ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวสวนยางพารา 16 จังหวัดภาคใต้ ชี้ผลกระทบเกิดจากนโยบายปลูกยางล้านไร่ยุครัฐบาลทักษิณ ระบุลัทธิทุนนิยมทำชีวิตเกษตรกรล่มสลาย ประกาศจุดยืนเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามมาตรการ 5 ข้อ พยุงราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ภายใน 45 วัน พร้อมเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.การยาง ขู่หากไม่ปฏิบัติตามจะเดินทางไปเรียกร้องถึงทำเนียบรัฐบาล
วันนี้ (8 ต.ค.) ที่อาคารนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีการจัดเวทีประชุสัมมนา “กู้ชีพชาวสวนยางพารา” แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยหลังเสร็จสิ้นการสัมมนาในช่วงเช้า นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวสวนยางพารา 16 จังหวัดภาคใต้ หรือ คยป.ได้เป็นตัวแทนอ่านปฏิญญานครศรีธรรมราช โดยมีเนื้อหาระบุว่า การก่อเกิดอาชีพสวนยางในภาคใต้ นอกจากต้นทางการกำเนิดจากกำมือของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ หรือคอร์ซิมบี้ อดีตเจ้าเมืองตรัง แล้ว อาชีพสวนยางยังก่อเกิดขึ้นมาพร้อมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประกาศขึ้นมา ภายใต้การกำกับแผนของ นายป๋วย อึ๊งภากร ปัญญาชนคนสำคัญของประเทศไทย
จากป่ายาง ที่เป็นสังคมพืชผสมผสานพัฒนาขึ้นมาเป็นพืชเศรษฐกิจเต็มตัวในฐานะสวนยางพันธุ์ดี ที่เคียงคู่มากับชุมชนชาวใต้จนมีอัตลักษณ์ร่วมเนื้อเดียวกัน ในฐานะทางเศรษฐกิจที่ครองอันดับ 1 ด้านรายได้ประชาชาติเมื่อเทียบเคียงกับ 4 ภูมิภาคของประเทศไทย
จนผ่านเลยกึ่งศตวรรษของอาชีพสวนยางกับชาวใต้ ระบบทุนนิยมได้แพร่เชื้อแทรกซึมไปทุกอณูของบริบทเศรษฐกิจไทย อาชีพสวนยางก็ไม่ยกเว้น อาชีพสวนยางถูกจัดเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจในอันดับต้นของประเทศ การพัฒนาวงจรอุตสาหกรรมทุนนิยมโลก เหวี่ยงให้อาชีพสวนยางเข้าสู่ความสุ่มเสี่ยงอย่างไม่เคยมีมาก่อน
รัฐบาลที่นายทุนกำกับทางนโยบาย นำอาชีพชาวสวนยางออกทะเลใหญ่ ด้วยการส่งเสริมการปลูกยาง “ล้านไร่” ทั่วประเทศ และนี่คือที่มาของหายนะอาชีพชาวสวนยางไทย สินค้าที่เคยถูกกำหนดโดยผู้ขาย ถูกระบบทุนนิยมโลกบีบคั้นจนหดแคบ จากราคายางถึงกิโลกรัมละ 180 บาท อันเป็นยุค “โชติช่วงชัชวาล” เพียงข้ามคืนต่ำทรุด หลุดลงอย่างหมดทางควบคุมเยียวยา
นักสู้ชาวใต้ได้ลุกขึ้นสู้เรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาล กับชาวสวนยางก็เกิดขึ้นด้วยวิกฤตราคา ประชาชนชาวสวนยางลุกขึ้นสู้ที่ ต.ควนหนองหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เป็นการสัประยุทธ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่มวลชนมือเปล่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าคุกคามด้วยกำลัง แต่ก็พ่ายแพ้ต่อหัวใจอันทรหด “กล้าต่อสู้กล้าเอาชนะ” ของชาวใต้ และต่อมากลุ่มชาวสวนยางจำนวนหนึ่งก็เข้าร่วมการต่อสู้กับอำนาจรัฐโดยหวังการเปลี่ยนแปลง ให้รัฐเป็นธรรมาภิบาล จึงได้สถาปนากลุ่ม คยป.16 จังหวัดภาคใต้ขึ้น เพื่อร้อยรัดรวมใจ เอาตัวเองเป็นเชือกอวดมัดควั่นเกษตรกรรายย่อยน้อยใหญ่
จนบัดนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้จัดรัฐบาลขึ้นทดแทนรัฐบาลที่ถูกโค่นล้มโดยพลังประชาชน และประกาศสถาปนาการปฏิรูปประเทศไทย กลุ่มชาวสวนยาง นักต่อสู้ชาวใต้ จึงประสานองค์กรพันธมิตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นรัฐบาลข้างบ้านของประชาชนทั่วภาคใต้ ภายใต้การสร้างสรรค์โอกาสของนักคิด นักวิชาการ ผู้รักชาติ รักประชาชน ประกอบกับการเปิดทางอย่างสร้างสรรค์ของเหล่าทหารแห่งพระราชาผู้ปรารถนาพลิกฟื้นประเทศ จึงเป็นโอกาส สุขขาสังฑัสสะ สามัคคี วันคนดีมาพบกัน ณ บัดนี้ การสถาปนากลุ่มผู้ก่อการดีจึงเริ่มขึ้น “กู้ชีพ ชาวสวนยาง....”
โดยรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ประกอบด้วย นายคฑา รุ่งโรจน์รัตกุล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช, นายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย, นายมนัส บุญพัฒน์ ชมรมผู้ใช้แรงงานประกอบอาชีพกรีดยางพาราแห่งประเทศไทย, นายพงศา ชูแนม กลุ่มธนาคารต้นไม้, นายประดิษฐ์ จันทร์แจ่มใส ประธานชมรมนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จ.สุราษฎร์ธานี
นอกจากนี้ มติที่ประชุมใหญ่แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง มีข้อเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาวิกฤตราคายางพารา ประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาล และผู้ส่งออกหามาตรการที่จะทำให้ราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ภายใน 45 วัน โดยเสนอให้รัฐบาลจ่ายชดเชยราคาส่วนต่างแก่เกษตรกรเป็นพันธบัตรรัฐบาล
2.ให้รัฐบาลยกเลิกการขายยางพาราในสต๊อก 2.1 แสนตัน และให้นำยางพารามาใช้ในประเทศ ผ่านช่องทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่นๆ อีกทั้งให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนของชาวสวนยางพาราด้วย เพื่อตรวจเช็กสต๊อกยางพาราดังกล่าว
3.กรณีมาตรการยึดยางพาราคืนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้รัฐบาลปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ข้อ 66 คือ ไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้มีรายได้ต่ำ 4.ให้รัฐบาล และ คสช.แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำยางพารามาใช้เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมต่างๆ ได้
5.จัดตั้งแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางพาราเพื่อดำเนินกิจกรรมเคลื่อนไหว เปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากพี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศเพื่อปฏิรูปยางพาราทั้งระบบโดยความร่วมมือจากสมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดภาคใต้ 14 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี เพื่อหามาตรการระยะยาวที่จะแก้ปัญหาเรื่องราคายางพาราตกต่ำ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคง และความยั่งยืนของอาชีพยางพารา โดยจะร่างเป็น พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ฉบับชาวสวนยางเสนอต่อรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ คสช. ต่อไป และเสนอให้หยุด พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยที่กำลังเสนอเข้า สนช.ทันที
ทั้งนี้ หากข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ ทางแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางประกาศว่าจะมีการรวมตัวกันเพื่อเดินทางไปเรียกร้องตามมาตรการดังกล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป