ASTVผู้จัดการรายวัน-คดีประวัติศาสตร์! ศาลปกครองกลางพิพากษาสั่งภรรยาและลูก "สมัคร สุนทรเวช" อดีตผู้ว่าฯ กทม. ชดใช้ค่าเสียหายในคดีโกงจัดซื้อรถ เรือดับเพลิง จำนวน 587 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี พร้อมสั่ง "ประชา" อดีต รมช.มหาดไทย จ่ายในอัตราเดียวกัน ส่วน "อภิรักษ์-วัฒนา" รอดตัว ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย เหตุไม่พบทำให้หลวงเสียหาย ทนายเตรียมสู้คดี เผยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (30 เม.ย.) ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมาหานคร รวม 4 คดี โดยมีคำพิพากษาให้คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ภรรยานายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) , นางกาญจนากร ไชยลาภ และนางกานดาภา มุ่งถิ่น ทายาทผู้รับมรดกของนายสมัครร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีที่นายสมัครกระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อรถเรือดับเพลิง หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดว่าร่วมกันกับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ของประเทศออสเตรีย กำหนดราคาซื้อขายให้สูงเกินจริง
โดยศาลเห็นว่า พฤติการณ์ของนายสมัคร และพล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงการลงนามในสัญญา มีลักษณะเป็นการเร่งรีบ เพื่อให้มีการดำเนินการตามสัญญาระหว่างที่นายสมัครยังคงดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แม้จะมีการอ้างเหตุจำเป็นในการดำเนินโครงการจากการเติบโตของกทม. แต่ทั้งสอง ไม่ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบในการพิจารณารายละเอียดสัญญา ลักษณะรัฐต่อรัฐตามขั้นตอนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ และยังไม่ได้นำกรณีอื่นที่หน่วยทหารพัฒนาของ บก.สส. ได้ทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ กับบริษัท สไตเออร์ฯ มาพิจารณาประกอบในการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ให้ครบถ้วนสมกับกรณี ทั้งที่นายสมัคร ก็เป็นผู้ว่าฯ กทม. ย่อมต้องรับรู้ และเข้าใจขั้นตอนปฏิบัติ
พยานหลักฐาน จึงฟังได้ว่า การกระทำของนายสมัครดังกล่าว จงใจประมาทเลินเล่อ ทำให้ กทม. เสียหาย จึงพิพากษาให้ทายาท ซึ่งเป็นผู้รับมรดกชดใช้เงินค่าเสียหายร้อยละ 30 ของความเสียหายทั้งหมด จำนวน 1,958 ล้านบาทเศษ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง โดยให้ชำระเสร็จภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา
ภายหลังนายสุขสันต์ สุขสวัสดิ์ ทนายความของคุณหญิงสุรัตน์ กล่าวว่า หลังจากนี้ จะไปปรึกษากับคุณหญิงสุรัตน์ และทายาททั้งสอง เรื่องการอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจะต่อสู้ในประเด็นที่ว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจพิพากษาในคดีนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมรดกที่ควรจะต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง
นอกจากนี้ ศาลปกครองกลางยังมีคำพิพากษาในคดีที่นายประชา มาลีนนท์ อดีตรมช.มหาดไทย ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร และ รมว.มหาดไทย กรณีกรุงเทพมหานครสั่งให้นายประชาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญา กล่าวหาว่า ขณะนายประชา ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย มีพฤติการณ์ร่วมกับ บริษัท สไตเออร์ฯ กระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อรถ เรือดับเพลิง โดยศาลปกครองสั่งให้นายประชาต้องจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรุงเทพมหานครในจำนวนเดียวกับทายาทของนายสมัคร เนื่องจากขณะเกิดเหตุ นายประชาดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเริ่มโครงการและกระบวนการจัดซื้อ
รวมทั้งยังมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ประกาศกำหนดให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. และนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พานิชย์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับ กทม. ที่เสียหายจากการทำสัญญาซื้อขายรถ เรือดับเพลิง และอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า นายอภิรักษ์ มีการแสดงให้เห็นถึงความพยายามการปกป้องผลประโยชน์ของทางราชการ หลังเห็นว่าการซื้อขายมีข้อบกพร่องของกฎหมาย จึงได้ยื่นขอระงับการเปิดหนังสือค้ำประกัน หรือ LC กับธนาคารกรุงไทย 2 ครั้ง และทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และหนังสือถึง นายโภคิณ พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย 2 ครั้ง ให้ทบทวนการสัญญา แต่นายโภคิน ก็ยืนยันว่า ไม่สามารถทำได้ ขณะที่นายอภิรักษ์ ก็ไม่มีอำนาจที่จะบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว จึงเห็นว่านายอภิรักษ์ ได้ระมัดระวังตามกรอบอำนาจหน้าที่ ไม่มีเจตนาทุจริตหรือทำให้เกิดความเสียหาย
ขณะนายวัฒนา ศาลเห็นว่า แม้นายวัฒนาจะมีส่วนเกี่ยวข้องในบางขั้นตอนกับการทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ โดยเฉพาะในส่วนสัญญาสินค้าต่างตอบแทน ประเภทไก่ต้มสุกแช่แข็ง แต่ก็สืบเนื่องจากกรณีที่ ครม. มีมติเมื่อ 24 ส.ค.2547 ให้พิจารณาผลักดันการส่งออกสินค้าประเภทไก่ต้มสุกแช่แข็ง เนื่องจากขณะนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ประสบปัญหาไข้หวัดนก อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่า นายวัฒนาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขระเบียบกระทรวงพานิชย์ ในการกำหนดประเภทสินค้าตามที่มีการอ้าง อีกทั้งการผลักดันจะให้มีการทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยดังกล่าว ก็ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการทำสัญญาซื้อสินค้าต่างตอบแทนเท่านั้น ส่วนการกำหนดส่งสินค้าต่างตอบแทน ตามขั้นตอนปฏิบัติ ก็ยังต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศด้วย ไม่ใช่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับรมว.พาณิชย์ เพียงลำพัง
หลักฐานในชั้นนี้ จึงยังฟังไม่ได้ว่า นายวัฒนากระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนทำให้ กทม. ต้องซื้ออุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย จากบริษัท สไตเออร์ฯ ในราคาแพง อีกทั้งก่อนหน้านี้ ทั้งนายอภิรักษ์ และนายวัฒนา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็มีคำพิพากษายกฟ้องไปก่อนแล้ว จึงพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง กทม. ดังกล่าว โดยมีย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.2553 ที่มีการออกคำสั่ง
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 คดีดังกล่าว ผู้ร้องและผู้ถูกร้องในคดี ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน