xs
xsm
sm
md
lg

สภาทนายความออกแถลงการณ์หนุนว่าที่ ปธ.วุฒิฯ ตั้งนายกฯ ม.7

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ และกรรมการบริหารสภาทนายฯ เปิดเผยว่า ทางสภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ว่า รักษาการนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีทั้งคณะ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจนหมดอำนาจบริหารไปแล้ว รวมทั้งกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้มี พ.ร.ฎ.ยุบสภาไป เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จึงปรากฏความจริงว่า ในการใช้อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎรได้ยุติลงแล้วโดยสิ้นเชิง วุฒิสภาจึงมีหน้าที่อย่างสำคัญในการสร้างสมดุลของอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความมั่นคงของชาติอย่างต่อเนื่องตลอดไป โดยอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในมาตรา 132 (2) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานวุฒิสภาหรือรองประธานวุฒิสภาผู้ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาซึ่งเป็นกฎหมายอนุบัญญัติรองจากรัฐธรรมนูญ คือการพิจารณาแต่งตั้งผู้มาดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งอื่นก็เป็นตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงชอบที่จะนำมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยกรณีนี้ได้ เพราะทางนิติศาสตร์นั้นการใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายต้องให้มีผลบังคับตามหลักนิติธรรมและหลักเกณฑ์สากล จึงไม่มีกรณีใดที่จะให้ประเทศชาติตกอยู่ในสภาวะไร้ฝ่ายบริหารและสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ประธานวุฒิสภาหรือรองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา จึงต้องปฏิบัติดังนี้
1.ในขณะที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและไม่มีนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภาหรือรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ตามมาตรา 132 (2) ประกอบกับมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ต้องกราบบังคมทูลขอพระราชทานแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร
2.รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาตามข้อบังคับ ข้อ 11 ของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2551 ต้องรีบหารือประธานองคมนตรีเพื่อขอให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและขอพระราชทานให้เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาเพื่อคัดสรรและแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติก่อนจะมีการเลือกตั้ง
3.สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองตลอดเวลา เพราะกลไกของการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครองตามมาตรา 7 ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีส่วนร่วมและไม่ได้ทรงเข้ามาวินิจฉัยในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด แต่เป็นหน้าที่ของประธานวุฒิสภาหรือรองประธานวุฒิสภาในขณะนี้ที่ต้องกระทำเพื่อเติมเต็มสุญญากาศของการไม่มีนายกรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับภารกิจที่ต้องสร้างความมั่นคงของชาติและความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และการลงทุนของภาคธุรกิจทั้งประเทศ รวมทั้งการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงการได้มาซึ่งสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในโอกาสต่อไปให้สอดคล้องกับวิธีการเลือกตั้ง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น