xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปยางพาราไทย (ตอนที่ 3) เกษตรกรบริหารเงิน CESS เอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
โดย..สุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง

คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย การใช้เงินกองทุน CESS และกองทุนสวัสดิการชาวสวนยาง ร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ฉบับนายทุนที่มีการรีบร้อนนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.โดยอ้างว่า ค้างตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วตกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุรัฐประหารอยากให้มีการบังคับใช้โดยเร็ว มันเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปประเทศไทยทุกด้าน

พอมีกระแสต่อต้าน จึงลุกลี้ลุกลนนำร่างเก่าที่ผ่านกฤษฎีกาแล้ว ไม่ต้องขอมติ ครม. เร่งเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทิ้งร่างปัจจุบันที่ช่วยกันขัดเกลา และแก้ไขโดยเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง และสภาเกษตรแห่งชาติ..อย่างไม่แยแส และไม่แคร์ความรู้สึกของชาวสวนยาง

นายทุนคนไหนสั่งให้ทำครับ คุณปิติ ไม่เต็มบาท

เหตุที่ทำให้ชาวสวนยางรับไม่ได้เพราะในร่างนี้ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีไว้ล้นเกิน แทรกแซง และสั่งการข้ามหัวคณะกรรมการได้ ส่วนคณะกรรมการก็เป็นแค่ร่างทรงของนักการเมือง และนายทุน มีตัวแทนเกษตรชาวสวนยางแค่คนเดียว นอกนั้นเป็น ปลัดกระทรวง ผู้ว่าการยางฯ โดยตำแหน่ง และกรรมการที่ผ่านการสรรหา และ ครม.อนุมัติอย่างนี้ก็เสร็จโจรนะสิคุณโยม

ข้อเสนอของชาวสวนยางคือ ให้กรรมการเกินกว่ากึ่งหนึ่งมาจากผู้แทนชาวสวนยางที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งจากทั่วประเทศจากเกษตรกรชาวสวนยาง ตามคำนิยามใหม่เพื่อให้อนาคตของยางพาราไทยอยู่ในมือของชาวสวนยางอย่างแท้จริง ไม่ใช่ถูกกำหนดโดย นายทุนเลว นักการเมืองโกง และข้าราชการขี้ฉ้อ

ในร่างนี้ ได้ยุบรวม 3 หน่วยงานหลัก คือ สกย. องค์การสวนยาง และสถาบันวิจัยยาง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจใหม่ การยางแห่งประเทศไทย ข้อเสนอของชาวสวนยางนอกจาก 3 องค์กรหลักแล้ว ต้องผนวกรวมเอาสวนยางขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่มีนับแสนไร่ มาเป็นส่วนหนึ่งของการยางฯ ด้วย เพื่อเป็นฐานการผลิต ร่วมกับสวนยางของ อสย.เดิมอีก 40,000 ไร่ ในการสร้างตลาดซื้อขายจริง (SPOT MARKET) หรือชิงเต่านครศรีธรรมราช

ในร่างนี้ได้มีการออกแบบเพื่อใช้เงิน CESS ดังนี้ ร่าง พ.ร.บ.การยางฯ ปัจจุบัน งบบริหาร การยางฯ 15% งบบริหาร สกย. 10% กองทุนพัฒนายางฯ 20% สถาบันวิจัยยาง 5% ปลูกทดแทน 65% สงเคราะห์ 85%

จะเห็นว่ามีการลดเงินปลูกทดแทน มาเพิ่มเป็นกองทุนพัฒนายางพาราถึง 20% งานวิจัยยาง พัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงงานสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนายางพาราเป็นเรื่องจำเป็นก็จริงแต่ตัวเลขยังสูงเกินไป

ข้อเสนอของชาวสวนยางคือ ออกแบบการใช้เงิน CESS ใหม่ โดยให้มีกองทุนสวัสดิการชาวสวนยางด้วยงบบริหาร การยางฯ 10% กองทุนพัฒนายางพารา 15% กองทุนสวัสดิการชาวสวนยาง 25% ปลูกทดแทน 50%

หมายเหตุข้อเสนอนี้เป็นเพียงความเห็นของแนวร่วมฯ การออกแบบใช้เงิน cess เป็นเรื่องสำคัญคณะกรรมการต้องทำประชาพิจารณ์จากเกษตรกรชาวสวนยาง ก่อนประกาศใช้ เพราะกองทุนสวัสดิการชาวสวนยาง คือ เงินกองทุนที่ถือเป็นเงินเก็บของชาวสวนยางที่จะสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เพื่อเยียวยา จ่ายชดเชยแก่ชาวสวนยาง และคนกรีดยาง ยามเกิดวิกฤตยางพารา เช่น ราคาตกต่ำ เกิดภัยพิบัติ

อีกมิติหนึ่ง เงินนี้เปรียบเหมือนเงินสำรองเลี้ยงชีพคล้ายๆ เงินบำนาญของข้าราชการ ทำไมครับชาวสวนยางจะปลดเกษียณไม่ได้ ยามชรากรีดยางไม่ไหว จะได้มีเงินซื้อกับข้าวกับปลาอีกนัยหนึ่ง ยังเป็นเงินสวัสดีการ เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือเงินฌาปนกิจ ตามมติของคณะกรรมการ

ข้อเสนอนี้เป็นชุดความคิดที่ก้าวหน้า เพราะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แตกต่างจากกองทุนประกันสังคมอาจคล้ายคูปองแทนเงินสด เพื่อยังชีพของต่างประเทศถือเป็นเงินออมผ่านภาษี CESS ของชาวสวนยาง

เงินของเราเอง จึงต้องออกแบบการใช้เงินเอง

(อ่านต่อตอนที่ 4)
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น