xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองพิพากษาให้ “ประชา-สมัคร” ชดใช้ 587 ล้าน คดีรถเรือดับเพลิง - “วัฒนา” รอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (แฟ้มภาพ)
ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง กทม.ที่กำหนดให้ “วัฒนา” ชดใช้ค่ายสินไหมกรณีทำสัญญาซื้อขายรถและเรือดับเพลิงปี 47 หลังเจ้าตัวยื่นฟ้อง กทม.และผู้ว่าฯ กระทำโดยมิชอบ ชี้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเกี่ยวข้อง แถมศาลฏีกาวินิจฉัยยกฟ้องแล้ว นอกจากนี้ศาลยังได้พิพากษาให้ “ประชา-ทายาทสมัคร” ชดใช้ค่าเสียหาย 587 ล้านพร้อมดอกเบี้ย 7.5 ตั้งแต่ปี 47 ด้วย



วันนี้ (30 เม.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง มีรายงานว่าศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2553 กำหนดให้นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ กทม.ที่เสียหายจากการทำสัญญาซื้อขายรถเรือดับเพลิง และอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในราคาแพง เมื่อปี 2547

โดยคดีนี้นายวัฒนายื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ในคดีหมายเลขดำ 1227/2554 เรื่องกระทำการโดยมิชอบที่กรุงเทพมหานครสั่งให้ผู้ฟ้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญากล่าวหาว่าขณะผู้ฟ้องดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ มีพฤติการณ์ร่วมกับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรีย กระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อรถเรือดับเพลิงฯ โดยวันนี้นายวัฒนาและฝ่าย กทม.ไม่ได้เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษา คงมีเพียงผู้รับมอบอำนาจมาศาลแทน

ขณะที่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายวัฒนาผู้ฟ้องคดีแม้จะมีส่วนเกี่ยวข้องในบางขั้นตอนกับการทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเมื่อปี 2547 โดยเฉพาะในส่วนสัญญาสินค้าต่างตอบแทนประเภทไก่ต้มสุกแช่แข็ง แต่ก็สืบเนื่องจากกรณีที่ ครม. มีมติเมื่อ 24 ส.ค. 47 ให้พิจารณาผลักดันการส่งออกสินค้าประเภทไก่ต้มสุกแช่แข็งเนื่องจากขณะนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ประสบปัญหาไข้หวัดนก

ส่วนกรณีที่มีการอ้างว่า นายวัฒนาผู้ฟ้องคดีเกี่ยวกับการแก้ไขระเบียบกระทรวงพาณิชย์ในการกำหนดประเภทสินค้านั้น ไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่านายวัฒนาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขระเบียบ ลำพังที่มีการแก้ไขระเบียบช่วงผู้ฟ้องดำรงตำแหน่งแล้วจะฟังว่าผู้ฟ้อง ได้แก้ไขระเบียบเพื่อให้ส่งผลต่อการทำสัญญาก็ยังฟังไม่ได้ อีกทั้งการผลักดันจะให้มีการทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยดังกล่าวก็ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการทำสัญญาซื้อสินค้าต่างตอบแทนเท่านั้น ส่วนการกำหนดส่งสินค้าต่างตอบแทน ตามขั้นตอนปฏิบัติก็ยังต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศด้วย ไม่ใช่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ รมว.พาณิชย์เพียงลำพัง

ประกอบกับก่อนหน้านี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้องนายวัฒนาที่ตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวแล้ว พยานหลักฐานในชั้นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่านายวัฒนากระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนทำให้ กทม.ต้องซื้ออุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยจากบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรีย ในราคาแพง จึงพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง กทม.ดังกล่าว โดยมีย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 53 ที่มีการออกคำสั่ง

ทั้งนี้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด โดยคู่ความยังสามารถอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา

ขณะที่ศาลปกครองกลาง ยังมีคำพิพากษาให้ คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ภรรยานายสมัคร อดีตผู้ว่าฯ กทม. , นางกาญจนากร ไชยลาภ และนางกานดาภา มุ่งถิ่น ทายาทมรดกขอนายสมัคร ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 587,580,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีที่นายสมัคร กระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อรถเรือดับเพลิง หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่า ร่วมกันกับ บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ของประเทศออสเตรีย กำหนดราคาซื้อขายให้สูงเกินจริง

โดยศาลเห็นว่า พฤติการณ์ของนายสมัคร และพล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงการลงนามในสัญญามีลักษณะเป็นการเร่งรีบ เพื่อให้มีการดำเนินการจามสัญญาระหว่างที่นายสมัครยังคงดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. แม้จะมีการอ้างเหตุจำเป็นในการดำเนินโครงการจากการเติบโตของ กทม. แต่ทั้งสอง ไม่ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ ในการพิจารณารายละเอียด สัญญา ลักษณะ รัฐต่อรัฐตามขั้นตอน ที่ ครม.มีมติ และยังไม่ได้นำกรณีอื่นที่หน่วยทหารพัฒนา ของ บก.สส. ได้ทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐกับบริษัทสไตเออร์ มาพิจารณาประกอบ ในการปฎิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ให้ครบถ้วนสมกับกรณีทั้งที่นายสมัคร ก็เป็นผู้ว่า กทม.ย่อมต้องรับรู้และเข้าใจขั้นตอนปฏิบัติ พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าการกระทำของนายสมัครดังกล่าวจงใจประมาทเลินเล่อ ทำให้ กทม.เสียหาย จึงพิพากษาให้ทายาทซึ่งเป็นผู้รับมรดก ชดใช้เงินค่าเสียหาย ร้อยละ 30 ของความเสียหายทั้งหมดจำนวน 1,958 ล้านบาทเศษ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 587,580,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง โดยให้ชำระเสร็จภายใน 60 วันตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา

ภายหลังนายสุขสันต์ สุขสวัสดิ์ ทนายความของคุณหญิงสุรัตน์ กล่าวว่าหลังจากนี้จะไปปรึกษากับคุณหญิงสุรัตน์ และทายาททั้งสอง เรื่องการอุทธรณ์คดี ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจะต่อสู้ในประเด็นที่ว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจพิพากษาในคดีนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมรดก ที่ควรจะต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง

นอกจากนี้มีคำพิพากษาในคดีที่นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย ยื่นฟ้อง กรุงเทพมหานคร และ รมว.มหาดไทย กรณีกรุงเทพมหานคร สั่งให้นายประชา ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จากการที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญากล่าวหาว่าขณะนายประชา ดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ มีพฤติการณ์ร่วมกับ บริษัท สไตเออร์ ฯกระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อรถเรือดับเพลิงฯ โดยศาลปกครองสั่ง ให้นายประชา ต้องจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรุงเทพมหานคร ในจำนวนเดียวกับ ทายาทของนายสมัคร เนื่องจากขณะเกิดเหตุนายประชา ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเริ่มโครงการ และกระบวนการจัดซื้อ

รวมทั้งยังมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ประกาศกำหนดให้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีต ผู้ว่า กทม. และนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พานิชย์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับ กทม.ที่เสียหายจากการ ทำสัญญาซื้อขายรถเรือดับเพลิง และอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศาลเห็นว่า นายอภิรักษ์ มีการแสดงให้เห็นถึงความพยายามการปกป้องผลประโยชน์ของทางราชการ หลังเห็นว่าการซื้อขายมีข้อบกพร่องของกฎหมายจึงได้ยื่นขอระงับการเปิดหนังสือค้ำประกัน หรือ LC กับธนาคารกรุงไทย 2 ครั้ง และทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และหนังสือถึงนายโภคิณ พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย 2 ครั้ง ให้ทบทวนการสัญญา แต่นายโภคิณ ก็ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ ขณะที่นายอภิรักษ์ ก็ไม่มีอำนาจที่จะบอกเลิกสัญญา ซื้อขายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว จึงเห็นว่านายอภิรักษ์ ได้ระมัดระวังตามกรอบอำนาจหน้าที่ ไม่มีเจตนาทุจริตหรือทำให้เกิดความเสียหาย




กำลังโหลดความคิดเห็น