xs
xsm
sm
md
lg

ชาวยางจี้รบ.แก้ทั้งระบบ ขีดเส้น45วันบุกถึงทำเนียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ยื่น 5 ข้อจี้รัฐบาลแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ ขีดเส้นให้เวลาแก้ปัญหา 45 วันหากยังไม่มีอะไรขยับจะเดินทางไปเรียกร้องถึงทำเนียบฯ ขณะที่ปราชญ์ชาวบ้านเจ้าของรางวัลแมกไซไซแนะชาวสวนทบทวนวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเองควบคู่กันไปด้วย

วานนี้ (8 ต.ค.) ที่ห้องประชุมอาคารนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ (คยป.) จัดเสวนาหาทางออกเพื่อนำเสนอรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ โดยมีตัวแทนเกษตรกรทุกจังหวัดเข้าร่วมจำนวนมาก มี รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ ดร.เลิศชาย ศิริชัย ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ นายประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้าน เจ้าของรางวัลแมกไซไซ เข้าร่วม พร้อมทั้งนายมาโนช เสนพงศ์ นายก อบจ.นครศรีธรรมราช ในฐานะตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ารับฟังปัญหาและร่วมหาทางผลักดันในภาระหน้าที่ของ อปท.

ทั้งนี้ ในการเสวนา นายประยงค์ ได้ให้เสนอข้อสำคัญคือให้แก้ปัญหาด้วยการเริ่มต้นจากชาวสวนยางเอง โดยเฉพาะในประเด็นการจัดการสวนยางที่มีอายุมากกว่า 25 ปีโดยให้ สกย.ที่มีเงินที่เก็บไว้หลายหมื่นล้านบาท นำมาสงเคราะห์สวนยางใหม่ หรือพืชสวนอื่นๆ ในราคาทำนองเดียวกัน ขณะที่ชาวสวนยางจะได้ราคาไม้ยางพาราที่สูงมากกว่าผลผลิตตลอด 7 ปี โดยเมื่อเข้าสู่ปีที่ 7 นั้นชาวสวนยางจะมียางใหม่ที่มีคุณภาพน้ำยางดีกว่าออกสู่ตลาดได้เพื่อนำเอายางพาราอายุมากกว่า 25 ปีออกจากระบบอย่างน้อย 1 ล้านไร่จะส่งผลกับปริมาณยางพาราทั้งระบบ

ภายหลังจากการเสวนาร่วมกว่า 4 ชั่วโมง ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ได้อ่านแถลงการณ์ปฏิญญานครศรีธรรมราช โดยมีเนื้อหาสรุปเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาวิกฤตราคายางพารา 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาลและผู้ส่งออกหามาตรการที่จะทำให้ราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ภายใน 45 วัน โดยเสนอให้รัฐบาลจ่ายชดเชยราคาส่วนต่างแก่เกษตรกรเป็นพันธบัตรรัฐบาล, 2.ให้รัฐบาลยกเลิกการขายยางพาราในสต๊อค 2.1 แสนตัน และให้นำยางพารามาใช้ในประเทศ ผ่านช่องทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอื่นๆ อีกทั้งให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนของชาวสวนยางพาราด้วย เพื่อตรวจเช็คสต๊อกยางพาราดังกล่าว

3.กรณีมาตรการยึดยางพาราคืนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้รัฐบาลปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ข้อ 66 คือ ไม่ให้มีผลกระทบกับผู้รายได้ต่ำ 4.ให้รัฐบาล และ คสช.แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำยางพารามาใช้เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมต่างๆ ได้

5.จัดตั้งแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางพาราเพื่อดำเนินกิจกรรมเคลื่อนไหว เปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากพี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศเพื่อปฏิรูปยางพาราทั้งระบบโดยความร่วมมือจากสมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดภาคใต้ 14 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี เพื่อหามาตรการระยะยาวที่จะแห้ปัญหาเรื่องราคายางพาราตกต่ำ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคง และความยั่งยืนของอาชีพยางพารา โดยจะร่างเป็น พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ฉบับชาวสวนยางเสนอต่อรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ คสช.ต่อไป และเสนอให้หยุด พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยที่กำลังเสนอเข้า สนช.ทันที

ทั้งนี้ หากข้อเสนอดังกล่าวได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ ทางแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางประกาศว่าจะมีการรวมตัวกันเพื่อเดินทางไปเรียกร้องตามมาตรการดังกล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป

นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ เปิดเผยว่า ปัญหาที่สำคัญของชาวสวนยางคือ นักการเมือง นายทุน และข้าราชการบางคนที่ยังหาผลประโยชน์เข้ามาครอบงำจนเป็นปัญหา เกษตรกรจำเป็นต้องช่วยตัวเองคือต้องออกมาเคลื่อนไหวหาทางออก อย่างไรก็ตามที่สำคัญในขณะนี้คือต้องหาทางเร่งกำจัดยาง 2.1 แสนตันซึ่งเป็นอุปทานที่หลอกอยู่ออกไปจากระบบให้ได้ด้วยการนำมาใช้ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการทำถนนสายต่างๆ

***"หม่อมอุ๋ย" เตรียมชงครม.สัปดาห์หน้า

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า เตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้าถึงมาตรการยกระดับราคายางพารา ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมมาตรการไว้พร้อมแล้ว หากได้รับการอนุมัติก็จะเร่งดำเนินการให้เป็นผลทันทีในเดือนต.ค. เนื่องจากเป็นช่วยที่ชาวสวนจะเริ่มกรีดยาง โดยมั่นใจว่าเมื่อมีมาตรการออกมาแล้วจะสามารถยกระดับราคายางพาราให้ดีขึ้นแน่นอน

"พวกผมมีหน้าที่ต้องทำให้ราคาขึ้นโดยเร็วที่สุด แต่การจะทำให้ราคาขึ้น ไม่ใช่แค่ขายแล้วขึ้น ต้องทำอย่างอื่นอีกเยอะ มาตรการเหล่านี้เตรียมไว้หมดแล้ว จะเสนอครม.สัปดาห์หน้า พอมีมาตรการออกมาจะช่วยทำให้ราคาขึ้นได้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวในรายการโทรทัศน์เช้านี้

พร้อมระบุว่า สำหรับมาตรการระยะยาวนั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงไปหารือกับชาวสวนยางถึงการสนับสนุนให้มีการปลูกพืชอื่นเพื่อทดแทนยางพาราในกรณีที่เป็นต้นยางเก่าและมีอายุมาก ซึ่งเป็นมาตรการที่จะต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการดึงราคาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น