xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทักษิณ-เพื่อไทย-เสื้อแดง วอนจนได้ สุดท้ายก็ “รัฐประหาร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงเวลานี้ยังไม่อาจคาดหมายได้ว่าสถานการณ์ของบ้านเมืองจะคลี่คลายตัวไปในทิศทางใด หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ประกาศกฎอัยการศึกเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ที่ประเมินว่ามีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงสูญเสียเลือดเนื้อ และตามมาด้วยการประกาศยึดอำนาจรัฐประหารตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในที่สุด
 
หลังการประกาศกฎอัยการศึก เมื่อเวลา 03.00 น. วันที่ 20 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ได้ออกประกาศและคำสั่งของ กอ.รส. อีกหลายฉบับตามมา โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การกำหนดขอบเขตพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มกปปส. และกลุ่ม นปช. การประกาศปิดสื่อทีวีดาวเทียม 14 ช่อง การห้ามสื่อทุกชนิดเสนอข่าวปลุกระดมให้เกิดความแตกแยก เตือนสื่อโซเชียลมีเดีย ระงับส่งข้อความยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ห้ามครอบครองและพกพาอาวุธ การเรียกข้าราชการให้มารายงานตัว และเรียกคณะบุคคลสำคัญร่วมประชุม ทั้งคณะรัฐบาล, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, กปปส. และนปช.มาประชุมเมื่อวันที่ 21 พ.ค. เพื่อหาทางออกของประเทศ แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ มีการนัดหมายใหม่ในวันรุ่งขึ้น

กระทั่งสุดท้ายดูเหมือนว่าทุกฝ่ายต่างย้ำจุดยืนของตนเองกระทั่งหาทางออกไม่ได้ และทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจประกาศยึดอำนาจในช่วงเวลา 16.30 น. ของวันที่ 22 พ.ค. หลังจากการเข้าหารือรอบสองที่นัดหมายกันในเวลา 14.00 น.
 
หากไล่เรียงเหตุการณ์และปฏิกิริยาหลังการประกาศกฎอัยการศึกและตามด้วยรัฐประหารในครั้งนี้ ช่วงแรกๆ ดูเหมือนว่า ฟากรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และกลุ่มนปช. รวมทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีท่าทีตอบรับและให้การสนับสนุน คล้ายกับมีการเจรจาพูดคุยกันมาก่อนดังที่มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแพล็มออกมาว่าทราบความเคลื่อนไหวของกองทัพตั้งแต่วันศุกร์ (16 พ.ค.) ที่ผ่านมาแล้วว่ามีความเป็นได้สูงที่จะมีการประกาศกฎอัยการศึกและทราบแน่นอนชัดเจนในช่วง 20.00 - 21.00 น. ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ จะออกประกาศกฎอัยการศึก เมื่อเวลา 03.00 น. ของวันที่ 20พ.ค. 2557

ทักษิณ สั่งสู้
 
ในวันที่ 21 พ.ค. พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์@ThaksinLive ระบุว่า "การประกาศกฎอัยการศึกถือเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ สำหรับผู้ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยตลอดช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผมหวังว่าจะไม่มีฝ่ายใดก่อให้เกิดการลิดรอนสิทธิมนุษยชน และบ่อนทำลายกระบวนการทางประชาธิปไตยมากยิ่งไปกว่านี้ ซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยถูกบ่อนทำลายในสายตาของชาวโลก"
 
เวลานั้น มีข่าวลือสะพัดว่าคนในตระกูลชินวัตรและแกนนำพรรคเพื่อไทยบางส่วนหลบเข้าเซฟเฮาส์หรือเดินทางออกนอกประเทศเพื่อความปลอดภัย โดยมีรายงานว่า นายสมชาย และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เดินทางไปยังกัมพูชาเยี่ยมลูกสาวและลูกเขย ขณะที่คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ และบุตรทั้ง 3 คน ไม่ได้พักบ้านจันทร์ส่องหล้า ถนนจรัญสนิทวงศ์ 69 แต่หลบไปพักยังเซฟเฮ้าส์แห่งหนึ่ง ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางคนได้หลบไปยังแนวตะเข็บชายแดนแถวภาคเหนือ ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางไปพักแถวแนวชายแดนแล้วเช่นกัน แต่ข่าวนี้ทางนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาปฏิเสธ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนแต่อย่างใด

หลังจากสงวนท่าทีเหมือนเห็นด้วยและสนับสนุนในช่วงแรกเพียงไม่นาน ความก็แตกโดยแหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในการเจรจาระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับคณะบุคคลสำคัญฝ่ายต่างๆ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสนอเงื่อนไข 3 ข้อ ไปยังพรรคเพื่อไทย คือ 1. ให้ ครม.ลาออกทั้งคณะ 2. ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมา และ 3. นปช. และกปปส. ยุติการชุมนุมทั้งคู่ แต่เมื่อแกนนำพรรคเพื่อไทยได้นำข้อเสนอของกองทัพไปหารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้รับการปฏิเสธทั้งหมด พร้อมทั้งให้พรรคต่อสู้อย่างถึงที่สุดและผลักดันเลือกตั้งให้เร็วที่สุด และพ.ต.ท.ทักษิณ ยังเสนอเงื่อนไขกลับไปยังกองทัพอีกด้วยว่า ควรจะมีการนิรโทษกรรมทุกฝ่ายพร้อมกันให้หมด และตระกูลชินวัตรก็พร้อมที่จะวางมือทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน 

นั่นเป็นสัญญาณ ทักษิณ สั่งสู้ และทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจเข้าควบคุมสถานการณ์อย่างเบ็ดเสร็จก่อนที่ตนเองจะถูกจัดการเสียก่อน

รัฐบาลรักษาการ ท้าทายอำนาจ
 
สำหรับท่าทีของฝ่ายรัฐบาลรักษาการ เริ่มจากนายนิวัติธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ที่เก็บตัวอยู่ครึ่งค่อนวันหลังการประกาศกฎอัยการศึก ก็ออกข่าวผ่านเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.20 น. ของวันที่ 20 พ.ค. 2557 ว่า การประกาศกฎอัยการศึกเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็วนั้น รัฐบาลก็มีความมุ่งหวังที่จะเห็นความสงบเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน โดยการดำเนินการจำเป็นต้องเป็นไปตามแนวทางสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่เลือกปฏิบัติ และให้มีความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินการของกองทัพบกดังกล่าว จะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ตอกย้ำท่าทีตอบรับของรัฐบาลในการประกาศกฎอัยการศึกของฝ่ายทหารในทำนองเดียวกันว่า การประกาศกฎอัยการศึก โดยพล.อ.ประยุทธ์ นั้นเป็นไปตามอำนาจทางกฎหมาย ทางทหารสามารถประกาศใช้ได้เองและรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว ซึ่งทางกองทัพน่าจะมีการพิจารณาแล้วว่าสถานการณ์ในประเทศไทยมีความจำเป็นจึงประกาศใช้กฎอัยการศึก ทั้งนี้ทางกองทัพได้รายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็วแล้วจึงเป็นไปตามกฎหมายไม่มีอะไรน่าห่วง
 
เช่นเดียวกับท่าทีของนายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ออกมาบอกว่า รัฐบาลไม่รู้สึกกังวลใจภายหลังการประกาศกฎอัยการศึก เชื่อว่ากองทัพมีการประเมินสถานการณ์แล้ว และเป็นการเข้ามาทำงานแทนศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เพื่อควบคุมให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี ไม่ให้เกิดความรุนแรง และเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์ จะไม่เปิดทางให้วุฒิสภาได้ดำเนินการเสนอชื่อตั้งนายกฯคนกลาง และมองว่าผบ.ทบ.จะมีข้อยุติที่ไม่นำไปสู่ความวุ่นวาย

กระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ เรียกประชุมหัวหน้าหน่วยงาน ส่วนราชการ องค์กรอิสระและภาคเอกชน เพื่อชี้แจงแนวทางปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึกในช่วงบ่าย โดยขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงโดยเร็ว ป้องปรามการชุมนุมของทั้งสองฝ่ายให้เป็นไปด้วยความสงบ และสั่งให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หยุดการข่มขู่ฟ้องคดีต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในข้อหากบฏ ส่วนการเลือกตั้งถ้ายังทำไม่ได้ก็ยังไม่ควรจัดเพราะจะมีการเผชิญหน้ากันเกิดบาดเจ็บล้มตาย นั่นแหละ นายนิวัฒน์ธำรง จึงค่อยเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ในเวลา 16.30 น. เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติของรัฐบาล โดยพรรคร่วมรัฐบาลนั้นมีเพียงนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เข้าร่วม ขณะที่รัฐมนตรีจากพรรคอื่น ติดภารกิจและไม่รู้ว่าจะมีการประชุม
 
นายนิวัฒน์ธำรง แถลงหลังประชุมครม.ว่า ผบ.ทบ.ทำหนังสือชี้แจงการประกาศใช้กฎอัยการศึกให้ทราบแล้ว โดยเห็นว่าทุกฝ่ายและกองทัพน่าจะมีการหารือกันเพื่อความสงบสุข รัฐบาลต้องทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มที่ต่อไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
 
“ด้วยความมุ่งหมายไม่ให้เกิดการสูญเสียและเกิดการเผชิญหน้า และเกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองถือเป็นสิ่งที่ดี และเชื่อว่ากองทัพจะทำไปตามกรอบของกฎหมายนิติรัฐนิติธรรม” นายนิวัฒน์ธำรง ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นผลดีหรือผลลบต่อรัฐบาล
 
การประชุมครม.นัดพิเศษนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะปลด ผบ.ทบ. ออกจากตำแหน่งด้วย แต่นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวปฏิเสธ ไม่ได้มีเรื่องนั้น เป็นเพียงข่าวลือ
 
ต่อมา เมื่อเวลา 20.20 น. กำลังทหารประมาณ 15นาย พร้อมอาวุธประจำกาย เข้าควบคุมพื้นที่ด้านหน้าสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม (สป.กห.) ภายหลังจากที่ นายนิวัฒน์ธำรง และคณะ ใช้พื้นที่แถลงข่าวประชุมครม.เมื่อช่วงเวลา 19.00 น. โดยมีกระจายกำลังโดยรอบด้วย คาดว่ากำลังราว 40-50 นาย บรรยากาศตึงเครียด เนื่องจากเจ้าของพื้นที่ไม่พอใจการเข้าพื้นที่โดยไม่แจ้งล่วงหน้า อีกทั้งกำลังที่เข้าควบคุมพื้นที่แจ้งว่ามาหาข่าวการปลด ผบ.ทบ. ทำให้เกิดการโต้เถียงกันเล็กน้อย ก่อนที่ชุดควบคุมพื้นที่จะถอยร่นออกมาสังเกตการณ์โดยรอบแทน และในวันต่อมา รัฐบาลก็เปลี่ยนที่ทำงานรัฐบาลชั่วคราวจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม(สป.กห.) เมืองทองธานี มาเป็นที่กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ แทน
 
กระแสข่าวการปลดพล.อ.ประยุทธ์ และการถูกตอบโต้จากฝ่ายทหาร ทำให้การออกคำสั่งของผบ.ทบ. ที่เรียกตัวแทนรัฐบาล โดยให้นายนิวัฒน์ธำรง นำรัฐมนตรี 4คน เข้าร่วมประชุมกับ กอ.รส. ในวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น ได้รับการปฏิเสธแบบนิ่มๆ โดยนายนิวัฒน์ธำรง ได้โทรศัพท์แจ้งให้พล.อ.ประยุทธ์ ทราบว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้เพราะติดภารกิจ และขอส่งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม, นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์, นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิชย์รมช.ศึกษาธิการ เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม และการหารือรอบสองในวันที่ 22 พ.ค. นายนิวัฒน์ธำรง ก็ปฏิเสธการเข้าเช่นกัน และนั่นทำให้นายนิวัฒน์ธำรง รอดพ้นจากการถูกควบคุมตัว
 
เพื่อไทย กร้าว ซัด พล.อ.ประยุทธ์

ส่วนท่าทีของพลพรรคเพื่อไทย หลังจากเงียบสงบติดตามสถานการณ์มาตลอดวัน พอถึงช่วงเย็นก็ออกแถลงการณ์ซัด พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งข้อสงสัยกฎอัยการศึกขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยแกนนำพรรคเพื่อไทย นำโดยนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรค และนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ กรรมการกิจการพรรค ร่วมกันอ่านแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยถึงกรณีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
 
นายโภคิน เป็นตัวแทนในการอ่านแถลงการณ์ของพรรคว่า การประกาศกฎอัยการศึกน่าจะมีปัญหาว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 188 และพ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 2 และมาตรา 4 หรือไม่ เพราะตามกฎหมายที่ว่านั้นจะต้องทำเป็นประกาศพระบรมราชโองการ
 
นอกจากนี้ แม้จะเป็นเจตนาที่จะแก้ปัญหาและนำประเทศไปสู่ภาวะปกติ แต่จะต้องเป็นไปโดยสุจริตและทำให้ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ การประกาศกฎอัยการศึกนั้นนานาประเทศให้ความสนใจและมีความกังวลเป็นอย่างมาก อาทิ สหรัฐอเมริกาตั้งความหวังว่ากองทัพบกจะรักษาเกียรติยศแห่งคำมั่นสัญญา ที่จะกระทำการระยะสั้นครั้งนี้เพียงเพื่อระงับสถานการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และไม่มีการทำลายสถาบันประชาธิปไตย ทุกฝ่ายจะร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจา อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงท่าทีดังกล่าวเพื่อไม่ให้นานาชาติเข้าใจผิดว่าเป็นการรัฐประหาร ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อประเทศอย่างใหญ่หลวง
 
นายโภคิน กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยขอเสนอให้ผู้รับผิดชอบประกาศกฎอัยการศึกดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง เป็นธรรม และตรงไปตรงมากับบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรใดก็ตามที่มุ่งล้มล้างการปกครองด้วยการข่มขู่ คุกคามบุคคลในรัฐบาล การทำร้ายประชาชน ข่มขู่ที่จะตัดสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งการกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพื่อสถาปนาความสงบเรียบร้อยและนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วต่อไป
 
"พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญยังใช้บังคับอยู่ตามปกติ จึงไม่มีกรณีใดๆ ที่วุฒิสมาชิกบางส่วนหรือกลุ่มบุคคลใดจะผลักดันให้มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีนอกรัฐธรรมนูญได้ รวมทั้งขอเรียกร้องให้รัฐบาล กกต. และผู้รับผิดชอบประกาศกฎอัยการศึกรีบหารือกันโดยเร่งด่วนเพื่อหาทางออกของประเทศตามหลักประชาธิปไตยด้วยการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็ว และขอให้ทุกพรรคการเมืองและทุกฝ่ายเข้าร่วมในการเลือกตั้ง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ยุติการใส่ร้ายป้ายสี และสร้างความโกรธแค้นชิงชัง เพื่อให้สังคมเกิดสันติสุขอย่างแท้จริง" แถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย ระบุ
 
การตั้งข้อสงสัยในการประกาศใช้กฎอัยการศึกว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ของพรรคเพื่อไทยนั้น มีการเปิดประเด็นตั้งแต่ช่วงเช้าโดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์เฟซบุ๊ค Chaturon Chaisang ระบุว่า “พฤษภาคม 2557 การประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ใช่ทางออกจากวิกฤตของประเทศ ……
 
"นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยด้วยว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกในครั้งนี้มีเหตุผลเพียงพอและสอดคล้องกับเจตนาของกฎหมายนี้เองหรือไม่ กฎหมายนี้มีไว้ใช้เมื่อมีสงครามหรือมีเหตุจลาจล มีความจำเป็นที่ใดก็ประกาศที่นั่น แต่จังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้มีเหตุความจำเป็นดังกล่าว การประกาศจึงไม่สอดคล้องกับเจตนาของกฎหมาย และการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ได้เกิดจลาจลซึ่งก็คือพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่พึงได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญโดยไม่มีเหตุผลความจำเป็นรองรับ
 
"ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึกมาตรา 2 ระบุว่าจะต้องมีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึก แต่ที่ประกาศกันไปนี้ ยังไม่เห็นมีประกาศพระบรมราชโองการแต่อย่างใด
 
“การประกาศใช้กฎอัยการศึกครั้งนี้จึงมีปัญหาทั้งในเรื่องความมีเหตุผล ความจำเป็นและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคือปัญหาความชอบธรรมของการประกาศและยังมีปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย"

นับเป็นปฏิกิริยาที่ท้าทายอย่างไม่กลัวเกรงของพรรคเพื่อไทย หลังจากได้รับสัญญาณสั่งสู้จากเจ้าของพรรคตัวจริงจากต่างประเทศ
 
เสื้อแดง แข็งขืน
       
สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช. ที่ปักหลักชุมนุมบริเวณถนนอักษะ ซึ่งประกาศกร้าวในจุดยืนของการชุมนุมไม่เอารัฐประหารและรัฐบาลเถื่อนนั้นไม่ได้เกินความคาดหมาย เพราะหลังจากมีการประกาศกฎอัยการศึก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. พร้อมแกนนำ ได้แถลงท่าทีโดยมีสาระสำคัญ คือ นปช.ยังยืนยันจุดยืนเดิมไม่เปลี่ยนคือ เดินหน้าเรื่องการเลือกตั้งต่อไป และเรียกร้องให้ผบ.ทบ. หากต้องการให้บ้านเมืองสงบ ก็ขอให้ยึดหลักประชาธิปไตย ทำการตกลงสัตยาบรรณร่วมกัน ระหว่างพรรคการเมือง กลุ่มมวลชน ในการเดินหน้าเลือกตั้ง แต่หากไม่พร้อม ก็ขอเสนอให้ทำประชามติให้ประชาชนตัดสินใจเลือกว่าจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง
       
 “พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำเนินการได้หากเดินตามระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ แต่หากทำเกินจากนี้ ขอเตือนเลยว่าจากที่พล.อ.ประยุทธ์ คิดจะแก้วิกฤต แต่อาจจะกลับมาสร้างวิกฤตให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นนปช.จะขอติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่หากมีการก้าวสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยหรือรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ คนเสื้อแดงจะไม่ยอม จะสู้จนถึงที่สุด เพราะเรามีหน้าที่รักษาระบอบประชาธิปไตย แต่หากทุกอย่างคลี่คลายจบด้วยระบอบประชาธิปไตย เราก็พร้อมที่จะยุติการชุมนุม”
 
นายจตุพร ยังบอกพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ ชี้ว่าการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ผิดกฎหมาย เพราะการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรต้องเป็นพระบรมราชโองการ เพียงแค่รายงานให้รัฐบาลรับทราบจึงไม่ใช่ทำให้การประกาศกฎอัยการศึกถูกต้อง ดังนั้นถ้าพล.อ.ประยุทธ์ต้องการใช้กฎอัยการศึกมาแก้ไขปัญหาประเทศตามที่ประกาศไว้การดำเนินการของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องถูกต้องก่อน ควรให้นายทหารพระธรรมนูญหรือฝ่ายกฎหมายของกองทัพดำเนินการให้ถูกต้องถ้าคำสั่งไม่ชอบมาตั้งแต่ต้น การยกเลิก ศอ.รส. ก็ต้องมีปัญหา หรือคำสั่งอื่นๆ ไม่ถูกต้อง เหมือนการสั่งให้นายธาริตเพ็งดิษฐ์  อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เลิกดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องยกเลิกกฎหมายอาญาก่อน
 
“….. การประกาศใช้กฎอัยการศึกครั้งนี้จึงไม่ชอบ ด้วยพ.ร.บ.กฎอัยการศึกซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรีบแก้ไข เพราะถ้ายังเดินหน้าต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ จะกลายเป็นกบฏในราชอาณาจักรเสียเอง ผมชี้ช่องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อไป ซึ่งผมไม่ทราบว่าใครเป็นคนวางแผนในเรื่องนี้จึงไม่ศึกษากฎอัยการศึกให้ถ่องแท้ ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ไปดูว่าการประกาศกฎอัยการศึก โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ จอมพลถนอมกิตติขจร อดีตนายกฯ เป็นพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ทั้งสิ้น โดยมีจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในกรณีที่มีการประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร……” นายจตุพรกล่าว
 
นายจตุพร กล่าวอีกว่า สถานการณ์เวลานี้ทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ เพราะคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเขารู้ว่านี่ไม่ใช่เพียงแค่การประกาศกฎอัยการศึก หลายเรื่องราวยิ่งกว่าการรัฐประหาร การปิดกั้นสื่อหรือการประกาศห้ามไม่ให้นักวิชาการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ เท่ากับพาประเทศไทยถอยหลังเข้าคลอง …..การปิดปากนักวิชาการที่เขามีสิทธิแสดงความคิดเห็นนั้น ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการรัฐประหารซ่อนรูปเกิดขึ้นมาแล้วไม่ใช่การประกาศใช้กฎอัยการศึก….”
 
ไม่เพียงแต่ประธาน นปช. ออกมาตั้งคำถามกับพล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น ภายหลังจากที่ กอ.รส.มีคำสั่งระงับการออกอากาศของสถานีทีวีดาวเทียม 14 แห่ง ซึ่งรวมทั้งทีวีดาวเทียมเอเชียอัพเดทที่ถ่ายทอดสดการชุมนุมของนปช.ที่ถนนอักษะด้วยนั้น ปรากฏว่า เมื่อสถานีดังกล่าวถูกระงับได้มีการลักลอยโยกย้ายไปใช้เว็ปไซต์ ยูทิวบ์ ของสมาชิกชื่อ fazhi2006 ทำการถ่ายทอดแทน โดยเมื่อเวลา 13.00 น.ของวันที่ 20 พ.ค. 2557  พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ แกนนำคนเสื้อแดงได้ขึ้นเวทีปราศรัยมีการยุยง ปลุกปั่น ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าลักษณะการถ่ายทำรวมถึงภาพกราฟิกมีลักษณะคล้ายกับช่วงเดียวกับที่ยังถ่ายทอดสัญญาณตามปกติ

นอกจากนั้น ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช.ที่สงบเงียบในช่วงแรกเมื่อประกาศกฎอัยการศึกก็มีการเคลื่อนไหวท้าทายในหลายพื้นที่ โดยกลุ่มนปช. ที่ภาคอีสาน เช่น ที่จังหวัดนครราชสีมา ยืนยันจะเดินทางเข้าร่วมชุมนุมกับมวลชนที่ถนนอักษะโดยใช้วิธีเดินทางแบบดาวกระจายหลบเลี่ยงการถูกสกัดกั้น ส่วนที่จังหวัดอุบลราชธานี มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มชักธงรบ จ.อุบลราชธานี ร่วมกันจุดไต้ที่หน้ามณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อำเภอวารินชำราบ เพื่อประท้วงการประกาศใช้กฎอัยการศึก ที่เป็นการปิดหู ปิดตา ประชาชน โดยเฉพาะคำสั่งปิดวิทยุชุมชนในพื้นที่ เช่นเดียวกับที่ จ.เชียงราย ที่มีพ่อค้าแม่ค้ากว่า 20 คน รวมตัวบริเวณอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช เขตเทศบาลนครเชียงราย เพื่อต่อต้านประกาศกฎอัยการศึก เนื่องจากเห็นว่า เป็นสิ่งไม่จำเป็น และลิดรอนสิทธิของประชาชน

อาการที่เอาไม่อยู่จากการประกาศกฎอัยการศึกของผบ.ทบ.เพราะไม่มีใครฟังใคร ซ้ำยังดูท่าว่าหากปล่อยไปก็ยิ่งสร้างเงื่อนไขให้เกิดความวุ่นวายไม่รู้จบ สุดท้ายพล.อ.ประยุทธ์ จึงเลือกรัฐประหารควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
 

กำลังโหลดความคิดเห็น