xs
xsm
sm
md
lg

“คณะรัฐมนตรี” อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีกไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

บทความทางวิชาการ
ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ
อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

10 พ.ค. 57

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหากับคณะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในกรณีใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นั้น คณะรัฐมนตรีโดยนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ถึงการที่คณะรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไป กับมีข่าวทางสถานีโทรทัศน์ซึ่งได้ออกข่าวในทำนองยืนยันว่าคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญได้รับรองให้คณะรัฐมนตรีที่เหลือที่ไม่ได้ร่วมลงมติให้การย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ามารับหน้าที่นั้น

การออกข่าวของสื่อมวลชนและการออกมาแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของอดีตรองนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำเพื่อแสดงให้เห็นถึงสิทธิและเสรีภาพของคณะรัฐมนตรีที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปโดยผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพของคณะรัฐมนตรีที่จะใช้อำนาจในการปกครองประเทศต่อไป และในขณะเดียวกันคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ จะต้องมีคณะรัฐมนตรีมาปกครองโดยเป็นคณะรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้หรือไม่

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจนำมาใช้บังคับให้คณะรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้โดยตรง โดยคณะรัฐมนตรีมีความผูกพันที่จะต้องใช้บังคับกฎหมายและตีความกฎหมายทั้งปวงว่า คณะรัฐมนตรีมีสิทธิตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ จริงหรือไม่ คณะรัฐมนตรีไม่อาจอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งต่อไปโดยไม่ตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นได้ แต่อย่างใดไม่

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการอยู่ในตำแหน่งของคณะรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีนำมาอ้าง เพื่อใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งที่จะจัดการเลือกตั้งนั้น จึงผูกพันองค์กรตามรัฐธรรมนูญคือ คณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะต้องตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียก่อนว่า คณะรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะจัดการเลือกตั้งได้จริงหรือไม่ รวมทั้งผูกพันหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการใช้บังคับกฎหมายและตีความกฎหมายว่า คณะรัฐมนตรีที่จะอยู่ในตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีสิทธิที่จะได้รับเงินเดือนได้หรือไม่ และฯลฯ การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐโดยตรงที่จะใช้บังคับกฎหมายและตีความกฎหมายทั้งปวงได้ แต่หากองค์กรหรือหน่วยงานดังกล่าวไม่กล้าใช้บังคับกฎหมาย หรือตีความกฎหมายทั้งปวงได้ก็ชอบที่จะร้องต่อศาล เพราะศาลก็มีความผูกพันที่จะต้องตีความการใช้บังคับกฎหมายตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีนี้ไว้โดยชัดแจ้งถึงการตีความและการใช้บังคับรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ซึ่งสรุปได้ว่า

(1) รัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคหนึ่ง (1) บัญญัติให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182

(2)ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า มาตรา 181 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ารัฐมนตรีตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่


ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12- 13/2551 เรื่องประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2551 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมชายซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง โดยยืนยันในหลักการเดียวกันว่า รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 และคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ารัฐมนตรีตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงมีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งที่เป็นอยู่จริงเท่านั้นที่จะอยู่ในตำแหน่งเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะเป็นคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยเป็นคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อนายกรัฐมนตรียุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐมนตรีทั้งคณะที่อยู่ในตำแหน่งก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น เป็นคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วทุกคน และไม่มีตำแหน่งที่จะพ้นได้อีก รัฐธรรมนูญมาตรา 181 จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีที่เคยพ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ ทั้งมาตรา 181 เป็นบทบัญญัติที่เป็นบทบังคับ โดยรัฐธรรมนูญใช้คำว่า “ต้อง” อยู่ตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เป็นบทบังคับนั้นจะต้องตีความโดยเคร่งครัด จะตีความในทางขยายอำนาจไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นคณะรัฐมนตรีที่ได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วเพราะเหตุยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จึงไม่ใช่เป็นคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งได้อีก ซึ่งจะอ้างมาตรา 181 เพื่อให้ตนเองได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้ การอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญในหมวด 3 ว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ทั้งไม่ใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็น “คณะรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญในหมวดอื่น การที่คณะรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งต่อไปย่อมเป็นการกระทำที่เข้าข่ายของการเป็นบุคคลที่ใช้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการกระทำของนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ โดยใช้สถานะหรือตำแหน่งของความเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 266 , 267 ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180 วรรคหนึ่ง(1) นั้น เป็นคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับสถานภาพในคุณสมบัติของรัฐมนตรีทั้งคณะ( Eligibility ) อันเป็นเหตุทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 180 วรรคหนึ่ง ได้นั้น เพราะ “คณะรัฐมนตรี” ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้วมีความหมายเป็น “สถาบัน”ตามมาตรา 171 ซึ่งบัญญัติว่า “ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน” “ คณะรัฐมนตรี” จึงเป็น “ สถาบัน” และไม่ใช่เป็นปัจเจกบุคคล ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 , 180 , 181 , 182 ดังนั้นคณะรัฐมนตรีบางคนที่ไม่ได้ร่วมลงมติ และศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยถึงนั้น จึงไม่มีสิทธิ อำนาจและหน้าที่ที่จะอยู่ในตำแหน่ง หรือเรียกร้องที่จะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ได้แต่อย่างใดไม่

การที่อดีตรัฐมนตรีบางคนที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าได้ร่วมกระทำผิด เพราะได้ร่วมลงมติย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ด้วยขณะอยู่ในตำแหน่งของ “คณะรัฐมนตรี” แต่กลับแสดงออกที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปโดยอ้างการดำรงตำแหน่งในขณะกระทำความผิดนั้น
เป็นคนละตำแหน่งในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคือ ในขณะกระทำความผิดอยู่ในตำแหน่งหนึ่งซึ่งพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอยู่ในอีกตำแหน่งหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน จึงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้นั้น การกระทำความผิดของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญในกรณีนี้เป็นการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ซึ่งบัญญัติว่า “ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ ” มาตรา 268 เป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ห้ามเด็ดขาดมิให้กระทำ จึงเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของการเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนได้กระทำความผิดแล้ว นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ได้กระทำความผิดนั้นจึงขาดคุณสมบัติของการเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เมื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียังคงดำรงตำแหน่งใน “ คณะรัฐมนตรี” อยู่ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ความเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีของผู้กระทำความผิดจึงสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดใน “ คณะรัฐมนตรี” ก็ตาม เพราะขาดคุณสมบัติของความเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแล้วตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182 จึงเกิดผลในทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคแรก (1) ทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งในทันที เพราะสถาบันคณะรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติที่จะเป็น “คณะรัฐมนตรี” ได้อีกต่อไป การที่คณะรัฐมนตรี (บางคน) ประสงค์จะอยู่ในตำแหน่งเพื่อที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่แทนนั้น คณะรัฐมนตรี (บางคน) จะต้องไปใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้วินิจฉัยก่อนว่า จะมีสิทธิที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้หรือไม่ เพราะการอยู่ในตำแหน่งต่อไปของคณะรัฐมนตรีก็จะเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำอันเป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ตลอดจนขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ได้

กล่าวโดยสรุป คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจทำให้คณะรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป คณะรัฐมนตรีจะต้องไปใช้สิทธิทางศาลให้ตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อนว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นได้รับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของคณะรัฐมนตรีให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น