โฆษกอัยการสูงสุดคนใหม่ แถลงแจงเหตุอัยการสั่งไม่ฟ้อง “นช.ทักษิณ” บงการก่อการร้าย “จุลสิงห์” อัยการสูงสุดคนเก่าเป็นคนพิจารณาลงความเห็นสั่งไม่ฟ้อง กระเตงอุ้ม “แม้ว” ไม่มีพฤติการณ์สั่งการและอยู่นอกราชอาณาจักร
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (10 ต.ค.) ที่ห้องประชุม 303 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการคดีพิเศษคนใหม่ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงการสั่งคดีของอัยการ ในสำนวนคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 26 คน ผู้ต้องหาฐานร่วมกันหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดหรือสนับสนุนให้มีการกระทำผิดฐานก่อการร้าย หรือเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศไทยจากภายนอกประเทศ กรณีการชุมนุมของกลุ่ม แนวร่วมประชาชนต่อต้านประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ นปช. ที่แยกราชประสงค์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ว่า สำหรับคดีดังกล่าวเฉพาะในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ต้องหาที่ 1 ได้แยกสำนวนต่างหากจากผู้ต้องหาคนอื่นๆ เนื่องจากเป็นความผิดที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร จึงอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสั่งคดี ส่วน พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธแดง ผู้ทรงคุณวุฒิทหารบก ผู้ต้องหาที่ 18 ถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดี จึงเหลือผู้ต้องหาเพียง 24 ราย ซึ่งทางอัยการได้ส่งฟ้อง นายวีระ มุสิกพงษ์ กับพวกรวม 24 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญาแล้ว
นายนันทศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในขณะเกิดเหตุผู้ต้องหาพำนักอยู่ในต่างประเทศ และพ.ต.ท.ทักษิณ ได้วีดีโอลิ้งค์ โฟนอินหรือทวิตเตอร์ ทั้งภาพและเสียงเข้ามาในเวทีปราศรัย ของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ที่ประท้วงตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดนั้น โดยสาระเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยให้มีการยุบสภาตามวิธีทางระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งโจมตีการปฏิวัติรัฐประหาร และโจมตีการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี โดย พ.ต.ท.ทักษิณ มิได้กล่าวเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมกระทำผิดกฎหมายให้เผาศาลากลางจังหวัด เผาสถานฑูต หรือเผาสถานกงศุล หรือยุยงให้ล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยวิธีการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เกิดเหตุรุนแรงที่สี่แยกราชประสงค์ก็เนื่องจากรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้ากดดันกระชับพื้นที่และปิดล้อมโดยใช้รถยานเกราะและอาวุธสงครามขับไล่สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. และประชาชน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียหายชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก การที่การประท้วงได้กระจายไปตามต่างจังหวัดและมีการวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ ศาลากลางจังหวัดต่างจังหวัด 4 แห่ง หรือมีผู้ก่อความไม่สงบวางระบิดหรือยิงอาวุธปืนร้ายแรงเข้าไปที่ธนาคารพาณิชย์หรือสถานที่ราชการต่างๆ นั้น ไม่มีข้อเท็จจริงเชื่อมโยงว่าเกิดจากการยุยงสนับสนุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ พยานหลักฐานยังไม่พอให้รับฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ร่วมกันหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดหรือสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายดังกล่าว และเมื่อมีความเห็นว่าสั่งไม่ฟ้องแล้ว ถือว่าเป็นเด็ดขาดและสิ้นสุดแล้วตามกฎหมาย
นายนันทศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนจำเลยคนอื่นๆคือนายวีระ มุสิกพงษ์ กับพวกรวม 24 คน พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ1 มีคำสั่งฟ้อง และได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย โดยคดีนี้อยู่ในระหว่างการสืบพยานโจทก์ของศาลอาญา โดยศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปในวันพฤหัสบดีของสัปดาห์แรก ภายหลังจากวันที่ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเริ่มกระบวนการสืบพยานต่อไปประมาณต้นเดือนธันวาคมนี้
เมื่อถามถึงกรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากผู้ต้องหาที่มีอิทธิพลส่วนใหญ่จะหลบหนีไปต่างประเทศและไม่สามารถติดตามตัวกลับมาได้
ด้านนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด กล่าวว่า กรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นหลักสำคัญคือจะต้องดูสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบุคคลนั้นอยู่ในประเทศนั้นๆจริงหรือไม่ รวมทั้งจะต้องระบุแหล่งที่อยู่ให้จัดเจน ซึ่งถ้าหากไม่มีที่อยู่ก็ไม่สามารถขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้ ซึ่งการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนนั้นไม่ใช่อำนาจของทางอัยการสูงสุด โดยทางกระทรวงการต่างประเทศจะต้องยืนยันแหล่งที่อยู่ให้ชัดเจน
นอกจากนี้ นายอรรถพล ยังกล่าวถึงการสั่ง คดี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 59, 80, 83, 84 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งสำนวนมา ว่า สิ้นเดือน ต.ค.นี้จะสามารถมีความเห็นสั่งคดีได้ ซึ่งตนจะเป็นผู้พิจารณาสั่งด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นการวิสามัญฆาตกรรมซึ่งเป็นอำนาจของ อสส.ในการสั่งคดี ซึ่งขณะนี้สำนวนคดีดังกล่าวส่งมาถึงตนแล้ว โดยใส่ไว้ในตู้เซฟและตนยังไม่ได้เปิดอ่าน ส่วนจะมีความผิดหรือไม่ผิดตอนนี้ตนยังตอบไม้ได้ โดยขอให้รอตนกลับมาจากต่างประเทศก่อนและจะแถลงสั่งคดีก่อนสิ้นเดือน ต.ค. นี้
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2553 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้เคยนำสำนวนการสอบสวน จำนวน 5 ลัง พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมพวกรวม 25 คน ในข้อหา ร่วมกันหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานก่อการร้าย ตามป.อาญา มาตรา 135/1-3 ประกอบมาตรา 83,84,85 และมาตรา 86 ไปมอบให้แก่นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุดในขณะนั้น เพื่อพิจารณาสำนวนยื่นฟ้องต่อศาล ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ทางพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักรและข้อหาเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอกประเทศ ตาม ป.อาญา มาตรา 127 ประกอบมาตรา 4,5,6 และ 7