ASTVผู้จัดการรายวัน - ขรก.กระทรวงการคลัง-พาณิชย์ปัดไม่กล้าเซ็นเบิกงบฉุกเฉิน2หมื่นล้าน กลัวมีโทษในภายหลัง ปลัดคลังอ้างไม่มีอำนาจเซ็นกู้เงินเกิน500 ล้าน ขึ้นอยู่กับรมต. ส.ว.แฉขบวนการนำเข้าข้าวเขมรหนึ่งหมื่นตัน สวมใบประทวน หวั่นกองทัพมดทำราคาข้าวไทยป่นปี้ เตรียมเชิญกรมการค้าฯ-กรมศุลฯแจง ขณะที่สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติภาคอีสาน มีมติแจ้งความเอาผิด"ยิ่งลักษณ์" ฐานไม่จ่ายเงินจำนำข้าว ป้องกันใบประทวนขาดอายุความ ขณะที่"ปู"ส่งทนายคัดสำนวนทุจริตจำนำข้าวที่ป.ป.ช. ขณะที่กลุ่มเสื้อแดงกวป. ร้องผู้ตรวจฯ สอบ 6 ป.ป.ช. ไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ จี้ หยุดปฏิบัติหน้าที่- พร้อมเร่งตรวจบัญชีทรัพย์สิน หวังสกัดการชี้มูลความผิดนายกฯ
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า วานนี้ (11 มี.ค.) กรมฯ ได้เปิดซองเสนอราคาซื้อข้าวปริมาณ 5.17 ล้านตัน ที่มีเอกชน 34 รายยื่นเข้ามา โดยจะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก่อนที่จะแจ้งให้เอกชนที่ชนะการประมูลมาทำสัญญาซื้อขายข้าวต่อไป โดยยืนยันที่จะพิจารณาขายให้กับผู้ที่เสนอราคาใกล้เคียงกับราคากลางที่อ้างอิงจากราคาตลาดที่กำหนดไว้จะไม่มีการขายในราคาต่ำอย่างแน่นอน
***ระบายข้าวผ่านเอเฟตอีก2.5แสนตัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 มี.ค.) กระทรวงพาณิชย์ จะเปิดประมูลข้าวสารผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟต) อีก 2.5 แสนตัน เป็นข้าวขาว 5% ปี 2555/56 และ 2556/57 ปริมาณ 1.64 แสนตัน ข้าวหอมมะลิ ปี 2555/56 และ 2556/57 ปริมาณ 8 หมื่นตัน
***งบกลาง 2 หมื่นล้านไม่มีใครยอมเซ็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงขณะนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่มีการเซ็นเอกสารเพื่อเบิกงบกลาง 2 หมื่นล้านบาท เพื่อมาจ่ายค่าจำนำข้าวให้กับชาวนา โดยล่าสุด ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ไม่มีอำนาจเซ็นกู้เงินเกิน 500 ล้านบาท ถ้าเกินต้องเป็นอำนาจของรัฐมนตรี ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศก็ยังไม่มีการยืนยันว่าจะเป็นผู้ไปเซ็นเพื่อขอใช้งบกลางดังกล่าว
ในเรื่องนี้ นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การนำงบกลาง 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายค่าข้าวให้กับชาวนา ไม่จำเป็นต้องรอให้กรมฯ เซ็นเอกสาร เพื่อนำเงินออกมาจากกระทรวงการคลัง เพราะเป็นช่องทางการยืมเงินปกติ ไม่ใช่กู้เงิน ซึ่งกระทรวงการคลังสามารถนำงบก้อนนี้โอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)และนำไปเบิกจ่ายให้กับชาวนาได้ทันที แต่ในส่วนของกรมฯ ยืนยันว่า สามารถระบายข้าวและนำเงินคืนได้ตามกำหนดวันที่ 31 พ.ค.แน่นอน
***คลังยังไม่กล้าเซ็นเบิกงบ
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง มอบหมายให้นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ด้านภารกิจรายจ่ายและหนี้สิน เป็นผู้ลงนามเบิกทดรองจ่ายงบกลางดังกล่าว หากเป็นไปตามนี้ เงินจะไปถึง ธ.ก.ส.ภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเซ็นเอกสารดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมบัญชีกลางปฎิเสธข่าวเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังไม่กล้าเซ็นฯ พร้อมยืนยันว่าได้ประชุมกับเจ้าหน้าที่จากกรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ทุกคนต่างยืนยันว่าพร้อมจะลงนามในเอกสารการจ่ายเงินให้ชาวนาและการคืนเงินให้ กกต.ภายในเวลากำหนด.
**ปูดเขมรสวมสิทธิข้าวไทย
พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบ เรื่องการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล จากโครงการรับจำนำข้าว ปี 2554/2555 เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมาธิการฯ ที่ จ.สระแก้ว และจันทบุรี เพื่อตรวจสอบการนำเข้าข้าวจากกัมพูชา 2 บริษัท จำนวน 1 หมื่นตัน เพื่อส่งไปยังโรงสีเมฆเกรียงไกร จ.พิจิตร เป็นที่น่าสังเกตว่า บางบริษัทไม่ได้ค้าข้าวโดยตรง แต่ทำในลักษณะชิบปิ้ง นำเข้าข้าวอย่างเดียว และโรงสีดังกล่าวไม่สามารถจะรองรับข้าวได้ถึงหมื่นตัน ดังนั้นอาจจะมีการส่งข้าวไปที่อื่นด้วย
นอกจากนี้มีความเป็นห่วงว่า จะมีการเวียนเทียนขนส่งข้าวตามจุดผ่อนปรน หรือกองทัพมดจุดอื่นๆอีก ซึ่งจะทำให้ข้าวไทยเกิดความเสียหาย เพราะจะมีการนำข้าวราคาถูกมาสวมใบประทวน เพื่อเข้าโครงการจำนำข้าว เพื่อให้ได้ราคาสูงกว่า ดังนั้นจะมีการเชิญอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และกรมศุลกากร มาชี้แจงว่า มีการอนุญาตขนส่งข้าวไปที่ใดบ้าง
ทั้งนี้ กรรมาธิการเห็นด้วยกับการประมูลข้าว โดยล่าสุดได้มีการสั่งให้มีการประมูลข้าวในภาคเหนือ 18 จังหวัด เพื่อระบายข้าวและนำเงินมาจ่ายให้ชาวนา ซึ่งจากการลงพื้นที่ใน จ.นครศรีธรรมราช ชาวนาที่ภาคใต้ ก็อยากให้มีการเปิดประมูลข้าวด้วย แต่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบว่าที่ผ่านมาการประมูลจะมีบริษัทยักษ์ใหญ่จะเข้าคัดข้าวคุณภาพดีไปก่อน ทำให้บริษัทรายเล็ก เสียเปรียบ และเกิดความคลางแคลงใจ รวมทั้งมีการเรียกค่าหัวคิว โดยอ้างว่าจะนำไปให้ผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงอยากให้ตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ในการประมูลข้าวต่อไป
**สภาเกษตรอีสานแจ้งดำเนินคดี “รัฐบาลปู”
วานนี้ (11 มี.ค.) ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย ได้ประชุมร่วมกับสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ กลุ่มภาคอีสาน และคณะกรรมการด้านข้าวครั้งที่ 4/2557 เพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวทวงเงินที่รัฐบาลติดค้างค่าจำนำข้าวเกษตรกรชาวนาอยู่กว่า 1 ล้านราย
นายอุบลศักดิ์ ระบุว่า ที่ประชุมเกษตรกรชาวนาส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะไปแจ้งความเอาผิดรัฐบาลทั้งทางแพ่งและอาญา เรียกร้องเงินค่าเสียหายจากการจ่ายเงินจำนำข้าวล่าช้า เพื่อป้องกันใบประทวนขาดอายุความ และเกษตรกรสบายใจ จะได้รับเงินค่าจำนำข้าวแน่นอนไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนอย่างไร
สำหรับบวงเงินจากงบกลาง 2หมื่นล้านบาท ที่รัฐบาลยื่นให้ กกต.พิจารณาอนุมัติ ขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้มาเมื่อใด เมื่อได้มาแล้วก็ไม่สามารถจ่ายให้ชาวนาได้ครบทุกคน เพราะตอนนี้รัฐบาลเป็นหนี้ชาวนาเป็นเงินกว่าแสนล้านบาท ดังนั้นควรปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินจำนวนนี้ โดยใช้วิธีเกลี่ยจัดสรรให้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้รับเงินทุกคนตามสัดส่วน ไม่ใช่เรียงตามลำดับอย่างที่ดำเนินการอยู่ เพราะชาวนาในลำดับหลัง ยังเดือดร้อน หลังเอาข้าวไปจำนำไว้กับรัฐบาลกว่า 4 เดือนแล้ว ตนไม่อยากเห็นชาวนาต้องเครียดจนฆ่าตัวตายอย่างที่แล้วมาอีก
**ชาวนาภาคเหนือ อีสานเข้ากรุงทวงค่าข้าว
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ประธานชาวนาภาคเหนือ เปิดเผยว่า ได้ประสานงานไปยังเครือข่ายชาวนาภาคเหนือ อีสาน ให้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อยกระดับการชุมนุมขับไล่รัฐบาลรักษาการให้ลาออก ร่วมกับชาวนาที่ปักหลักอยู่กระทรวงพาณิชย์ โดยแนวทางการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่นั้น จะมีขึ้นในวันนี้ (12 มี.ค.) และไม่หนักใจที่ชาวนาจะถูกสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้วชาวนาจะเดินทางเข้ามาได้ ส่วนงบกลาง 2 หมื่นล้านบาท ที่ กกต. อนุญาตให้รัฐบาลนำไปจ่ายชาวนาได้นั้น ขณะนี้ยืนยันว่า ชาวนายังไม่ได้รับเงินเพราะข้าราชการที่เกี่ยวข้องไม่กล้าเบิกงบกลางออกมา เนื่องจาก ไม่มั่นใจว่า รัฐบาลจะนำงบกลางดังกล่าวมาคืนภายในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ได้หรือไม่
ทั้งนี้ ประธานชาวนาภาคเหนือ กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ แทนรัฐบาลรักษาการ ก็จะทำให้กระบวนการจ่ายเงินให้กับชาวนามีความรวดเร็วมากขึ้น โดยคาดว่าภายใน 1 เดือน เงินจำนำข้าวที่ค้างอยู่กล่าว 1 แสนล้านบาท จะถึงมือชาวนาอย่างแน่นอน
**"ทนายปู"ขอคัดสำนวนคดีทุจริตข้าวที่ป.ป.ช.
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง และนายบัชญา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าขอคัดสำนวนคดีกล่าวหาทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยนายนรวิชญ์ กล่าวว่า ทางป.ป.ช. ได้ให้เอกสารมาทั้งหมด 49 หน้า ซึ่งเบื้องต้นยังไม่ทราบว่ามีรายละเอียดอะไรบ้าง โดยจะต้องกลับไปศึกษาข้อมูลกับทีมทนายความก่อน ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทีมทนายความจะต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวด้วย ส่วนจะมีการขอเอกสารจากทาง ป.ป.ช. เพิ่มเติมหรือไม่นั้น คงต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อน และจะนำเสนอข้อมูลต่อนายกรัฐมนตรี
ส่วนในวันที่ 14 มี.ค. ซึ่งจะครบกำหนดเวลา 15 วัน ที่ ป.ป.ช.ให้นายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่า นายกฯจะมาด้วยตนเอง หรือจะขอเลื่อนวันชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปก่อน เพราะถือเป็นเรื่องอนาคต อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตน ฐานะทนายความไม่กังวลกับการชี้แจง เพราะมีข้อมูลยืนยันชัดเจน
**กวป.ยื่นผู้ตรวจฯสอบ 6 ป.ป.ช.ไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ
นายศรรักษ์ มาลัยทอง แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการและโฆษกผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย ในการดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวม 6 คน ประกอบด้วย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. นายวิชา มหาคุณ นายใจเด็ด พรไชยา นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายภักดี โพธิศิริ และ นายวิชัย วิวิตเสวี ว่า หากบุคคลดังกล่าวไม่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 246 แล้วยังไม่มีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และขอให้นำเรื่องส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเสนอวุฒิสภาเพื่อถอดถอนบุคคล ตามมาตรา 274 รวมทั้งขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลทั้ง 6 ภายหลังกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 6 คน อ้างว่า ได้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ดังนั้นจึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินให้คำตอบต่อสาธารณะชน ภายใน 7 วัน
นายศรรักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชนมีความเคลือบแคลงสงสัยในการทำหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 6 คน ที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่กรรมการ 3 คน ได้รับการโปรดเกล้าฯ และการยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน ที่อ้างว่าได้ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย ก่อนที่จะยื่นต่อประธานวุฒิสภา ซึ่งในฐานะเป็นประชาชนผู้เสียภาษี จึงต้องมาปกป้องรักษาสิทธิในภาษีของตนเอง ตรวจสอบการทำหน้าที่ของป.ป.ช.เพราะแม้ป.ป.ช.จะอ้างว่ามีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยประเด็นนี้เอาไว้ ตนก็อยากจะถามศาลฯเช่นกันว่าอ้างกฎหมายข้อไหน และกฎหมายข้อไหนให้ป.ป.ช.ที่ไม่ได้รับโปรดเกล้าทำหน้าที่ได้ และขอให้กรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 6 คน แสดงความบริสุทธิ์ใจออกมา โดยการยุติการทำหน้าที่และออกมายอมรับกับประชาชนว่าไม่มีอำนาจในการปฏิบัติงานทันที