xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหายางพาราจบยากหาก พ.ร.บ.การยาง มีจุดอ่อน เสียงจาก “กลุ่มจับตานโยบายยาง” (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กำราบ พานทอง ผู้ประสานงานกลุ่มจับตานโยบายยาง
 
การเคลื่อนไหวของเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ เป็นการเคลื่อนไหวที่มีมานาน ปัจจุบัน เกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ได้รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรในนามภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ และแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลเร่งออกนโยบายแก้ไขปัญหาราคายางพาราอยู่ในขณะนี้

“กลุ่มจับตานโยบายยาง” หรือ Rubber Watch เป็นอีกองค์กรที่เกษตรกร นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวในองค์กรพัฒนาเอกชนร่วมกันผลักดันก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการรวมตัวของบุคคลที่เห็นร่วมในสภาพปัญหาผลกระทบของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง อยากเห็นความสอดคล้องสมดุลของคุณภาพชีวิต สุขภาวะชาวสวนยาง สภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชน เห็นร่วมกันว่า ยางพาราคงต้องมีสถานะเป็นฐานเศรษฐกิจที่พึ่งพาได้อย่างเหมาะสมพอดีต่อชีวิตเกษตรกรไทย

“ASTVผู้จัดการภาคใต้” สัมภาษณ์พิเศษ “กำราบ พานทอง” ผู้ประสานงานกลุ่มจับตานโยบายยาง” หรือ Rubber Watch ซึ่งจะเปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ของการตั้งกลุ่ม และกิจกรรมที่กลุ่มจับตานโยบายยางกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
 

   

 
*** กลุ่มจับตานโยบาลยาง มีที่มีที่ไปอย่างไรครับ ในการตั้งกลุ่มขึ้นมา

กลุ่มจับตานโยบายยางเป็นกลุ่มที่เราพึ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตที่เรามองเห็นว่า ขณะนี้กลุ่มของภาคประชาชน เกษตรกรชาวสวนยางที่จัดกระบวนการมาร่วมทั้งสิ้นเกือบ 10 ขบวนแล้วเนี่ยนะครับส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการต่อรอง สวัสดิการ และราคายาง แต่เราเห็นว่ากระบวนเหล่านี้เหมือนไฟไหม้ฟาง

ประวัติการต่อสู้ของพี่น้องชาวสวนยางที่เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ๆ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 เพราะฉะนั้นกลุ่มต่างๆ จัดตั้งขึ้นมาแล้วขาดความต่อเนื่อง หรือเป็นกลุ่มเฉพาะกิจ หรือเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มองว่าอนาคตของยางพาราจะแก้ให้ยั่งยืนได้อย่างไร เราก็คิดว่ามันมีจุดอ่อนอยู่ พอเกิดราคาตกครั้งหนึ่งเราก็ฮือฮากันครั้งหนึ่ง อย่างนี้เราคิดว่าไม่ถูกต้อง เราคิดว่าจุดที่เราจะต้องใช้วิกฤตที่เป็นปัญหาเรื่องราคายางทำอย่างไรให้มันเกิดกระบวนการแก้ปัญหายางที่ยั่งยืน โดยเฉพาะแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตชาวสวนยาง

กลุ่มเราจึงมีนโยบายประมาณ 3-4 เรื่อง เรื่องที่ 1.เราคิดว่าเราจะต้องเน้นทำอย่างไรให้ผู้ที่กำหนดนโยบาย หรือเฉพาะรัฐบาลเห็นว่าการแก้ปัญหาราคายางจะต้องแก้ไขให้ยั่งยืนไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่างที่ 2. ก็คือว่าจะต้องมีการติดตามให้เกิดความต่อเนื่องในมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามจะแก้ไขส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการระยะสั้น 1-3 ปี แต่มาตรการที่ออกมาระยะยาวจะถึงขั้น 10-20 ปี แทบจะไม่มี เราคิดว่าจะต้องมีการติดตามตัวนี้ ประการที่ 3. ก็คือว่าเราคิดว่าเราจะพยายามที่จะผสานทรัพยากรต่างๆ ที่มีเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดปัจจัยสนับสนุนให้เกิดนโยบายของการพัฒนาชุมชนชาวสวนยางที่ยั่งยืน

คือเราแก้อยู่ 3 ตัวนะครับ 1.แก้เรื่องนโยบายของรัฐที่อาจจะเป็นนายกฯ หรือคณะกรรมการยางต่อไปอาจจะเรียกว่า คณะกรรมยางแห่งประเทศไทย ประการที่ 2. คือว่าเราจะแก้ที่กระบวนการวิธีการคิดของพี่น้องเกษตรกรซึ่งเรามองว่าเราเอาตัวตั้งก็คือว่า ชาวสวนยางเป็นตัวตั้งทำอย่างไรพี่น้องถึงจะมาความรู้มีความเข้าใจ และมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์

ประการที่ 3.เราคิดว่าเราจะต้องผลักดันให้เกิดนโยบายการพัฒนาชุมชนชาวสวนยางที่ยั่งยืนในความหมายก็คือ ตั้งแต่ผลิตเรื่องของการแปรรูป เรื่องของการตลาดทำอย่างไรให้เรื่องเหล่านี้ครบวงจร แล้วไม่ใช่ครบวงจรอยู่แค่ผลผลิตจากยาง และไม้ยาง แต่อยากให้ครบวงจรในผลผลิตที่เกิดจากสวนยางซึ่งจะมีทั้งผลผลิตที่ไม่ใช่เนื้อไม้ ไม่ใช่น้ำยาง

อย่างเช่น สมุนไพรพื้นบ้าน ผลไม้พื้นบ้าน ไม้ใช้สอย สิ่งเหล่านี้เราคิดว่ามันเป็นมูลค่าอาจจะมากกว่ายางพารา อย่างจะมากกว่าน้ำยาง และไม้ยางในอนาคต และที่สำคัญก็คือ เรามองว่าอนาคตภาวะโลกร้อนซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับทั่วประเทศทั่วโลกขณะนี้ ยางขณะนี้ไม่น้อยกว่า 22 ล้านไร่ เป็นปริมาณที่มากโดยเฉพาะในภาคใต้มีถึง 60-70% ถ้าเราหันมาทำสวนยางที่ดูแลระบบนิเวศด้วยไม่ใช่เน้นเพียงเศรษฐกิจมันจะช่วยให้สิ่งที่เราเรียกว่า เกษตรยั่งยืนมันกลับมา ระบบนิเวศยั่งยืนจะกลับมา

พี่น้องประชาชนจะไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพน้ำยาง ไม่ต้องกังวลเรื่องของวันเวลาที่กรีดยาง ไม่ต้องกังวลเรื่องต้นทุนในการปลูกยางที่มันอาจจะสูงขึ้นด้วยโรคระบาด อาจจะสูงขึ้นด้วยการชะล้างหน้าดิน อาจจะสูงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฝนของภัยแล้งซึ่งกำลังจะมาในอนาคต นี่คือสิ่งที่กลุ่มเราอย่างจะต่างจากกลุ่มอื่นตรงนี้แหละครับ

 
*** สมาชิกของกลุ่มประกอบด้วยคนกลุ่มไหนบ้างครับ

เริ่มก่อตั้งเนี่ยเราเตรียมทีมที่ขณะนี้ถือว่าเป็นแกนๆ ซึ่งมาจากสามสี่ส่วน คือ ส่วนแรกมาจากนักวิชาการ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่สนใจในเรื่องของทำอย่างไรให้สวนยางมีความยั่งยืน อย่างเช่น วนเกษตรสวนยาง พืชร่วมยาง สวนสมรม หรือเขาเรียกว่าป่าสวนยาง อย่างที่ 2. เป็นกลุ่มของสื่อมวลชน ซึ่งเราคิดว่ากลุ่มนี้ทำอย่างไงจะสื่อสารต่อชุมชนในภาพที่เป็นจริง และนำข้อเท็จจริงเหล่านี้กลับไปสื่อสารแก่ชุมชนให้ได้ โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยขนาดเล็ก

กลุ่มที่ 3. เป็นกลุ่มองค์กรพัฒนาชุมชน ซึ่งเราถือว่ากลุ่มนี้จับในเชิงของการเคลื่อนไหวของพี่น้องกับเชิงนโยบายมาตั้งแต่ต้นโดยเฉพาะทางเลือกอย่างเช่น เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ทั้งของภาคใต้ และ 4 ภาคเครือข่ายเกษตรกรรมสวนยาง ซึ่งพึ่งก่อตั้งเมื่อปีที่แล้วเป็นต้น

กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่เราคิดว่ามีความสำคัญก็คือ กลุ่มพี่น้องเกษตรกรตอนนี้เราดึงแกนนำที่สามารถจะเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรได้มี 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่มของสภาลานวัดตะโหมด จ.พัทลุง ซึ่งทำป่าสวนยาง กับกลุ่มที่ 2 กลุ่มเรียนรู้เกษตรธรรมชาติ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ทั้ง 2 กลุ่มนี้ถือได้ว่าได้บุกเบิกในเรื่องของเกษตรยั่งยืนในสวนยางมาไม่น้อยกว่า 20 ปี เราคิดว่าความสำเร็จทั้ง 2 กลุ่มน่าจะเป็นการนำร่องให้แก่พี่น้องชาวสวนยางอื่นๆ ได้ 4 ส่วนนี้จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ

 
*** แล้วกำหนดรูปแบบการเคลื่อนไหวของกลุ่มอย่างไรบ้างครับ

ตอนนี้เราวางไว้ 3 จังหวะแบบรัฐบาล จังหวะที่ 1.เป็นจังหวะเร่งด่วน หรือที่รัฐบาลมักใช้คำว่าจู่โจมเราคิดว่าภายใน 3 เดือนเราจะต้องสู้ในเรื่องของแก้ไข พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ให้มีเนื้อหาที่สอดคล้องต่อเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในสวนยาง และคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องชาวสวนยาง ประการที่ 2.เราจะสู้ในเรื่องของการขับเคลื่อนให้เกิดการบูรณาการ การแก้ปัญหายางพาราที่ยั่งยืนโดยเฉพาะเราคาดหวังว่าต้องมีเวทีก่อให้เกิดแผนแม่บทที่มาจากพี่น้องประชาชนที่มีส่วนร่วมจริงๆ สำหรับการแก้ปัญหาพี่น้องยางพารา และประการที่ 3.ใน 3 เดือนแรกน่าจะต้องเกิดชุมชนนำร่องซึ่งตอนนี้เริ่มมีอาสามาบ้างแล้วที่จะทำเกษตรอย่างยั่งยืนเป็นตัวอย่างให้พี่น้องชาวสวนยางเพื่อสื่อสารในรูปธรรมจริงๆ นี่เป็นระยะสั้น

ส่วนระยะกลาง เราคิดว่าทำอย่างไรให้เกิดแผนแม่บทระยะ 5 ปีเป็นอย่างน้อยคู่ไปกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ในแผน 11 ระบุ 5% ของพื้นที่การเกษตรจะต้องเป็นเกษตรยั่งยืน แต่ใน 22 ล้านไร่ ของพี่น้องชาวสวนยางมีอยู่ที่ไหนบ้างที่เป็นเกษตรยั่งยืน อย่างน้อยๆ ต้อง 1.1 ล้านไร่ แต่แทบหาไม่เจอเลย มีบ้างนิดๆ หน่อยๆ ในระดับร้อยสองร้อยแต่จะเรียกว่า 5% คงยาก

ประการที่ 2.ที่เราต้องแก้ปัญหาระยะกลางก็คือว่า ทำอย่างไรให้มีความชัดเจนของทิศทางที่เราเรียกว่าเป็นการบูรณาการซึ่งมันอาจจะสะท้อนออกมาในแง่ของวาระการแก้ปัญหาชาวสวนยางอย่างเช่น เราคาดหวังว่าจะเกิดสมัชชาสุขภาวะชาวสวนยางทั่วประเทศ เราคาดว่าในปี 58 ค่อยๆ เริ่มไปภายใน 5 ปี ควรจะต้องเกิดสมัชชาสุขภาวะชาวสวนยางหรือ สมัชชาชาวสวนยางที่เน้นการมองเรื่องสุขภาวะในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

สุดท้ายก็คือ ระยะยาวเราคาดหวัง 20 ปีที่แน่ๆ คือ เราต้องการเพิ่มพื้นที่เกษตรที่ยั่งยืนในสวนยางไม่น้อยกว่า 5% ต่อ 5 ปี เพราะฉะนั้น ในระยะ 20 เราก็คาดหวังว่าไม่น้อยกว่า 20% ในความหมายก็คือว่าพี่น้องควรจะมีเกษตรยั่งยืน หรือป่ายางไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่

เราคาดหวังว่าอีก 20 ปี มันไม่ใช่แค่ 22 ล้านไร่ มันจะเพิ่มเป็นเท่าตัวแต่เราคิดว่าอย่างน้อยๆ 1 ใน 4 มันอย่างจะไม่ใช่ 1 เท่าตัวมันอย่างจะขยายในอีสานมีข้อมูลทางวิชาการถึง 20 ล้านไร่แค่อีสานภาคเดียวไม่รวมถึงภาคเหนือ ภาคตะวันออกไม่คิดภาคใต้ ภาคใต้นี้ก็ 20 กว่าล้านไร่

เพราะฉะนั้น เมื่อรวมกันแล้วถ้า 20 ปีข้างหน้าทวีคูณมันน่าจะได้ผล เราเลยได้คาดหวังว่าอย่างน้อยๆ ประมาณสัก 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 5 ควรจะเป็นเกษตรยั่งยืน นี่ไม่ต้องเพิ่มตัวเลขในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเลยนะครับ เอาตัวเลขเดิม 5% ต่อ 1 แผน นี้แหละอีก 4 แผนได้น่ะครับ 20% นี้เราแทบไม่ต้องทำอะไร แต่ปัญหาก็คือว่ามันมีแต่ตัวเลขในหนังสือ ซึ่งทำมาตั้งแต่แผน 8 สี่แผนแล้วนะครับเรายังไม่เห็นอะไรเลยเพราะฉะนั้นทำอย่างไรมันถึงจะเกิด

 
*** ช่วยสะท้อนภาพกลับไปในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นโยบายที่เกี่ยวกับยางมันก่อให้เกิดปัญหาติดขัดอย่างไร มีความยากลำบากอย่างไรในการประกอบอาชีพของชาวสวนยาง

เราย้อนไปตั้งแต่ปี 45 ในยุคของรัฐบาลของคุณทักษิณ ในรูปของนโยบายของการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน คือ ให้ขึ้นทะเบียนผู้ที่อยู่ในเขตป่าแล้วก็บอกว่าจะต้องแปลงสินทรัพย์เป็นทุนนโยบายตัวนี้สิ่งที่เกิดเป็นภัยมหันต์เลย ตัวที่หนึ่งคือว่า มันเกิดการถางป่า การบุกรุกพื้นที่ปลูกสวนยางเพิ่มในป่าอย่างน้อยๆ 1.ได้สิทธิในการปลูก 2.ได้สิทธิในการเช่า และถูกกฎหมายเฉพาะการบุกป่าในช่วงปี 45 เป็นต้นมา หรือจะนับตั้งแต่ปี 44 จนกระทั่งถึงปี 47 ปี 48 ตัวเลขสูงมาก

ผมยังอาจจะไม่มีตัวเลขมายืนยันแต่อย่างน้อยๆ การเพิ่มสวนยางในพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายเป็นตัวเลขที่สูงมาก เรามองกันถึงว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาหรือเพิ่มปัญหาระยะแรกไม่มีใครเห็นเพราะบอกว่าให้ไปขึ้นทะเบียนของคนที่อยู่ในเขตป่า พอพื้นที่ป่าหายไปการใช้วิธีการเพิ่มให้ได้ 40%โดยการประกาศเขตอุทยานเพิ่มกับเขตรักษาพันธุ์เพิ่มขยายออกไปก็เกิดปัญหาตามมา ก็ถือว่าพี่น้องที่อยู่ในเขตป่าอยู่แล้วก็จะถูกไล่ที่ ถูกจับกุม โดยใช้มาตรา 25 และถูกหาว่าทำลายป่าจริงๆ ก็คือ นโยบายรัฐบาล

ประการที่สอง ที่เกิดผลกระทบตามมาก็คือว่า พี่น้องเริ่มเห็นว่าราคายางในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเฉพาะปีแรกมันสูงมากเกือบ 200 พี่น้องก็เลยบุกในพื้นที่ทำกินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสวนผลไม้ พื้นที่นา เปลี่ยนไปเป็นสวนยางเพิ่มตั้งแต่ 2-80% ของพื้นที่นา ภัยมหันต์ที่เจอคือ 1.เราสูญเสียพื้นที่นา พื้นที่นาลดลงแน่นอนในพื้นที่ภาคใต้ อย่างที่สองก็คือว่า การปลูกที่ไม่ได้วางแผนไม่ได้ออกแบบไม่ได้มีงานวิชาการยอมรับ พี่น้องปลูกไปได้ประมาน 9 ปี กรีดได้ 2 ปี น้ำยางไม่ออกโดยเฉพาะการเลือกพันธุ์ก็ดี การดูแลก็ดี หรือทำเลก็ดีไม่เหมาะสม

ศูนย์วิจัยยางบอกแล้วว่า ทำไม่ได้ถ้าจะทำจริงๆ ต้องวางแผนเรื่องพันธุ์ยาง แต่พี่น้องส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจยกร่องปลูกเพราะฉะนั้นตอนนี้หลายสวนต้องโค่นต้นยางทิ้ง เรายังนึกไม่ออกว่าจะกลับไปทำนาได้อย่างไร ประการที่ 3.สิ่งที่เราเห็นมากคือ พี่น้องยังมีความหวังว่ายางมันจะต้องขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลบอกว่าความต้องการของตลาดยังไม่เต็มไม่มีโอเวอร์ดีมานด์ ตลาดยังต้องการอีกเยอะ

แม้กระทั่งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประชุมอนุกรรมาธิการผู้แทนของอุตสาหกรรมทางด้านยางก็ยังบอกว่าไม่เกินแน่นอน แต่ตรงกันข้ามเมื่อวันที่ 13 เราประชุมเวทียางพารากันที่ ม.อ. พี่น้องที่มีข้อมูลหลายท่านยืนยันว่า ขณะนี้ปริมาณของสวนยางที่เพิ่มขึ้นในอินโดจีน ในพื้นที่เขตอื่นๆ ที่เป็นพื้นที่ยากจนมันมีปริมาณมาก และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเฉพาะมันจะไม่ล้นตลาดได้อย่างไร

ปัญหาประการที่ 1.คือ ปริมาณมันหยุดไม่ได้ 2.เศรษฐกิจทั่วโลกแย่ ความต้องการในการใช้มันลดลง นี่คือปัญหา อย่างน้อย 3 เรื่องสุดท้ายผมคิดว่าไม่มีใครพูดแต่ต้องขอพูดมันเป็นมายาคติที่บอกว่าชาวสวนยางจะต้องรวยตอนนี้ ทุกคนที่สื่อออกไปตอนนี้บอกภาคใต้จะจนได้อย่างไรเป็น เถ้าแก่ทั้งนั้นเลย แต่ขณะนี้ภาคใต้แต่ละคนไม่กล้าไปไหน ไม่กล้าทำอะไรเพราะว่าเงินที่มีอยู่ในขณะนี้ไปยืมล่วงหน้ามาทั้งนั้นเลยเป็นหนี้เป็นสิน

บางรายต้องกรีดยาง 2 รอบต่อวันหน้าแล้งนี้แทบจะไม่มีใครหยุด จากการที่วางแผนกันไว้อีก 2 เดือนข้างหน้าจะเกิดวิกฤตแต่แทบจะไม่มีคนหยุด อายุการกรีดยางก็จะน้อยลงคุณภาพก็แย่ลงซึ่งไม่มีใครรู้ หนี้สินพอกพูนพี่น้องไปดูในยูทิวบ์ได้เลยครับ เพลงที่สะท้อนเรื่องของชีวิตชาวสวนยางภาคใต้ตอนนี้มีเยอะมาก

 
*** ถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้ 10 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

หลายคนตั้งคำถามแบบนี้ต่อนักการเมือง แม้กระทั่งกับพวกเราในเวทีว่ามีความหวังแค่ไหนผมบอกได้เลยครับมีปัจจัยอยู่ 3 ตัว ถ้าปัจจัย 3 ตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็อยู่แบบที่ผ่านมาร้อยกว่าปีไม่มีอนาคตเลย แต่ถ้าปัจจัย 3 ตัวนี้เปลี่ยนยางมีแนวโน้มดีขึ้น

อย่างที่ 1. ก็คือว่าต้องเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในสวนยาง มูลค่าของสวนยางจะต้องเพิ่มขึ้น จากมูลค่าของผลผลิต และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาง และเนื้อยาง 2.วิธีคิดของชาวสวนยางต้องเปลี่ยนต้อง ยอมรับว่าวันนี้เราพึ่งยางได้น้อยลง และแค่เป็นเงินออมสินไม่ใช่รายได้หลักถ้าเราคิดว่าปัจจัยสี่ของเราเป็นเรื่องหลักเราต้องเอาปัจจัยสี่ทั้งหมดจัดไว้ในสวนยางให้ได้ ไม่ใช่ว่าได้น้ำยาง ไม้ยาง แล้วเอาไปแปลงเป็นปัจจัยสี่ ผมคิดว่ามันสวนทางน่ะครับถ้าวิธีคิดนี้ไม่เปลี่ยนชาวสวนยางจะเป็นหนี้ ชาวสวนยางจะมีสุขภาวะแย่ลง ประการที่ 3.ความคิดว่านโยบายของผู้บริหารประเทศเปลี่ยน ขณะนี้เราสู้ในระบบการยางแห่งประเทศไทย แค่เอาแนวคิดว่าขอให้สวนยางปลูกพืชชนิดอื่นได้ ไม่ใช่เพียงความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญระบบพลังงานด้วย ไอ้คำว่าระบบนิเวศเนี่ยเขายังไม่ยอม

กับอันที่ 2.เราขอเปลี่ยนคำว่ารัฐบาลเน้นไม้ยืนต้นตั้งแต่ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางปี 03 ปันจุบันเขียน พ.ร.บ.ใหม่ก็ยังเน้นคำว่าไม้ยืนต้นอยู่แต่เราบอกว่าถ้าจะเปลี่ยนเป็นสวนยางหรือเกษตรยั่งยืนในสวนยางจะต้องใช้คำว่าพืชยืนต้น ในนิยามคำว่าสวนยางเพิ่มเข้าไปซึ่งตอนนี้จะสู้กัน สู้ พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจจะไม่ชนะอาจจะไม่สามารถแก้อะไรได้ แต่ผมคิดว่าจะต้องสู้กับสังคมด้วย ทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจสิ่งที่เราสู้ มันสู้ตั้งแต่วิธีคิดไปจนถึงการเปลี่ยนกฎระเบียบ

 
*** เท่าที่ดูร่าง พ.ร.บ.การยาง มีตัวไหนจุดไหนที่เอื้อต่อการนำไปสู่ความยั่งยืนของชาวสวนยาง และจุดไหนที่ควรจะต้องรีบแก้ไขปรับปรุงหรือนำออกไปจาก พ.ร.บ.

ตอนนี้มีอยู่ 2 จุดที่น่ายินดีถ้าเราไปพลิกดูร่าง พ.ร.บ.แต่เสียดายนิดหนึ่งว่าร่างที่เราดู มีการนำไปให้พี่น้องประชาชนชาวสวนยางทั้งประเทศได้แสดงความคิดเห็นน้อยมากเป็นการหยิบขึ้นมาอย่างรวดเร็วในฉบับเดิม ขณะที่เรากำลังพิจารณาในสภาเป็นฉบับเดิมที่ร่างฉบับแรกๆ ไม่ใช่ฉบับล่าสุด ที่ทาง ส.ว.มีมติให้ตกไป จุดอ่อนอันที่ 1.ก็คือว่าพี่น้องมีสวนร่วมน้อยมากเพราะเป็นร่างเดิมที่แทบจะเรียกได้ว่าร่างหลังๆ ประมาณ 5 ร่าง เขาแก้ไขเอาจุดดีจุดเด่นมาปรับเยอะแล้วแต่ไม่เอา ถอยกลับไปร่างเดิม

อย่างที่ 2.ร่างที่เขียนขึ้นมาด้วยกรอบของพี่น้องซึ่งถือเงินเป็นหลัก เรียกง่ายๆ ว่าใช้เงินภาษีส่งออกเป็นหลัก ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่จะต้องออกแบบให้เกิดความยั่งยืนมีน้อยมาก อันที่ 3.คือองค์ประกอบ และการจัดโครงสร้าง พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นโครงสร้างที่ออกแบบให้เป็นรัฐวิสาหกิจแต่มันลูกผีลูกคน เป็นการผสมระหว่างงานวิชาการ คือ สถาบันวิจัยยาง งานการตลาดคือ องค์กรสวนยาง และตลาดกลางยางพารา กับงานแปรรูปอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน

คือการดึงภาคส่วนที่เป็นอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน เขาเรียกว่าพยายามรวมต้นน้ำ ปลายน้ำ เข้าด้วยกันแต่เป็นการรวมไม่จริง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับยางประมาน 6 ฉบับถูกยุบรวมยกเว้น 1 ฉบับคือ พระราชบัญญัติควบคุมยางไม่ไปแตะเลย ถามว่าเวลาขึ้นทะเบียนพี่น้องชาวสวนยางต้องไปขึ้นกับ พ.ร.บ.ควบคุมยาง การยางแห่งประเทศไทย บอกจะทำยางให้ครบวงจรตอนนี้ไม่จริงจะทำให้ครบวงจรแต่เรื่องเงินจุดอ่อนอีกตัวหนึ่ง

จุดอ่อนตัวสุดท้าย วิสัยทัศน์ไม่เปลี่ยน วิสัยทัศน์ของการกำหนดกรอบในการบริหาร ขณะนี้เราสู้กันในคณะกรรมการที่เขียนไว้เดิม 11 คนตามเงื่อนไขรัฐวิสาหกิจ เราสู้ขอให้ขยายเป็น 15 คนแล้วขอให้มีเกษตรเข้าไป อย่างน้อยตอนนี้สู้ในวาระในชุดของอนุกรรมาธิการ 5 คนขอให้เป็นเกษตรกรโดยมาจากสถาบัน 2 และเกษตรกรชาวสวนยาง 3 ตอนนี้อนุกรรมาธิการที่กำลังพิจารณาอยู่ผ่านให้เราแต่ไม่แน่ใจว่าจะไปจอดตรงกรรมาธิการหรือไม่ จอดที่ สปช. หรือไม่

อย่างที่สองที่เราเห็นว่ากรอบมันแย่ก็คือว่า โครงสร้างของคณะกรรมการโดยตำแหน่งจะสังเกตเห็นว่าโดยตำแหน่ง สภาเกษตรกรเข้าไปไม่ได้นี่คือจุดอ่อนทั้งๆ ที่สภาเกษตรกรจะต้องดูแลลนโยบายทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องการเกษตร อนุกรรมาธิการไม่ให้เข้าไปบอกว่าให้ไปอยู่ในองค์กรเกษตรกรไม่ได้

ประการที่สามคือ ในองค์ประกอบเรื่องการเงินในมาตร 49 ขณะนี้ในโครงสร้างเงินที่จะไปผูกแทนหรือสงเคราะห์เหลือแค่ 40% ที่เหลือจัดสรรไปในเรื่องของการจัดการ งานวิชาการนิดหน่อยแค่ 5% เหมือนเดิม ไปจัดสรรในเรื่องของการแปรรูปมากยิ่งขึ้น ที่เราเป็นห่วงคือว่าจะถึงเกษตรกรจริงๆ สักเท่าไหร่ เพราะแบ่งออกเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ล้วนมีสัดส่วนแต่ละประเภทขึ้นมาอีก นี่คือจุดอ่อนที่เราเห็นภาพ

จุดแข็งที่เราเห็นเด่นๆ คือ 1.โอกาสในภาวะที่ไม่ปกติถ้าทิศทางไปได้ดีโอกาสที่จะมี พ.ร.บ.อย่างรวดเร็วทำได้ อย่างที่ 2. ก็คือในวัตถุประสงค์ที่เราเห็นว่าเหตุใดจึงมี พ.ร.บ.นี้ เขียนว่าจะต้องทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตชาวสวนยางดีขึ้น ทำอย่างไรให้แก้ปัญหาชีวิตชาวสวนยางที่ยั่งยืนที่เขียนในเป้าหมายทิศทางไว้ อีกตัวที่น่าสนใจก็คือ คณะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางส่วนหนึ่งมีโอกาสได้เข้าไป แม้ว่าจะไม่มากนัก ถ้ากรรมาธิการเห็นด้วยในข้อเสนอของอนุกรรมาธิการสัดส่วนที่มากขึ้นเป็นการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในกลไกอนุกรรมาธิการก็ดี ในกลไกของอนุกรรมการจังหวัดก็ดี ที่เราพยายามเสนอเข้าไป เราคิดว่าการมีส่วนร่วมจะมากกว่าเมื่อก่อน ถือเป็นจุดที่ดีแต่นี้คาดหวังได้แค่ครึ่งเดียวเพราะมันยังไม่ผ่าน

สุดท้ายเลยที่เป็นจุดดีที่อาจจะมองเห็นได้ไม่เยอะเหมือนกับจุดอ่อนเรามองว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างน้อยๆ ขณะนี้ทำให้พี่น้องชาวสวนยาง หรือเครือข่ายมีโอกาสได้รวมตัวกันเพราะเขาบอกว่าไม่สามารถแก้ปัญหาราคายางได้ทันทีพี่น้องก็เลยบอกว่า ก็ไม่เป็นไรแต่อย่างน้อยๆ เป็นเวทีที่ให้ได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ขณะนี้เกิดเป็นสมัชชาชาวสวนยางแห่งเปะเทศไทย ซึ่งได้พูดคุยกันเมื่อวันจันทร์ (12 ม.ค.) ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรก เพียงที่จะขอถอน เขาเรียกบัญชีพ่วงท้ายของการพระราชบัญญัติสวนป่า ซึ่งพ่วงในเรื่องของสวนยางให้เป็นบัญชีแนบท้าย เรายื่นไปถึงนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องไปยังทุกส่วนให้กรรมาธิการถอนออก เขาไม่ยอม เขาบอกว่าต้องไปสู้กันใน สนช. ปรากฏว่า ล่าสุดมีข่าวเมื่อวันอังคารที่ 15 ม.ค.ปรากฏมีการถอนแล้วนะครับ พอเรารวมตัวกันจริงๆ มันมีพลังแล้วก็ขอบคุณสื่อที่ได้เอาใจใส่ และนำเสนอเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

 
*** วันนี้ทางกลุ่มจับตานโยบายจะมีการเคลื่อนไหวกันอย่างไรบ้าง

เราตกลงกันไว้ในที่ประชุม 3 เรื่อง เรื่องที่ 1.คือว่าเราจะนำผลจากเวทีซึ่งอาจจะไม่ใช่สงขลา ขณะนี้มีที่พัทลุง สตูล และอาจจะมีที่ 3 จังหวัด รวมทั้งภาคอื่นๆ แต่อย่างน้อยๆ ในช่วงเดือนหน้า 1.เราจะต้องไปยืนข้อเสนอในทันก่อนมีวาระ 2 ไปยื่นประธานกรรมาธิการ ประธานร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย และประธานนิติบัญญัติแห่งชาติ

ประการที่ 2.เราจะต้องประสานกันกับคณะอนุกรรมการเกษตรเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวว่าด้วยอนุการเกษตรเพื่อที่จะให้ทราบว่า เราจะปฏิรูปยางทั้งระบบเป็นงานระยะยาว ประการที่ 3.คือในข้อเสนอเราเชื่อมโยงไปถึงสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของแผนปฏิบัติการในเรื่องเกษตรยั่งยืนที่เหลืออีก 2 ปีของแผน 11 ว่ามันอยู่ตรงไหนบ้างแล้วจะเห็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างไร อย่างน้อยๆ ในเดือนหน้าต้องให้เกิด 3 เรื่องนี้

 

 
*** มีการรวมกับเครือข่ายชาวสวนยางที่มีอยู่แล้วตอนนี้อย่างไรบ้าง อย่างเช่นแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง

แน่นอนครับเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสมัชชาชาวสวนยางแห่งประเทศไทยได้จัดขึ้น และเราถือว่าวันนี้ผมมีโอกาสไปอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการพัฒนาร่างพระราชบัญญัติยางในชุดที่ดูเรื่อง เนื้อหา 40 มาตรา ประชุมทุกวันจันทร์เราก็ได้เอาเรื่องราวของพวกเราไปนำเสนอ พยายามที่จะไปพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้องซึ่งก็มาจากทุกส่วนให้เขาเข้าใจว่าตอนนี้เราคิดอย่างไร

*** อยากจะฝากอะไรไปถึงพี่น้องชาวสวนยาง

อยากฝากจริงๆ 2 เรื่องนะครับ จริงๆ เลยคือ 1.พี่น้องชาวสวนยางครับเปลี่ยนวิธีคิดได้แล้วครับว่า ยางไม่ใช่ทางเลือก และทางออกสุดท้าย แต่ยางที่เป็นทางออกสุดท้ายจะต้องเป็นสวนยางที่เราเรียกว่าสวนยางแบบปัจจัยสี่ สามารถพึ่งปัจจัยสี่ได้นั้นถึงจะเป็นทางออกจริงๆ

ประการที่ 2.ก็คือพี่น้องชาวสวนยางต้องคิดกระบวนการที่จะพึ่งตนเองไม่ใช่แค่น้ำยาง และไม้ยาง รวมทั้งคาดหวังแต่รัฐบาล พี่น้องต้องหันมาตั้งกลุ่มออมทรัพย์ มาจัดการพัฒนาและแปรรูปผลผลิตด้วยตนเอง รวมทั้งจัดการตลาดด้วยตนเองให้ได้แม้จะใช้เวลายาวนานก็ตามต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เปลี่ยนวิธีจัดการตัวเองใหม่ และเปลี่ยนข้อเสนอต่อรัฐใหม่ถึงจะอยู่รอด
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น