ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) มีประเด็นของคำวินิจฉัยที่น่าสนใจ 2 ประเด็นด้วยกันคือ ประเด็นแรก การย้ายดังกล่าวศาลมีความเห็นว่า เป็นการกระทำที่เอื้อต่อเครือญาติ และประเด็นที่สอง การย้ายดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งและไม่สามารถรักษาการได้ เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1ย้ายเอื้อเครือญาติ
การกระทำของผู้ถูกร้อง(นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองในทางการเมือง เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นเครือญาติของผู้ถูกร้อง เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อันเป็นการก้าวก่าย แทรกแซง การบรรจุ แต่งตั้ง การโยกย้าย และการให้ข้าราชการประจำพ้นจากตำแหน่งโดยตรง เนื่องด้วยปรากฏข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไปว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นพี่ชายของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของผู้ถูกร้อง และเป็นลุงของหลานอา ของผู้ถูกร้อง ย่อมถือว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นเครือญาติของผู้ถูกร้อง จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และของประชาชนแต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาอำพราง หรือแอบแฝง เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง อันเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรม คุณธรรม และความถูกต้องชอบธรรม ในการใช้อำนาจหน้าที่ ภายใต้วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้บริหารงานบุคคลภาครัฐไว้ ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า บริหารบุคคลโดยระบบคุณธรรม ราชการต้องปฏิบัติต่อข้าราชการด้วยระบบบริหารทรัพยากรบุคคลที่คำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ปราศจากอคติ และมีความเป็นกลางทางการเมือง
เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดีประกอบกันแล้ว เห็นว่า การดำเนินการแต่งตั้ง โยกย้าย และให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่ง เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเดียวกัน และมีความเชื่อมโยงกันกับการบรรจุแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อันแสดงให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีวาระซ่อนเร้น โดยที่ผู้ถูกร้องได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปแทรกแซงและก้าวก่ายการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง และเป็นไปประโยชน์ของผู้อื่น คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นเครือญาติของผู้ถูกร้อง อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3)
สำหรับข้ออ้างที่ผู้ถูกร้องได้อ้างในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นการกระทำตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้นั้น เห็นว่ามิได้เป็นไปตามที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ผู้ถูกร้อง ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการประจำ ของราชการส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาค ย่อมมีอำนาจดุลวินิจในการบริหารงานบุคคล หมุนเวียนสับเปลี่ยนบทบาท หรือการทำหน้าที่ของข้าราชการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแนวนโยบายที่ผู้ถูกร้องได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ แต่ในการใช้อำนาจดุลวินิจดังกล่าวของผู้ถูกร้องนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายแล้ว ยังจะต้องมีเหตุผลรองรับที่มีอยู่จริง และอธิบายได้ ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกร้องได้อ้างเหตุผลในการโอนนายถวิล เปลี่ยนศรี ว่า นายถวิลเ ปลี่ยนศรี ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่อง หรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะถือได้ว่ามีเหตุผลอันสมควรที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งโอนได้ตามความเหมาะสม จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลวินิจโดยมิชอบ อันเป็นเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประการหนึ่ง ตามมาตรา 9 วรรค 1 (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
ดังนั้น การโอนนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ว่า ผู้ถูกร้องมิได้เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการบรรจุ การแต่งตั้ง โยกย้าย หรือโอน หรือให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พ้นจากตำแหน่ง หากแต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของผู้ถูกร้อง และคณะรัฐมนตรีเองนั้น เห็นว่าแม้เพียงแค่การเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงผู้อื่น ยังต้องห้ามมิให้กระทำ ดังนั้น การเข้าไปกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวเสียเอง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง จึงยิ่งต้องถูกห้ามไปด้วย
ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติว่า ผู้ถูกร้องใช้สถานะ หรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ในเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน หรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการ หรือมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง จึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (2) และ (3) และถือเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง เป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7)
ประเด็นที่ 2ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถรักษาการต่อ
มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า หากความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) แล้ว ผู้ถูกร้องยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 181 วรรค 1 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ส่วนมาตรา 182 วรรค 1 บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ (7) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267 มาตรา 268 หรือมาตรา 269 จากข้อความที่ปรากฏในบทบัญญัติทั้งสองมาตรา แสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้บัญญัติให้เฉพาะกรณีที่คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรค 1 เท่านั้น ที่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ไม่ได้หมาย รวมถึงกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 182 ด้วย ดังนั้น คดีนี้ เมื่อผู้ถูกร้องได้กระทำการต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบ มาตรา 266 วรรค 1 (2) และ(3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1(7) แล้ว ผู้ถูกร้องจึงไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้อีกต่อไป
มีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1(7) แล้ว จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรค 1(1) บัญญัติว่า รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 และมาตรา 181 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อประโยชน์หน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่ จึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 ยังคงต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/2551 ลงวันที่ 9 กันยายน 2551 เรื่อง ประธานวุฒิสภาส่งคำร้อง ของสมาชิกวุฒิสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย การสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) ซึ่งวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1 (7) และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรค 1(1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือ จึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่ารัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 และคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 44/2557 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2551 เรื่อง ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง (คณะรัฐมนตรีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) โดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ผู้ถูกร้อง รองนายกรัฐมนตรีรักษานายกรัฐมนตรี วินิจฉัยว่า ตามคำร้องเป็นกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 182 วรรค 1 (5) และวรรค 3 ประกอบมาตรา 91 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อใด ซึ่งการที่รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อใดนั้น เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 12-13/2551 ลงวันที่ 9 กันยายน 2551 ไว้แล้วว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 แล้ว ย่อมเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรค 1 (1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว จึงทำให้เฉพาะรัฐมนตรีในรัฐมนตรีที่เหลืออยู่คงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ารัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181
ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 20/2551 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กรรมการบริหารพรรค ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 แล้ว รัฐมนตรีที่เหลืออยู่ที่ไม่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามของความเป็นรัฐมนตรีจึงต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า รัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ดังนั้น คดีนี้ เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องในคดีนี้สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1 (7) เป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรค 1(1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ย่อมทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือ ที่ไม่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามของความเป็นรัฐมนตรี อยู่ตำแหน่งต่อไปจนกว่ารัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ได้
อย่างไรก็ตาม หากรัฐมนตรีคนใด ได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เป็นการเฉพาะตัว ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ใน มาตรา 182 วรรค 1(1) ถึง (8) ย่อมมีผลให้รัฐมนตรีคนนั้น ไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ารัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 181 ได้เช่นกัน ในกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำระดับสูง จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน ดังนั้น คดีนี้ หากรัฐมนตรีคนใดมีส่วนร่วมในการลงมติอันเป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงข้าราชการประจำ โดยการโอนย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งเป็นกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 206 ด้วย ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม ย่อมเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีผู้นั้นสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1(7) ตามไปด้วย และไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ได้อีกต่อไป
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า มีการนำเรื่องการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี และการให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติอย่างเร่งรีบ รวบรัด ในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามปกติ เป็นวาระเพื่อทราบจร ในวันที่ 6 กันยายน 2554 และคณะรัฐมนตรีมีมติเอกฉันท์อนุมัติให้กระทำการโยกย้าย และให้ข้าราชการประจำพ้นจากตำแหน่ง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปในวันเดียวกันนั้นเอง รัฐมนตรีทุกคนที่ร่วมประชุมและลงมติในวันนั้น จึงมีส่วนร่วมในทางอ้อมในการก้าวก่าย และแทรกแซงข้าราชการประจำ อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีเหล่านั้น ต้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) ไปด้วย