xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางเชียงรายเหลืออด จี้ ก.เกษตรฯ ช่วย-ชี้ราคาท้องถิ่นต่ำติดดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ชาวสวนยางเมืองพ่อขุนฯ เหลืออด เปิดประมูลขายยางกลับได้ราคาต่ำกว่าราคากลางทุกครั้ง ล่าสุดเพิ่งขายยางก้อนถ้วยได้เกิน 20 บาท/กก.เป็นครั้งแรก แต่ยังห่างไกลจากต้นทุนที่แท้จริง รวมตัวทำหนังสือจี้ รมช.เกษตรฯ-รัฐบาล เร่งจัดงบให้ สกย.ซื้อแข่ง-นำยางพาราทำถนนด่วน

วันนี้ (6 ม.ค.) เครือข่ายชาวสวนยาง จ.เชียงราย จัดให้มีการประมูลราคายางพาราของกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จ.เชียงราย เลขที่ 468/121 โครงการบ้านดู่เมืองใหม่ ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย

โดยมีผู้ประกอบการภาคเอกชน 3 รายเข้าร่วมประมูลซื้อยางก้อนถ้วยที่เกษตรกรนำมาประมูลขายรายละตั้งแต่ 1,000-16,000 กิโลกรัม รวมประมาณ 20,000 ตัน ซึ่งพบว่าราคาสูงสุดที่มีการประมูลซื้อคือกิโลกรัมละ 20.90 บาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าราคากลางที่ตั้งเอาไว้ที่ 20.50 บาทเป็นครั้งแรก

นายสุวิทย์ ใหม่ธิ ประธานเครือข่าย กล่าวว่า ราคาประมูลซื้อยางพาราที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากรัฐบาลทุ่มเม็ดเงินลงไปในระบบตามโครงการมูลภัณฑ์กันชนผ่านตลาดกลางทั่วประเทศ 6 แห่ง แต่นโยบายดังกล่าวส่งผลดีต่อยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 และยางแท่งมากกว่า ส่วนยางก้อนถ้วยยังประเมินไม่ได้ว่าจะได้รับผลดีมากน้อย หรือยาวนานแค่ไหน

และแม้ราคาประมูลครั้งนี้จะสูงกว่าที่ผ่านมา ซึ่งเคยประมูลขายได้กิโลกรัมละ 16-19 บาท หรือมักจะต่ำกว่าราคากลาง 2-3 บาททุกครั้ง แต่ข้อเท็จจริงคือราคายางก้อนถ้วยที่จะทำให้เกษตรกรอยู่ได้ คือต้องได้กิโลกรัมละ 30 บาทขึ้นไป

นายสุวิทย์กล่าวว่า ดังนั้น หลังการประมูลขายยางพาราแล้ว ทางเครือข่ายได้ทำหนังสือถึง ดร.อำนวย ปะติเส รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ 5 ข้อ คือ 1. ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณโครงการมูลภัณฑ์กันชนผ่านให้ สกย. มีอำนาจจัดซื้อยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบโดยด่วน 2. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างโรงงานทำยางแท่งในเขตภาคเหนือโดยด่วน 3. ขอให้รัฐบาลมีนโยบายอย่างเร่งด่วนในการนำยางพาราไปทำถนน 4. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา และ 5. ขอให้ผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทยโดยด่วน

“เราจะนำหนังสือนี้ยื่นที่ สกย.เชียงราย จำนวน 1 ฉบับ และยื่นที่สำนักงานเกษตร จ.เชียงราย อีก 1 ฉบับเพื่อให้ไปถึงมือ ดร.อำนวย”

นายสุวิทย์บอกว่า ที่ผ่านมา สกย.มีอำนาจหน้าที่เฉพาะการส่งเสริมการปลูก แต่ไม่มีงบประมาณจัดซื้อหรือประมูลใดๆ จึงถือว่าไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะผู้สนับสนุนควรเข้าถึงเกษตรกรได้มากกว่า เช่น การประมูลยางพาราทุกครั้งเครือข่ายฯ จะให้เอกชนแข่งขันราคากันเอง แต่ถ้า สกย.มีงบประมาณก็สามารถเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งจะกระตุ้นราคาให้สูงขึ้นได้ เป็นต้น ส่วนกรณีเรียกร้องให้ผ่าน พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ก็เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม ในเฉพาะหน้านี้ทางเครือข่ายจะใช้วิธีการประมูลราคายางตามพื้นที่ต่างๆ ไปก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น