xs
xsm
sm
md
lg

วิบากกรรมชาวสวนยุค “ยาง 3 โล 100” ยังยากจบ! จับตาปี’58 ภาพสมรภูมิควนหนองหงส์จะหวนคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานโดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่แจ้งราคายาง ณ วันที่ 19 ธ.ค.2557 ระบุว่า ยางแผ่นดิบมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 45.65 บาท น้ำยางสดกิโลกรัมละ 41 บาท ซึ่งคาดการณ์ว่าราคาน่าจะขยับอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2557 นั่นเท่ากับว่าการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ของเกษตรกรชาวสวนยางในปีนี้อาจจะไม่สนุก หรือไม่มีความสุขเท่ากับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ปี 2557 นับเป็นปีที่ราคายางพาราตกต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะช่วงต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำยางสดตกต่ำลงไปที่กิโลกรัมละ 35 บาท ซึ่งหากพิจารณาจากราคาที่ชาวสวนขายยางได้จริงยิ่งลดลงไปอีก จนมีการขนานนามกันว่าสถานการณ์ยางพาราไทยกำลังเข้าสู่...

“ยุคราคายาง 3 กิโล 100”

ก่อนหน้าที่ราคายางพาราจะดิ่งลงมาถึงขนาดนี้ ทางเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจนถึงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่แตกต่างกันตรงที่ยุค คสช.เป็นใหญ่การประกาศกฎอัยการศึก ทำให้เกษตรกรยังไม่กล้าชุมนุมประท้วงกดดันรัฐบาลจนถึงขั้นปิดถนนเหมือนในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดยการเคลื่อนไหวของภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2557 มีการประชุมกัน ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ภายหลังจากการเสวนาร่วมกว่า 4 ชั่วโมง ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ได้ออกมติที่ประชุมเสวนาในนาม “แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง” จำนวน 5 ประเด็นหลักเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ประกอบด้วย

1) ให้รัฐบาล และผู้ส่งออกยางทำให้ราคายางมีราคาอยู่ที่ 80 บาท/กก.ภายใน 45 วัน โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลจ่ายส่วนต่างให้แก่เกษตรเป็นพันธบัตรรัฐบาล 2) ให้รัฐบาลยกเลิกการขายยาง 2.1 แสนตัน และให้นำยางทั้งหมดนี้มาใช้ในประเทศ ผ่านช่องทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอื่นๆ รวมทั้งให้มีการตรวจสต๊อกยางจำนวนนี้ทั้งหมด

3) กรณีมาตรการทวงคืนสวนยางในเขตป่า ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ที่ 66 4) ให้รัฐบาล และ คสช.แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำยางมาใช้ในทำผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต่างๆ ได้ และ 5) จัดตั้ง “แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง” เพื่อดำเนินกิจกรรมการเคลื่อนไหว และกำหนด พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ฉบับที่เกษตรกรชาวสวนยางเป็นผู้เสนอต่อรัฐบาล และ สนช.

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสนอแถมท้ายด้วยคือ ให้ยุติ และหยุด พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ฉบับที่กำลังเสนอเข้า สนช.โดยทันที

 
หลังครบกำหนด 45 วันนับจากการประชุม ซึ่งตรงกับช่วงที่ราคายางตกต่ำลงมาอยู่ที่ 3 กิโล 100 พอดี แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง นำโดย นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงาน ก็ได้เดินทางมายื่นหนังสือทวงถามคำตอบจากรัฐบาลทันที

ขณะเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวจากชาวสวนยางหลายจังหวัดที่ขู่จะประท้วงรัฐบาลด้วยการปิดถนน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกรณีการประท้วงปิดถนนบริเวณแยกควนหนองหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2556 แต่ภายหลังรัฐบาลได้ส่งตัวแทนลงมาหารือกับแกนนำชาวสวนยางที่ จ.สุราษฎร์ธานี และรับปากว่าจะช่วยพยุงราคายางที่กิโลกรัมละ 60 บาท โดยรัฐจะเป็นผู้ชดเชยส่วนต่าง

แต่มาตรการนี้กลับสร้างความไม่พอใจให้แก่เกษตรกรจำนวนมาก เนื่องจากขณะนี้ยางกว่า 2 แสนตันอยู่ในมือของกลุ่มนายทุนเรียบร้อยแล้ว หากรัฐพยุงราคายางที่กิโลกรัมละ 60 บาท ยางล็อตนี้ก็จะถูกระบายออกมา ผลประโยชน์ก็จะไม่ตกถึงเกษตรกร การเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลจึงยังคงเกิดขึ้นเป็นคลื่นใต้น้ำ

 
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของเกษตรกรชาวสวนยางคือ กรณีของเกษตรกรใน จ.ตรัง ซึ่งนำโดยนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ออกรณรงค์ติดริบบิ้นขาวเป็นสัญลักษณ์ พร้อมปราศรัยโจมตีรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเกษตรกรกลุ่มนี้ยังได้เคลื่อนขบวนไปปราศรัยต่อว่า นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถึงหน้าบ้านพักใน จ.ตรังด้วย

ขณะที่ลูกหลานเกษตรกรชาวสวนยางที่เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มลูกขวานลอยลม ณ สมรภูมิควนหนองหงส์เมื่อปี 2556 ได้โพสต์เฟชบุ๊กเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งแก้ปัญหาของประเทศชาติ ไม่ใช่เอาแต่ออกทีวีประชาสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว ทั้งยังขู่ว่า หากรัฐบาลไม่เร่งยกระดับราคายาง เกษตรกรอาจยกระดับการชุมนุมแล้วอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ตามมาได้ ซึ่งมีเนื้อหาว่า...

“ยางสามโลร้อย นั่งตาละห้อย เหงื่อย้อยง่ามวาน
ถ้ามีเบอร์จะโทรไปถามว่านายกฯ ท่าน แก่ทำไอไหร้
จะกินเกลือกินดิน ชีวิตหมดสิ้น ไม่มีความหมาย
ยางพารามันถูกเกินไป ถ้ากูเป็นควาย คงกินหญ้าไปแล้ว
เจ็ดเดือนผ่านไป มัวทำไหรอยู่
หรือทำเป็นไม่รู้ ไม่ ใช่เรื่องไหรกู มึงเลยไม่สนใจ
ถ้าเป็นผู้นำ ถ้าเป็นนายกฯ แล้วทำตัวไม่สาไหร
ควายบ้านกูก็ไปเป็นได้ ไม่ต้องใช้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

 
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2557 พระปภากโร หรือพระสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.ได้เดินทางมาพบปะญาติโยมที่วัดเนินพิจิตร ต.นาหม่อม อ.นาหม่อม จ.สงขลา พระสุเทพ ได้กล่าวปราศรัยแก่ญาติโยมในทำนองว่า ให้ทุกคนอดทนอย่าออกมาประท้วงเรื่องราคายางในตอนนี้ โดยให้เหตุผลว่า...

เพราะทั้ง กปปส.และ คสช.ล้วนเป็นพวกเดียวกัน

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในขณะนี้ชาวสวนยางจำนวนมากจะเสื่อมศรัทธาทั้งในตัวพระสุเทพ คสช. รัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพวกเขามองว่าไม่ได้มีความจริงใจในการช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวสวนยางแต่อย่างใด

 
ในขณะที่ราคายางดิ่งเหวแบบหัวปักหัวปำแบบสุดๆ ในห้วงปี 2557 ในส่วนของวงการอุตสาหกรรมแปรรูปยางก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และต้องถือเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์วงการยางไทยที่ต้องบันทึกไว้ เมื่อบริษัท เซฟสกิน คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปิดกิจการโรงงานผลิตถุงมือยางในพื้นที่ ต.พะตง อ.หาดใหญ่ และโรงงานที่ อ.สะเดา จ.สงขลา หลังเปิดดำเนินกิจการมานานกว่า 16 ปี

สำหรับบริษัท เซฟสกิน คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มทุนไทย และกลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งในปี 2541 ทุนจดทะเบียน 696.25 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจผลิตและส่งออกน้ำยางข้น และถุงมือยางทางการแพทย์ ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ครั้งแรกในปี 2540 และได้มีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในปี 2550 บริษัท เซฟสกิน คอร์ปอเรชั่น ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากโครงการขยายกำลังการผลิตถุงมือยางเพิ่มเป็น 1,656 ล้านชิ้น มูลค่าการลงทุน 1,125 ล้านบาท แต่ต่อมาบริษัทแห่งนี้กลับประสบภาวะขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2554 จนกระทั่งปิดกิจการในที่สุด

ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า นักลงทุนชาวไทยได้เข้ามาซื้อกิจการผลิตถุงมือยางต่อจากบริษัท เซฟสกิน คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับพนักงานเก่าเข้าทำงาน โดยมีการเปิดรับเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้แรงงานกว่า 3,000 คน ยังคงมีงานทำต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า วงการยางพาราไทยจะเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะนับตั้งแต่ต้นปี 2588 เป็นต้นไป เนื่องจากหลายฝ่ายคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคาน้ำยางสด และยางแผ่นดิบในปีมะแมจะยังคงทรุดตัวต่อไป

ท่ามกลางความเป็นห่วงว่าเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงราคายางแบบ “สมรภูมิควนหนองหงส์” อาจหวนกลับมาอีกครั้งก็อาจเป็นได้
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น