xs
xsm
sm
md
lg

การตัดสินใจ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ทำไมจึงมีข้อเรียกร้องให้วุฒิสภาดำเนินการเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยเร็ว?

ก็เพราะประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจจำกัดมาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ไม่อาจแก้ปัญหาของประเทศชาติได้ และตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อประเทศไทยไร้นายกรัฐมนตรีอันเนื่องมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2557 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ดังนี้

1. ให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 182 (7) เพราะกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 และไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้อีก

2. ให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีที่อยู่ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เพราะกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 และไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้อีกเช่นกัน

3. คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันทั้งคณะจึงพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180 (1) แต่เฉพาะรัฐมนตรีที่ไม่ได้อยู่ร่วมในการประชุมเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 คงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 181

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับวินิจฉัยว่าจะต้องกระทำอย่างไรต่อไป แต่ก็เป็นที่ปรากฏชัดเจนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคสองว่าจะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ทันที โดยให้ดำเนินการตามมาตรา 172 โดยอนุโลม

“ในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 (1) (2) (3) (4) (5) (7) หรือ (8) ให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และมาตรา 173 โดยอนุโลม” (มาตรา 180 วรรคสอง)

“ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา 127...” (มาตรา 172 วรรคแรก)

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคสองนี้ตราไว้เพื่อแก้ปัญหากรณีที่คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเพราะเหตุที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะเหตุต่างๆ ตามมาตรา 182 เท่านั้น

ไม่ได้รวมเหตุคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเพราะเหตุยุบสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรครบอายุ

เพราะแม้ในมาตราต่อไปคือมาตรา 181 จะบัญญัติรองรับไว้ในทุกกรณีที่คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ให้คณะรัฐมนตรีนั้นยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็จริง

แต่การที่คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182 จะมีผลที่แตกต่างออกไป

เพราะคณะรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งเพื่อรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะไม่มีนายกรัฐมนตรี

การมีแต่รัฐมนตรีที่ขาดนายกรัฐมนตรีย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างใหญ่หลวง

ดังนั้นมาตรา 180 วรรคสองจึงบัญญัติทางออกของปัญหาไว้ให้ดำเนินการเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายใน 30 วันนับแต่เกิดเหตุคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ปี 2476 จนถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 มีเหตุการณ์นายกรัฐมนตรีลาออก คณะรัฐมนตรีทั้งคณะลาออก หรือความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง จำนวนทั้งสิ้นก่อนหน้านี้ 11 ครั้ง และทุกครั้งมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่โดยเร็ว เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญในขณะนั้น

เหตุการณ์ 2 ครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 นี่เอง

แต่ปัญหาก็คือขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ที่จะดำเนินกระบวนการตามมาตรา 172

และสถานการณ์ล่าสุด ณ วันนี้ แนวโน้มที่จะมีสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วยังไม่เห็น เพราะยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะตราขึ้นได้ในเร็ววัน เพราะกกต.ยังคงมีความเห็นทางกฎหมายแตกต่างกับรัฐบาลใน 2 ประเด็นสำคัญ

และโดยความเป็นจริงของสถานการณ์การเมือง หากแม้นผ่านอุปสรรค 2 ประการนี้จนกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ได้ ก็หาได้มีหลักประกันว่าจะสามารถดำเนินกระบวนการเลือกตั้งทั่วไปจนสำเร็จทุกขั้นตอนจนสามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 172 ได้

หนทางที่จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยกระบวนการเลือกตั้งทั่วไปจึงแทบเป็นไปไม่ได้

แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ถึงกับจะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว

เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานเท่าไร

และคุ้มกับความเสียหายของประเทศชาติทุกด้านที่เกิดขึ้นทุกวันหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘แทบเป็นไปได้’ และ ‘เป็นไปไม่ได้’ มีความสำคัญอย่างยิ่ง และอาจสำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจ

เพราะโดยโครงสร้างของระบอบการเมืองและโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ถือการเลือกตั้งเป็นหลัก ถือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก ถือสภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาหลัก

และต้องไม่ลืมว่า ณ วันนี้ประเทศไทยยังคงอยู่ในบังคับของพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 มาตรา 3

“ให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่”


แต่สถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นต่อหน้าทำให้วุฒิสภาไม่อาจนิ่งดูดายได้ จึงต้องเปิดประชุมเพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยมีกระบวนการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง

หนึ่งในข้อเสนอคือขอให้วุฒิสภาดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว

โดยอาศัยความในรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ประกอบมาตรา 3 มาตรา 122 และมาตราอื่นๆ วุฒิสภาซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยและเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติองค์กรเดียวที่เหลืออยู่ย่อมสามารถเข้ามาดำเนินการเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้

“ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (มาตรา 7)

คำว่า ‘กรณีใด’ ในมาตรา 7 ปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันคือการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 180 วรรคสองประกอบมาตรา 172

การตัดสินใจ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา (ตอนที่ 2)
กำลังโหลดความคิดเห็น