ASTVผู้จัดการรายวัน - อัยการสูงสุด แถลงแจงเหตุอัยการสั่งไม่ฟ้อง "นช.ทักษิณ"บงการก่อการร้าย ระบุ "จุลสิงห์" อัยการสูงสุดคนเก่าที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว เป็นคนพิจารณาลงความเห็นสั่งไม่ฟ้องตามที่ดี เอสไอเสนอมา ไม่มีพฤติการณ์สั่งการและดำเนินการในขณะอยู่นอกราชอาณาจักร “ถาวร”บี้เปิดคำสั่งเหตุผลไม่ฟ้องจากคำสั่งทิ้งทวน”จุลสิงห์”หรือไม่
เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (10 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 303 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดคนใหม่ กล่าวถึงการสั่งคดีของอัยการ สำนวนคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นผู้ต้องหาที่ 1 ร่วมกับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) รวม 24 คน กระทำผิดก่อการร้ายโดยกระทำนั้นเกิดขึ้นภายนอกราชอาณาจักร ในการชุนนุม ของ นปช. เมื่อปี 2553 ว่า นายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ได้พิจารณาพฤติการณ์แล้วมีคำสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ตามความเห็นของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เสนอมา เนื่องจากเห็นว่าขณะเกิดเหตุ พ.ต.ท.ทักษิณ พำนักอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งการวิดีลิงค์โฟนอิน และทวิตเตอร์ทั้งภาพและเสียงเข้ามาที่เวทีปราศรัยของ นปช. ที่มีผู้ชุมนุมประท้วงตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในพื้นที่ กทม.และต่างจังหวัด เนื้อหาส่วนใหญ่ เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยให้มีการยุบสภาตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งโจมตีการรัฐประหาร การบริหารงานของรัฐบาลยุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
โดยคำกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมายในการเผาศาลากลางจังหวัด สถานทูต สถานกงสุล หรือยุยุงให้ล้มล้างรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเกิดเหตุรุนแรงที่แยกราชประสงค์ก็เนื่องจากรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้ากดดันกระชับพื้นที่และปิดล้อมโดยใช้รถยานเกราะและอาวุธสงครามขับไล่สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก การที่กลุ่มประท้วงได้กระจายไปตามต่างจังหวัดและมีการวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ ศาลากลางจังหวัด 4 แห่ง หรือมีผู้ก่อความไม่สงบวางระเบิดหรือยิงอาวุธปืนร้ายแรงเข้าไปในพื้นที่ธนาคารหรือสถานที่ราชการต่างๆ นั้น ไม่มีข้อเท็จจริงเชื่อมโยงว่าเกิดจากการยุยุงสนับสนุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ต้องหาที่ 1 ดังนั้นพยานหลักฐานจึงยังไม่พอรับฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ร่วมกัน หรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด หรือสนับสนุนให้มีการกระทำผิดฐานก่อการร้าย โดยความเห็นดังกล่าวเป็นความเห็นของดีเอสไอและคณะทำงานอัยการที่เห็นพ้องกัน และเมื่อเป็นความผิดเกี่ยวกับการกระทำนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นอำนาจอัยการสูงสุดในการสั่งคดี ดังนั้นเมื่อมีความเห็นแล้วว่าสั่งไม่ฟ้องแล้ว ถือว่าเป็นเด็ดขาดและสิ้นสุดแล้วตามกฎหมาย
นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว โดยได้ตั้งคำถามไปยังอัยการสูงสุดว่าพยานหลักฐานที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นวิดีโอลิงก์การโฟนอิน ซึ่งมีทั้งเห็นภาพและได้ยินเสียง ถือเป็นพยานในลักษณะคดีชุดเดียวกันกับการกระทำของจำเลยทั้ง 24 คน ที่ขณะนี้ถูกฟ้องอยู่ที่ศาลแล้ว จึงใช้เหตุผลอะไรจึงสั่งไม่ฟ้อง และคดีนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานหรือไม่ และใครบ้างที่เป็นคณะทำงานเบื้องต้นและมีความเห็นควรสั่งฟ้อง หรือไม่ อีกทั้งเรื่องนี้ต้องผ่านอธิบดีสำนักงานคดีอาญา และอธิบดีอัยการศาลสูง โดย อัยการคนที่สั่งเป็นคน สุดท้าย เป็นอัยสูงสุดที่ชื่อ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ หรือเป็นรองอัยการสูงสุด
“ทราบว่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 7ก.ย. แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนลงนามคำสั่งไม่ฟ้อง แต่อยากถามว่าคำสั่งไม่ฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ แต่กลับห้องผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายอีก 24 คน ไม่ทราบว่ามีข้อเท็จจริงส่วนใดที่ไม่เหมือนกัน เพราะคดีนี้เดินมาด้วยข้อเท็จจริงในลักษณะคดีที่เหมือนกันมาโดยตลอด”
นายถาวรกล่าวว่า อีกทั้งก่อนหน้านี้สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ โดยมีนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เป็นประธาน และสรุปความเห็นให้สั่งฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ จึงอยากถามว่าเหตุผลและข้อสรุปคณะทำงานชุดนี้คืออะไร และเหตุใดที่สั่งไม่ฟ้อง จึงอยากให้อัยการสูงสุดชี้แจงเพื่อให้ประชาชนมองสำนักงานอัยการสูงสุดในทิศทางที่ดี เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ สาธารณชนให้ความสนใจ ซึ่งตนได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา ตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว โดยในวันที่ 14 ต.ค. มีการเชิญ ตน ตัวแทนอัยการสูงสุด นายวินัย มาซักถามข้อเท็จจริง แต่หากพบว่าอัยการสูงสุดมีความผิดในการใช้ดุลพินิจก็สามารถยื่นฟ้องป.ป.ช.
“ผลของการที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ก็จะจบเลย แต่ผมจะบอกว่าไม่ใช้ เพราะความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย และผมมั่นใจคนอย่างพ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยปล่อยโอกาสให้ตัวเองเป็นผู้แพ้ แต่จะเกี่ยวข้องคดีนี้อย่างไรยังไม่สามารถระบุได้ ก็ต้องพิสูจน์กันต่อไป แต่พ.ต.ท.ทักษิณไม่อยากติดคุกแม้แต่วินาทีเดียว การหลุดจากคดีก่อการร้ายจะเป็นศักดิ์ศรีได้ว่าไม่เคยทรยศประเทศ ไม่เคยสั่งเผาบ้านเผาเมือง ขณะนี้พรรคเพื่อไทยก็เดินหน้าเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา309 จะทำให้พ.ต.ท.ทักษิณหลุดจากทุกคดีที่คตส. เคยทำมาก่อนหน้านี้” นายถาวร กล่าว
นายถาวรกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อนายจุลสิงห์สั่งไม่ฟ้องไปแล้วจะนำกลับมาพิจารณาคำสั่งดังกล่าวอีกครั้งคงไม่ได้ เพราะสั่งในนามหน่วยงาน เมื่ออัยการได้สั่งสำนวนแล้ว ตามระเบียบบอกว่าสามารถเปิดเผยคำสั่งได้เพื่อยืนยันว่าทำงานด้วยความโปร่งใสและมีเหตุผล ตนขอให้พิมพ์เผยแพร่ความเห็นและคำสั่งเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับความเชื่อถือ มีเกียรติว่าสั่งฟ้องด้วยเหตุและผล โปร่งใส เพราะลำพังแถลงเพียงสั้นๆประชาชนไม่เข้าใจ และทำให้มองอัยการสูงสุดในทำนองที่สั่งสำนวนไม่เป็นธรรม
“อัยการสูงสุดคนใหม่ (นายอรรถพล ใหญ่สว่าง) สามารถกู้กอบภาพลักษณ์อัยการสูงสุดได้ ด้วยการพิมพ์เผยแพร่ชี้แจงเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือ และที่สำคัญอยากให้ท่านแสดงความคิดเห็นว่า หากท่านเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้จะสั่งคดีนี้ไปในทางใด”
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถือเป็นคำสั่งที่สวนทางกับกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้อง เรื่องนี้จึงต้องส่งกลับให้ดีเอสไอพิจารณา ดังนั้นต้องถามนายธาริตว่ายังยืนยันในคำสั่งฟ้องก่อนหน้านี้หรือไม่
ด้านนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด กล่าวว่า กรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นหลักสำคัญคือจะต้องดูสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบุคคลนั้นอยู่ในประเทศนั้นๆจริงหรือไม่ รวมทั้งจะต้องระบุแหล่งที่อยู่ให้จัดเจน ซึ่งถ้าหากไม่มีที่อยู่ก็ไม่สามารถขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้ ซึ่งการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนนั้นไม่ใช่อำนาจของทางอัยการสูงสุด โดยทางกระทรวงการต่างประเทศจะต้องยืนยันแหล่งที่อยู่ให้ชัดเจน
นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า เป็นสิทธิของนายถาวรที่สามารถทำได้ แต่หากนายถาวรจะยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ด้วยนั้นเชื่อว่า ปปช.จะไม่รับเรื่องหรืออาจจะรับเรื่องแต่ไม่ชี้มูลความผิด เพราะการสั่งไม่ฟ้องของอัยการไม่ได้ทำการในเชิงทุจริต หรือประพฤติผิดในการปฏิบัติหน้าที่ แต่อัยการมีคำสั่งที่เป็นอำนาจตาม ป.วิอาญามาตรา 20 ว่าถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทยให้อัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบในการสั่งฟ้อง การไม่สั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณเพียงรายเดียวไม่ได้เป็นการลอยแพแกนนำรายอื่น แต่กลับเป็นผลดีต่อคดีของ 24 แกนนำด้วยซ้ำ