นครศรีธรรมราช - ภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ ถกกรอบเสนอรัฐบาลแก้ปัญหายางพารา พร้อมจัดตั้ง “แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง” เพื่อดำเนินกิจกรรมการเคลื่อนไหวทั้งหมด จี้รัฐพยุงราคายางไปที่ 80 บาท ใน 45 วัน และเรียกร้องให้ สนช.หยุด พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยทันที ขณะที่ “ประยงค์ รณรงค์” ปราชญ์ชาวบ้าน แนะชาวสวนหันพึ่งตนเองมากขึ้น
วันนี้ (8 ต.ค.) ที่ห้องประชุมอาคารนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ เข้าร่วมเสวนาหาทางออกเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ โดยมีตัวแทนจากเกษตรกรทุกจังหวัดเข้าร่วมอย่างคับคั่ง นอกจากนั้น ยังมี รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ ดร.เลิศชาย ศิริชัย ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ นายประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้าน เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ เข้าร่วมการเสวนา พร้อมทั้ง นายมาโนช เสนพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ารับฟังปัญหา และร่วมหาทางผลักดันในภาระหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้าน เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ ได้ให้ข้อเสนอที่สำคัญคือ การแก้ไขปัญหาเริ่มต้นจากชาวสวนยางเอง โดยเฉพาะในประเด็นการจัดการสวนยางที่มีอายุมากกว่า 25 ปี โดยให้ สกย.ที่มีเงินที่เก็บไว้หลายหมื่นล้านบาท นำมาสงเคราะห์สวนยางใหม่ หรือพืชสวนอื่นๆ ในราคาทำนองเดียวกัน ขณะที่ชาวสวนยางจะได้ราคาไม้ยางพาราที่สูงมากกว่าผลผลิตตลอด 7 ปี โดยเมื่อเข้าสู่ปีที่ 7 นั้น ชาวสวนยางจะมียางใหม่ที่มีคุณภาพน้ำยางดีกว่าออกสู่ตลาดได้เพื่อนำเอายางพาราอายุมากกว่า 25 ปี ออกจากระบบอย่างน้อย 1 ล้านไร่ จะส่งผลต่อปริมาณยางพาราทั้งระบบ
ภายหลังจากการเสวนาร่วมกว่า 4 ชม. ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ได้ออกมติที่ประชุมเสวนาในนาม “แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง” จำนวน 5 ประเด็นหลัก เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาลและผู้ส่งออกยางพาราทำให้ราคายางมีราคาอยู่ที่ 80 บาท ภายใน 45 วัน โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลจ่ายส่วนต่างให้แก่เกษตรเป็นพันธบัตรรัฐบาล 2.ให้รัฐบาลยกเลิกการขายยาง 2.1 แสนตัน และให้นำยางทั้งหมดนี้มาใช้ในประเทศผ่านช่องทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่นๆ รวมทั้งให้มีการตรวจสต๊อกยางจำนวนนี้ทั้งหมด 3.กรณีมาตรการทวงคืนสวนยางในเขตป่า ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ที่ 66 4.ให้รัฐบาล และ คสช.แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำยางมาใช้ในทำผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมต่างๆ ได้ และ 5.จัดตั้ง “แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง” เพื่อดำเนินกิจกรรมการเคลื่อนไหว และกำหนด พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ฉบับที่เกษตรกรชาวสวนยางเป็นผู้เสนอต่อรัฐบาล และ สนช. และข้อเสนอสุดท้ายคือ ให้ยุติ และหยุด พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ฉบับที่กำลังเสนอเข้า สนช.โดยทันที
นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ เปิดเผยว่า ปัญหาที่สำคัญของชาวสวนยางคือ นักการเมือง นายทุน และข้าราชการบางคนที่ยังหาผลประโยชน์เข้ามาครอบงำจนเป็นปัญหา เกษตรกรจำเป็นต้องช่วยตัวเองคือ ต้องออกมาเคลื่อนไหวหาทางออก อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญในขณะนี้คือต้องหาทางเร่งกำจัดยาง 2.1 แสนตันซึ่งเป็นอุปทานที่หลอกอยู่ออกไปจากระบบให้ได้ด้วยการนำมาใช้ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการทำถนน