xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“รัฐประหาร” ผ่าทางตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังกองทัพบกโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก ตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ภายใต้รหัส “ออกมาแสดงพลัง” พร้อมออกคำสั่งควบคุมการออกอากาศของฟรีทีวี-ปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม 10 สถานี ยุบ “ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.)” และตั้ง “กองอำนวยการรักษาความสงบ(กอ.รส.)” ขึ้นมาทำหน้าที่ พร้อมเรียกประชุมปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรเอกชน อธิการบดีมหาวิทยาลัย และผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ

จากนั้นก็ตามมาด้วยการที่ พล.อ.ประยุทธ์อาสาทำหน้าที่เป็น “ท้าวมาลีวราช” ได้เรียกคู่ขัดแย้งทั้งสองขั้วคือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ฝ่าย กปปส. ฝ่ายเสื้อแดง รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวม 7 ฝ่ายมาเจรจาความเมืองเพื่อหาทางออกให้ประเทศต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 21-22 พฤษภาคม 2557

ในเบื้องแรกสังคมเต็มไปด้วยความหวังว่า การเจรจาหาทางออกของประเทศจะดำเนินไปด้วยดี แต่ปรากฏว่า ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิกิริยาจาก “นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งส่งสัญญาณไม่ยอมถอย ในที่สุดประเทศไทยก็ถึงทางตัน และทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจทำ “รัฐประหาร” ในช่วงเย็นของวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

แน่นอนว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจทำรัฐประหารและสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ด้วยการตั้ง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็ต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร

กฎอัยการศึกHAPPY ทั้ง กปปส-นปช.

ก่อนที่สถานการณ์จะถึงทางตันและสุดท้ายนำไปสู่การทำรัฐประหารของกองทัพนั้น ต้องบอกว่า สถานการณ์ของประเทศไทยได้เดินทางมาถึงทางตันและไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในเบื้องแรก พล.อ.ประยุทธ์ได้ตัดสินใจประกาศอัยการศึกเมื่อเวลา 03.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557

ทั้งนี้ เสียงตอบรับที่ออกมาจากทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสีไหน องค์กรใดก็ดูเหมือนว่าเป็นไปในทางที่ไม่ได้ต่อต้านปฏิบัติการของกองทัพในครั้งนี้แต่อย่างใด โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงในทางเปิดเผยที่มิได้มีความเคลื่อนไหวอะไรที่ต้องจับตา

แน่นอน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะทุกฝ่ายมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์ของประเทศมาถึงทางตันจริงๆ และถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ย่อมหนีไม่พ้นที่จะเกิดความรุนแรง เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง โดยที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ประโยชน์จากสถานการณ์เยี่ยงนี้ ดังนั้น เมื่อกองทัพบกตัดสินใจเข้าคลี่คลายสถานการณ์ให้พอได้โล่งอกและได้หายใจหายคอบ้าง จึงทำให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความสงบ

เสื้อแดงก็ยอมรับได้เพราะไม่ใช่การรัฐประหาร ทำให้มีข้ออ้างกับมวลชนของตนเองได้ โดยเฉพาะน้ำเสียงของนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร ที่มิได้ขัดข้องกับการประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้ และที่ต้องขีดเส้นใต้คือการประกาศกฎอัยการศึกไม่ได้ทำให้เสื้อแดงแพ้

“การประกาศกฎอัยการศึก เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ สำหรับผู้ที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอด แต่ขอร้องอย่าให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายประชาธิปไตย เพราะจะเป็นการทำลายภาพพจน์ของประเทศ ”นช.ทักษิณทวิตข้อความผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ @ThaksinLIVE

กปปส.ก็ยอมรับได้เพราะนอกจากสามารถรักษาชีวิตของมวลมหาประชาชนแล้ว ยังทำให้ความร้อนที่สุมอยู่ในตัวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ลดอุณหภูมิลงไปกว่าครึ่งอีกด้วย

“ผมดูทีวีนักข่าวถามว่าประกาศอัยการศึกบอกรัฐบาลหรือยัง เห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบว่า รัฐบาลอยู่ไหนล่ะ ขอโทษเถอะตั้งแต่คบกันมาพูดได้สะใจก็วันนี้ ผมนึกในใจหากสู้ไม่ชนะจะเดินไปมอบตัวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่รู้จักกัน ผมรู้สึกรัก พล.อ.ประยุทธ์เพิ่มกว่าเดิม 120 เท่า และขออนุญาตบอกรัก พล.อ.ประยุทธ์” เลขาธิการ กปปส.กล่าวอย่างอารมณ์ดีบนเวทีปราศรัย

เผลอๆ อาจจะเป็นทางลงที่ดีของทั้งสองม็อบที่เตรียมติดดาบปลายปืนเข้าใส่กันเสียด้วยซ้ำไป สังเกตได้จากปฏิกิริยาบนเวทีของทั้งสองฝ่าย และการที่ทั้ง สองฝ่ายยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนกลางในการเจรจาความเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557

ขณะที่ภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจก็ยอมรับได้ ดังเสียงตอบรับที่ออกมาจากหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ที่สำคัญคือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์เลือกประกาศกฎอัยการศึกซึ่งมิใช่การทำรัฐประหารเต็มรูปแบบทำให้นักประชาธิปไตยจ๋าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะมหามิตรของคนเสื้อแดง มหามิตรของทหารอย่างสหรัฐอเมริกาไม่สามารถมีข้ออ้างได้อย่างเต็มปากเต็มคำนักในการต่อต้าน เพียงแต่ส่งสัญญาณว่า ขอให้ประกาศใช้เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เฉกเช่นเดียวกับ จีน-พี่ใหญ่แห่งเอเชียที่นอกจากไม่มีปฏิกิริยาในทางลบแล้ว ยังมีท่าทีที่เข้าอกเข้าใจในสถานการณ์ทางการเมืองของไทยได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความสุข สดชื่นดังกล่าวก็ดำรงอยู่ได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เนื่องเพราะปรากฏว่า ผลของการเจรจากับทุกฝ่ายเป็นไปได้วยความล้มเหลว

คุยไม่รู้เรื่อง “บิ๊กตู่” ลุยรัฐประหาร

ทั้งนี้ หลังการประกาศกฎอัยการศึก ความเคลื่อนไหวที่สำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์มีอยู่ 2 เหตุการณ์ด้วยกัน

เหตุการณ์แรกคือ การเรียกหัวหน้าส่วนราชการและองค์กรต่างๆ มาประชุมรับทราบเหตุผลในการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และในการแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ในวันนั้น ก็พอจะเห็นเค้าลางได้ว่า ประเทศไทยนับจากนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการเลือกตั้ง

ภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ระบุชัดเจนถึงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งว่า หากเลือกตั้งไม่ได้ก็ยังไม่ควรจัด เพราะหากมีการเลือกตั้งก็จะมีการเผชิญหน้ากันจะมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งแปลได้ว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ การเลือกตั้งก็จะไม่เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ในระหว่างการแถลงข่าว พล.อ.ประยุทธ์ยังแสดงให้เห็นสถานภาพของความเป็นรัฐบาลรักษาการที่ “นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” ทำหน้าที่แทนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เอาไว้อย่างชัดเจนในระหว่างการตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องรัฐบาลรักษาการว่า “ตอนนี้รัฐบาลอยู่ที่ไหน แต่ถ้าทำงานได้ก็ทำกันไป ประเทศชาติก็ต้องทำงาน ตอนนี้ขอให้ข้าราชการประจำกับทหารทำงาน ผมไม่ไปยุ่งกับใคร ไม่ไปยุ่งกับรัฐบาล”

นี่คือประเด็นสำคัญ

และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็มีการคาดหมายกันว่า ความเป็นได้สูงที่จะเกิดรัฐบาลคนกลางหรือรัฐบาลเฉพาะกิจที่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศกฎอัยการศึก และเชื่อได้ว่า ช่องทางที่จะนำไปสู่รูปธรรมได้ มีความเป็นไปได้สูงที่ใช้ช่องทางของวุฒิสภาและได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่ประคับประคองบ้านเมืองก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในขั้นตอนถัดไป

แต่การจะทำให้เป็นความจริงได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเจรจาของทั้งสองฝ่ายเพื่อหาบทสรุปในลักษณะที่ “วิน-วิน” ไปด้วยกัน ซึ่งประเด็นอยู่ที่ว่า ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันได้หรือไม่ และผลออกมาจะเป็นไปในรูปใด เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจที่มีขอบข่ายอำนาจหน้าที่และระยะเวลาที่ชัดเจน ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีและใครจะเป็นรัฐมนตรี หรือจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง โดยกำหนดวันและเวลาที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ เพราะ กปปส.และ นปช.ต้องมีคำตอบเพื่อไปอธิบายกับมวลชนของตัวเอง

สอดรับกับความเคลื่อนไหวของ “วุฒิสภา” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางไหนในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 โดยปัจจัยชี้ขาดว่าจะ “กล้าพอ” ที่จะเดินหน้าหรือไม่ คงต้องรอดูว่า “คนกลาง” ที่รับหน้าที่ “เคลียร์” ทุกฝ่ายที่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะปฏิบัติภารกิจเจรจาต่อรองสำเร็จหรือไม่ ดังเช่นที่ “นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย”ว่าที่ประธานวุฒิสภาให้สัมภาษณ์เอาไว้ชัดเจนว่า “ขอดูสถานการณ์ 2-3 วันก่อนว่าฝ่ายความมั่นคงจะหาทางออกให้กับประเทศได้หรือไม่ ถึงเวลานี้ต้องช่วยกันบ้าง บางครั้งต้องลดละและถอยกันบ้าง ทุกอย่างยึดหลักการของตนเองไม่มีวันจบ จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ก็วนอยู่อย่างนี้ ปัญหาไม่จบ อยากวิงวอนให้ทุกฝ่ายหันมาพูดกัน วุฒิสภายินดีเป็นคนกลางประสานความขัดแย้ง อยากให้ทุกฝ่ายเสียสละเพื่อประเทศ นักการเมืองที่ดีต้องรู้จักเสียสละ มีจริยธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ”

จากนั้นก็เกิด เหตุการณ์ที่สอง ตามมาในวันรุ่งขึ้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์อาสาทำหน้าที่เป็น “ท้าวมาลีวราช” โดยเรียกคู่ขัดแย้งทั้งสองขั้วรวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวม 7 ฝ่ายมาเจรจาความเมืองเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งกันสื่อมวลชนให้ออกมาจากวงเจรจา

ทั้งนี้ ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ, ตัวแทนวุฒิสภา ประกอบด้วย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา และนายพีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2, ตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นายประวิช รัตนเพียร นายบุญส่ง น้อยโสภณ และนายภุชงค์ นุตราวงศ์, ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รองหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์, ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายจุติ ไกรฤกษ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์, ตัวแทน กปปส.ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข และตัวแทน นปช.ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง

การเจรจาในวันนั้น ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ฝากการบ้าน 5 ข้อให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายไปหาบทสรุปกันมาก่อนที่จะนัดหมายให้มีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

การบ้าน 5 ข้อที่ว่านั้นประกอบไปด้วย

1.การปฏิรูปจะทำอย่างไร จะปฏิรูปก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง

2.รัฐบาลรักษาการหรือรัฐบาลเฉพาะกาลจะได้มาอย่างไร

3.ควรจะมีการทำประชามติหรือไม่

4.การสร้างบรรยากาศเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งจะทำอย่างไร

และ 5.ขอให้ผู้ชุมนุม กปปส.และ นปช.ยุติการชุมนุมเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย สามารถนำไปสู่บรรยากาศการเลือกตั้งที่สำเร็จได้

แน่นอน คนที่เป็นปัญหามากที่สุดก็คือ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” เพราะหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ให้การบ้าน 5 ข้อ รายงานข่าวก็ระบุชัดว่า นายใหญ่คนเสื้อแดงมีคำสั่งให้สู้เต็มที่

รูปธรรมที่ชัดเจนคือการที่ “นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่ยอมร่วมวงเจรจาครั้งที่ 2 ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมประกาศชัดเจนว่าการลาออกกระทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังประกาศชัดเจนด้วยว่า การเลือกตั้งคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
  
“รัฐบาลนี้ไม่ได้มีตำแหน่งถาวร เพียงอยู่ในสถานะรักษาการเท่านั้นตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภา ตำแหน่งรัฐมนตรีหายไปแล้วถ้าจะให้ลาออกอีกก็ไม่รู้จะลาออกอย่างไร ขณะเดียวกัน ตามมาตรา 181 และมาตรา 182 กำหนดให้ ครม.ที่เหลือทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดถาวร มาทำหน้าที่ ถ้าเราไม่ทำก็ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผิดกฎหมาย และสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม” นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ไม่เดินทางไปร่วมหารือกับกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ที่สโมสรทหารบก พร้อมยืนยันว่า ไม่สามารถยอมรับข้อเสนอเรื่องการลาออกเพื่อเห็นแก่ประเทศชาติได้

ด้วยเหตุดังกล่าวแนวทางที่มีการคาดหมายกันว่ารัฐบาลจะลาออกเพื่อเปิดทางให้มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มนั้นอาจจะไม่สามารถทำได้อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการ

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวกับที่ประชุมว่า สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เป็นห่วง ที่ไม่สามารถปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไป คือความขัดแย้ง ที่จะไม่ให้ยืดเยื้อต่อไปโดยไม่มีทางออก ตนพร้อมทำทุกอย่างร่วมกับทุกเหล่า เพื่อให้เกิดสันติสุขโดยเร็ว

“ทุกคนไม่ต้องเป็นกังวลแทนผม ตอนนี้ผมประกาศแล้วเป็นผู้รับผิดชอบทุกประการ ผมรู้สึกว่าผมเกิดแผ่นดินนี้ ก็จำเป็นต้องหาความสงบสุขให้แผ่นดินนี้ เพราะผมเป็นหนี้บุญคุณแผ่นดิน สิ่งที่ทำวันนี้ คือยึดความมั่นคงที่มีความเกี่ยวพันเกี่ยวข้องหลายมิติ หากก้าวล่วงไปกับใครบ้าง ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย ยืนยันผมให้เกียรติทุกฝ่ายเสมอ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมครั้งที่ 2 ทางกองทัพได้จัดกำลังทหารเข้ามาดูแลภายในตัวอาคารสโมสรกองทัพบกที่ใช้เป็นสถานที่หารือจำนวนมาก และแต่ละคนจะพกอาวุธประจำกาย ขณะเดียวกันบรรดาเสนาธิการทหาร ก็ได้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ขณะที่วันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา แม้จะมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำการในอาคารแต่ก็ไม่มีการพกพาอาวุธ และแต่ละเหล่าทัพก็มีเพียงผู้นำ หรือตัวแทนเหล่าทัพบางคนเท่านั้น

นอกจากนี้ก่อนการหารือยังได้มีการขอเก็บเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดของผู้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากการหารือเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ได้มีภาพภายในห้องประชุมออกไปเผยแพร่ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยากให้มีภาพในลักษณะดังกล่าวหลุดออกไปอีก และได้กันผู้ติดตามให้ไปรอผู้ร่วมประชุมอีกชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตามเมื่อการประชุมเริ่มขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายเสนอแนวทางตามที่ได้ให้การบ้านไปก่อนหน้านี้ โดยแต่ละฝ่ายก็ยังคงนำเสนอแนวทางในมุมของตัวเองซึ่งเห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศแล้ว เมื่อแต่ละฝ่ายไม่มีจุดร่วมที่ตรงกัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอพักการประชุม และเชิญ แกนนำฝ่าย นปช. และ กปปส. ไปหารือร่วมกันอีกห้องหนึ่ง ประมาณ 45 นาที เมื่อกลับมาที่วงหารือแล้วก็ยังได้เชิญเฉพาะ นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธาน นปช. และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ไปพูดคุยกันส่วนตัวประมาณ 1 นาที ก่อนที่จะกลับมาที่วงหารือและได้สอบถาม นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาล ว่าตกลงรัฐบาลยืนยันไม่ลาออกทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช้หรือไม่ ซึ่งนายชัยเกษม ระบุว่านาทีนี้ไม่ลาออก พล.อ.ประยุทธ์ จึงบอกว่า “ถ้างั้นตั้งแต่นาทีนี้ ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง”

จากนั้นก็ได้เชิญ ตัวแทน ส.ว. และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกจากที่ประชุม โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้แต่ขอให้ยังอยู่ในพื้นที่สโมสรทหารบกเพื่อรอเคลียร์บุคคลไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากพื้นที่ก่อน ส่วนตัวแทนจากฝ่ายอื่นๆ ก็ได้ถูกควบคุมตัวไปยังสถานที่สถานที่หนึ่ง

ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวไปประกอบด้วย 1.ฝ่ายรัฐบาล นายชัยเกษม นิติสิริ, นายวราเทพ รัตนากร, นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย,

2.พรรคเพื่อไทย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์, นายภูมิธรรม เวชยชัย, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์

3.พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายจุติ ไกรฤกษ์, นายศิริโชค โสภา, นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ, นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์

4.กปปส. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์, นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข

5.นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง

ในที่สุด เมื่อเวลา 16.59 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ,พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย แถลงการณ์ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ความว่า

ตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศหลายๆ พื้นที่ เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัว จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวมนั้น

เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16.30 น.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทุกคนอยู่ในความสงบ ดำเนินวิถีชีวิตและประกอบอาชีพต่อไปตามปกติ ให้ข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการดังที่เคยปฏิบัติ

สำหรับข้าราชการทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ส่วนราชการต่างๆ ที่มีอาวุธเพื่อใช้ในราชการของหน่วย ห้ามเคลื่อนย้ายกำลังและอาวุธโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับคำสั่งจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่เพียงผู้เดียว

สำหรับคณะทูตานุทูต สถานกงสุล องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งชาวต่างประเทศที่พำนักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะได้ให้ความคุ้มครอง และขอยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ยังเป็นไปตามปกติ ตามที่รัฐบาลชุดเดิมดำเนินการไว้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะยึดมั่นในความจงรักภักดี และจะปกป้องเทิดทูนดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจประชาชนชาวไทย และทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง

ประกาศ ณ วันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557

จากนั้นได้มีประกาศของ คสช.แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)

เมื่อสถานการณ์เข้าสู่โหมดของการรัฐประหาร คงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปว่า คณะ คสช.บ้านเมืองไทยจะดำเนินไปอย่างไร


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ










กำลังโหลดความคิดเห็น