ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ส่งตัวนักศึกษาไทยเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ไปดำเนินคดีแทงคนตายที่ประเทศออสเตรเลีย หลังส่งตัวนักศึกษาไทยไปสู้คดีแล้ว 1 ราย
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (19 พ.ย.) ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อผ.7/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายต่างประเทศเป็นโจทก์ฟ้อง นายสารัต หรือสุรัต หรือศรุต สีหวีระชาติ อายุ 30 ปี อดีตนักเรียนไทยในประเทศออสเตรเลีย เป็นจำเลย เรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่ประเทศออสเตรเลีย
กรณีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2552 นายสารัต จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับนายธติยะ หรือกอล์ฟ เทิดภูธรรม อายุ 38 ปี จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดแทงนายลุค มิตเชลล์ ชาวออสเตรเลีย จนถึงแก่ความตาย จากเหตุทะเลาะวิวาทกันที่หน้าสถานบันเทิง Spot Nightclub ถนนซิดนีย์ บรันสวิก รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายออสเตรเลีย มีโทษจำคุกมากกว่า 1 ปี ต่อมาศาลประเทศออสเตรเลียได้ออกหมายจับจำเลยทั้งสองไว้ พร้อมประสานถึงสำนักงานอัยการสูงสุดของไทยให้ออกหมายจับจำเลยทั้งสอง กระทั่งจับกุมจำเลยทั้งสองได้ กระทรวงการต่างประเทศจึงทำหนังสือแจ้งสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เพื่อดำเนินการส่งตัวจำเลยทั้งสองเป็นผู้ร้ายข้ามแดน แม้ว่าประเทศไทยและประเทศออสเตรเลียไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ประเทศออสเตรเลียเคยเป็นอาณาบริเวณของประเทศอังกฤษ จึงยกประกาศสัญญาว่าด้วยส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันในระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ร.ศ. 129 ประกอบการพิจารณา พร้อมจะกระทำตามสัญญาต่างตอบแทน หากมีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในอนาคตให้แก่ทางการไทยด้วย
จำเลยที่ 1 ได้นำสืบว่าประเทศไทยกับออสเตรเลียไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน ประเทศออสเตรเลียไม่ได้อยู่ในบังคับของอังกฤษ ประกาศสัญญาฯ จึงใช้บังคับระหว่างไทยและอังกฤษเท่านั้น อีกทั้งการส่งขอเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไม่ใช่ในลักษณะต่างตอบแทน และหากส่งตัวไปจำเลยจะไม่ได้รับการเป็นธรรมในการต่อสู้คดี เพราะชาวออสเตรเลียจะเหยียดสีผิวชาวเอเชีย
ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้ส่งตัวจำเลยที่ 1 กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่จะส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้ ไม่เข้าลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายใดๆ และมีคำสั่งให้ขังไว้เพื่อส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดียังประเทศออสเตรเลีย แต่ไม่ให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองออกไปนอกประเทศก่อนครบกำหนด 30 วัน และหากไม่ได้ส่งตัวจำเลยทั้งสองภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสองไป
ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น เพื่อขอให้ศาลอนุญาตพิจารณาคดีในประเทศไทย ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วมีประเด็นวินิจฉัยว่า การส่งตัวจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทำได้หรือไม่ เห็นว่าแม้ประเทศไทยกับออสเตรเลียจะไม่ได้ทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันโดยตรง แต่ประเทศออสเตรเลียเคยเป็นประเทศในอารักขาของประเทศอังกฤษ และแม้ประเทศออสเตรเลียจะเป็นเอกราชจากประเทศอังกฤษแล้วก็ตาม แต่ประเทศออสเตรเลียสมัครใจที่จะปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ประเทศอังกฤษเคยทำไว้กับประเทศไทย อีกทั้งประเทศออสเตรเลียประสงค์จะปฏิบัติต่างตอบแทนส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย หากทางการไทยจะขอส่งคนสัญชาติออสเตรเลียเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย การปฏิบัติต่างตอบแทนนั้นเป็นการให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตาม ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าประเทศไทยจะต้องเคยร้องขอหรือมีเงื่อนไขส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้ก่อน
นอกจากนี้ ได้รับการยืนยันจากทางการออสเตรเลียว่า กระบวนการยุติธรรมของออสเตรเลียเป็นไปตามหลักสากล ที่ระบุว่า จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และระหว่างต่อสู้คดีจำเลยมีสิทธิได้รับการจัดหาทนายความ ล่าม และการประกันตัว นอกจากนี้ หากศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาคดีได้อีก และสิทธิ์ขันพื้นฐานในเรือนจำนั้น จำเลยที่ 1 จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับนักโทษคนอื่น ได้รับการดูแลรักษาพยาบาล ออกกำลังกาย การเยี่ยมจากญาติ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เห็นได้ว่าการที่ออสเตรเลียส่งเจ้าหน้าที่มาเบิกความ แสดงให้เห็นว่าออสเตรเลียมีมาตรฐานสากลไม่กระทบสิทธิมนุษยชนของจำเลยที่ 1 หากส่งตัวจำเลยไปต่อสู้คดีที่ออสเตรเลีย จำเลยที่ 1 ก็ยังได้รับการดูแลจากสถานทูตไทยประจำประเทศออสเตรเลีย กรณีนี้ไม่ใช้การเนรเทศคนไทย หรือปล่อยไม่ให้จำเลย1 ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยจะส่งจำเลยที่ 1 ไปเป็นผู้ร้ายข้ามแดน จึงไม่ได้เป็นการทำให้จำเลยที่ 1 เสียสิทธิในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงไม่ทำให้เสียเปรียบในการดำเนินคดี อุทธรณ์จำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า คดีมีเหตุให้ส่งจำเลยที่ 1 ไปดำเนินคดีตามที่รัฐบาลออสเตรเลียร้องขอหรือไม่
เห็นว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ไม่ได้คัดค้านว่าเป็นคนเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน และคดีนี้เป็นคดีฆาตกรรมเทียบเคียงกับกฎหมายไทยเป็นความผิดคดีฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อาญา มาตรา 288 มีโทษจำคุกมากกว่า 1 ปี ของทั้งสองประเทศ ประกอบกับโจทก์ได้นำบันทึกพยานที่เป็นเอกสารสรุปความผิดของจำเลยมาแสดงต่อศาล เห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเชื่อถือได้ คดีมีมูลให้รับพิจารณาและเข้าเงื่อนไขการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ศาลอุทธรณ์จึงเห็นควรให้ส่งจำเลยที่ 1 ไปดำเนินคดีที่ประเทศออสเตรเลีย พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2556 นายธติยะ จำเลยที่ 2 ในคดีนี้ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น แต่ต่อมาได้ยื่นขอถอนอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้น อ้างประสงค์จะกลับไปต่อสู้คดีร่วมกันฆ่า นายลุค มิตเชลล์ ที่ศาลประเทศออสเตรเลีย ซึ่งศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วมีคำสั่งอนุญาตและให้ส่งตัวนายธติยะ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปต่อสู้คดีที่ประเทศออสเตรเลีย