดเขตการค้าเสรี หรือ AEC ในปี 58 ทั้งในเรื่องกฎหมาย รวมทั้งข้อกำหนด กฎเกณฑ์ต่างๆ การเพิ่มมูลค่า การแปรรูป การขนส่งเข้า-ออกระหว่างประเทศ การลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาพันธุ์ยาง ซึ่งทางตัวแทนชาวสวนยางพร้อมที่จะนำยุทธศาสตร์ยางทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อนำเสนอรัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องเพื่อร่วมแกไขปัญหายางอย่างจริงจัง และจริงใจไร้ซึ่งอำนาจการเมืองเข้ามาแทรกแซงแฝงประโยชน์อย่างที่เป็นอยู่

กำลังโหลดความคิดเห็น