xs
xsm
sm
md
lg

ถ่านไฟร้อนในมือประธานวุฒิ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

พูดกันตรงๆ ว่าตอนนี้กำนันสุเทพกำลังหาทางออกให้ตัวเองด้วยการกดดันให้ว่าที่ประธานวุฒิสภา นำรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ในขณะที่ยังมีข้อถกเถียงกันทางกฎหมายว่าทำได้หรือไม่

ผมก็เลยมานั่งไล่ข้อกฎหมาย หลังจากศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายิ่งลักษณ์ให้พ้นจากตำแหน่ง มีการอธิบายว่า ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตราไหน แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดของตัวบท คนที่ไม่ได้เปิดรัฐธรรมนูญก็คงจะไม่เข้าใจ ผมจะลองเรียบเรียงตัวบทกฎหมายมาให้ง่ายแก่การเข้าใจ

ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าความเป็นรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีที่ร่วมมีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1 (7) อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3)

มาตรา 266 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้ (2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ (3) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา 268 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 182 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (7) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267 มาตรา 268 หรือมาตรา 269

จากนั้นเมื่อย้อนไปที่มาตรา 180 วรรค 2 เขียนไว้ว่า ในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 (1) (2) (3) (4) (5) (7) หรือ (8) ให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และมาตรา 173 โดยอนุโลม

มติศาลรัฐธรรมนูญออกมา 9-0 ผมไม่ได้ยินนักวิชาการฝ่ายเสื้อแดงออกมาเถียงเลยว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นธรรม เพราะโดยข้อเท็จจริงนั้นรู้อยู่แล้วว่า การโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ก็เพื่อให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เครือญาติ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทีนี้กฎหมายบอกว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงตามมาตรา 182 ย้อนไปมาตรา 180 บอกว่า ให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และ มาตรา 173 โดยอนุโลม

ไปดูว่า มาตรา 172 และความหมายของคำว่า “โดยอนุโลม” คืออะไร

มาตรา 172 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา 127

การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง

มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย

ส่วน “โดยอนุโลม” ความหมายในทางกฎหมายก็คือ “โดยเทียบเคียง” นั่นเอง

กฎหมายเขียนไว้ชัดนะครับว่า เมื่อความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ต้องสรรหานายกรัฐมนตรีใหม่ภายใน 30 วัน ฝ่ายกำนันสุเทพ และผู้สนับสนุน กปปส.ก็อ้างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า จะต้องตั้งนายกฯ ภายใน 30 วันนี่แหละครับ

แต่ฝ่ายที่โต้แย้งบอกว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ห้ามวุฒิประชุมระหว่างยุบสภา ยกเว้น 3 เรื่อง คือ การตั้งผู้สำเร็จราชการ, แก้กฎมณเฑียรบาล, ประกาศสงคราม/ตั้งบุคคลตามรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ/ถอดถอนบุคคล และอ้างมาตรา 171 และมาตรา 172 ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.ต้องให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ และต้องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ตอนนี้ไม่มี ส.ส.

ฝ่ายสนับสนุน กปปส.ก็อ้างว่าเมื่อเลือกตั้งไม่ได้ก็มี ส.ส.ไม่ได้ ดังนั้นจึงเข้ามาตรา 180 ที่บอกว่า ให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และมาตรา 173 โดยอนุโลม สามารถอนุโลมให้ประธานวุฒิซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่เหลืออยู่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ โดยอ้างมาตรา 7 ที่ว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาปรับใช้

ในแง่กฎหมายจึงมีความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่ แต่ถึงตอนนี้กำนันสุเทพและส.ว.ฝ่าย กปปส.กำลังกดดันให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภานำรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ

โยนถ่านไฟร้อนๆ ไปอยู่ในมือของว่าที่ประธานวุฒิ

ล่าสุดอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ระบุว่า มาตรา 7 ไม่ได้ให้อำนาจในการตั้งนายกรัฐมนตรี ที่พูดๆ กันว่านายกฯ ตามมาตรา 7 น่าจะเป็นการพูดตามๆ กันมา เอาโก้เข้าว่า มาตรา 7 เป็นเรื่องที่ใช้ในเวลาที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่าไว้โดยตรง ก็ให้ใช้ตามประเพณีการปกครองฯ ส่วนจะนำไปสู่การทำอะไรบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะทำอะไร

จากนั้นอาจารย์มีชัยขยายเพิ่มเติมว่า มาตรา 7 ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติที่ให้ตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่เป็นบทบัญญัติที่จะต้องใช้เมื่อไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบัญญัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเรื่องอะไร ยกตัวอย่างเช่น เลขานุการ ศอ.รส. เกิดทำระเบิดหลุดมือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จนรัฐมนตรีตายกันหมด การจะดำเนินการต่อไปอย่างไรเมื่อเกิดเหตุเช่นนั้น ก็จะพบว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติ ก็ต้องไปพึ่งพาบริการของมาตรา 7 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นมันอยู่ที่ตอนนี้รัฐมนตรียังตายไม่หมดสิครับ

บอกตรงๆ นะครับว่า ผมเองก็อยากให้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่เร็วๆ เพื่อให้รัฐมนตรีผีหัวขาดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ยังรักษาการอยู่พ้นไปจากตำแหน่งเร็วๆ และประชาชนที่ออกมาต่อสู้จะได้เดินหน้าปฏิรูปการเมืองก่อนจะมีการเลือกตั้งแบบที่ประชาชนที่ออกมาร่วมต่อสู้กับ กปปส.คาดหวัง

แต่การจะมากดดันให้ว่าที่ประธานวุฒิสภานำรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ในขณะที่ยังมีข้อขัดแย้งกันทางกฎหมายก็เป็นสิ่งที่ไม่บังควรกระทำไม่ใช่หรือ

เพราะนั่นเท่ากับเป็นการผลักภาระให้พระมหากษัตริย์เลือกข้างระหว่างความขัดแย้งของพสกนิกรทั้งสองฝ่าย และหากทูลเกล้าฯ ขึ้นไปแล้วไม่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมาคนที่ต้องรับผิดชอบคือว่าที่ประธานวุฒิสภาไม่ใช่กำนันสุเทพ

ผมว่า อย่าใช้เส้นทางนี้เพื่อให้ได้นายกฯ คนใหม่เลยครับ ทำตามที่กำนันประกาศเถอะครับว่า ถ้าวุฒิสภาเลือกนายกฯ คนใหม่ไม่ได้มวลมหาประชาชนจะจัดการเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น