xs
xsm
sm
md
lg

อสรพิษและนกพิราบ ความชาญฉลาดและความไร้เดียงสา?

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

18 เมษายนก็แล้ว, 24 เมษายนก็แล้ว

เป็นอันว่ายังเปิดประชุมวุฒิสภาไม่ได้ เพราะล่าสุด ครม.วันนี้ยังไม่มีมติอนุมัติร่างพ.ร.ฎ.ทั้งๆ ที่ปัญหาน่าจะได้ข้อสรุปในระดับหนึ่งตั้งแต่วันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2557 ที่มีการประชุมภายในระดับสำนักงานของ 5 องค์กร คือ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการ ครม. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักราชเลขาธิการ และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่าสามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญรัฐสภาเพื่อให้วุฒิสภาทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งได้ตามมาตรา 132 (2) โดยให้นายกรัฐมนตรีเสนอร่างพ.ร.ฎ.และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามมาตรา 128 ประกอบมาตรา 195 ตามที่เคยทำมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2549

ส่วนที่ยังคงมีความเห็นต่างในการให้วุฒิสภาประชุมเพื่อทำหน้าที่ถอดถอนตามมาตรา 132 (3) ก็ให้เป็นความเห็นต่างต่อไป ที่อาจจะนำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตามมาตรา 214 ต่อไปได้

เอาเป็นว่าขอให้เปิดสมัยวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ในส่วนที่ไม่มีความเห็นต่างไปก่อน จะได้ใช้เป็นโอกาสนำสมาชิกใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาปฏิญาณตนเพื่อทำหน้าที่ เพราะกว่าขั้นตอนตราพ.ร.ฎ.จะสำเร็จก็จะพ้นวันที่ 28 เมษายนที่คาดว่า กกต.ประกาศรับรองผลเกินร้อยละ 95 ไปแล้ว

แต่แล้วปรากฏว่าเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกลับทำหนังสือถึงเลขาธิการ ครม.เมื่อวานนี้วันที่ 21 เมษายน ก่อนวันประชุม ครม.วันนี้วันที่ 22 เมษายนที่คาดว่าจะมีมติอนุมัติร่างพ.ร.ฎ.เพียง 1 วัน แสดงความไม่เห็นด้วยทางข้อกฎหมายที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะทำหน้าที่เดินเรื่องเป็นหน่วยธุรการทำหนังสือไปยังสำนักงานเลขาธิการ ครม. โดยอ้างว่าเมื่อเป็นการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนดให้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาจะต้องเป็นหน่วยธุรการ ทำหน้าที่เดินเรื่อง แล้วก็อ้างข้อขัดแย้งเดิมๆ เรื่องการเปิดประชุมเพื่อถอดถอนที่น่าจะจบไปแล้วตั้งแต่วันศุกร์ที่ 19 เมษายนว่าให้พักไว้ก่อน เปิดเพื่อทำหน้าที่ในส่วนที่ไม่เห็นต่างกันก่อนคือให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง

ครม.ก็เลยยังไม่มีมติ โดยอ้างว่าไม่ได้ขัดข้อง เพียงแต่ความเห็นของ 2 สำนักงานเลขาธิการยังต่างกันเท่านั้น ให้เลขาธิการ ครม.ไปติดตามให้ตกลงกันให้ได้

โดยอ้างอิงว่า ครม.พร้อมจะประชุมนัดพิเศษเพื่ออนุมัติร่าง พ.ร.ฎ.

แต่ตลอดสัปดาห์ที่แล้วก็ไม่มีการประชุมนัดพิเศษ

ก็ต้องรอการประชุม ครม.นัดปกติวันอังคารที่ 29 เมษายนนี้ว่าจะสามารถอนุมัติร่างพ.ร.ฎ.ได้หรือไม่ ในเมื่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรยังคงยืนยันความเห็นเดิม

ที่จริงกิจการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 ที่วุฒิสภาต้องประชุมแม้ในยามไม่มีสภาผู้แทนราษฎรไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยแม้แต่น้อยกับสภาผู้แทนราษฎร แม้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะทำหน้าที่เลขาธิการรัฐสภา และเป็นการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญก็ตาม ก็เคยเป็นที่ตกลงกันว่าให้ดูที่เนื้องานเป็นหลัก ถ้าเป็นงานในส่วนของสภาใดก็ให้สำนักงานเลขาธิการของสภานั้นเป็นหน่วยธุรการเดินเรื่อง สมัยปี 2549 ที่เคยเปิดสมัยวิสามัญในขณะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หลังจากมีการหารือระหว่างเลขาธิการของทั้ง 2 สภาในขณะนั้น คือ นายพิฑูร พุ่มกิจจา กับนางสุวิมล ภูมิสิงหราช มาแล้ว

ไม่ควรจะเป็นเรื่องของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่ต้น ไม่ควรจะเข้ามาเกี่ยวข้องร่วมหารือกับอีก 4 องค์กรด้วยซ้ำ แต่เลขาธิการ ครม.ก็แจ้งว่าเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งความเห็นนี้ไปยังเขาเป็นการภายในมาก่อนแล้ว

ลำพังแค่ข้อขัดแย้งทางกฎหมายกับเลขาธิการ ครม. ที่อิงความเห็นเลขาธิการกฤษฎีกา วุฒิสภาทั้งในส่วนของสำนักงานเลขาธิการและผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว

นี่กลับมีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสวมวิญญาณหัวหมู่ทะลวงฟันเข้ามาร่วมวงขัดแย้งด้วยอีกเส้า

และล่าสุดไม่เพียงแต่เท่านี้

ยังทราบมาว่า ส.ว.เลือกตั้ง 2551 บางท่านยังทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคัดค้านการเปิดประชุมวุฒิสภา ด้วยเหตุผลที่เป็นรอยต่อระหว่าง ส.ว.เลือกตั้งเก่ากับใหม่ หรืออะไรสักอย่างนี่แหละ ผมไม่ชัดเจน เพราะไม่ได้เห็นหนังสือด้วยตาตัวเอง

ส.ว.ทั้งสรรหาและเลือกตั้งที่เตรียมตัวทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แม้จะเพียงครึ่งเดียว ก็ยังเป็นอันว่าอาจจะต้องร้องเพลงรอต่อไป

เรื่องนี้สำคัญมากในเชิงหลักการ ถ้าวุฒิสภาไม่สามารถทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญได้ แม้เพียงครึ่งเดียว เพราะความเห็นทางกฎหมายที่ไม่มีทั้งพื้นฐานทางกฎหมายและประเพณีปฏิบัติรองรับของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็เท่ากับเสมือนว่าวุฒิสภาขึ้นต่อสภาผู้แทนราษฎรอย่างนั้นหรือ

ควรทราบว่าในหนังสือที่ทำไปถึงเลขาธิการ ครม.วันที่ 21 เมษายนนั้น ใช้หัวจดหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้ลงนามก็ใช้ตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นี่เป็นความจงใจแฝงนัยประการใดหรือไม่

ผู้อาวุโสในวงงานวุฒิสภาบางท่านถึงกับเปรยให้ผมพอจับใจความได้ว่า “...บังอาจ” ถ้าฟังไม่ผิด!

ครม.วันนี้ลอยตัว เพราะอ้างว่าเป็นความขัดแย้งของ 2 สภา และอาจจะ ส.ว.ด้วยกันเอง

แต่การทุ่มตัวเข้ามาของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้จะรู้กันกับ ครม.ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่ ผมไม่ทราบ และไม่จำเป็นต้องตัดสิน แม้จะเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าหากวุฒิสภาสามารถประชุมเพื่อภารกิจถอดถอนได้ ทั้ง 2 บุคคลที่เข้าคิวรอการถอดถอนคือผู้หยุดปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรเจ้านายเก่าของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และประเด็นที่ถูกกล่าวหานั้นส่วนมากอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ประธานและรองประธานรัฐสภาในขณะที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เลขาธิการรัฐสภาก็ตาม

ถ้ายึดแบบนี้วุฒิสภาก็ไม่มีวันประชุมได้ตราบที่ยังไม่มีสภาผู้แทนฯ

มันไม่ใช่แน่ แต่ ครม.จะเอายังไง เลขาธิการสภาผู้แทนฯ จะเดินหน้าชนยืนความเห็นเดิมอีกนานแค่ไหน ความเห็นของ ส.ว.เลือกตั้ง 2551 บางคนจะมีผลแค่ไหน อย่างไร สัปดาห์นี้คงได้รู้กัน

เล่าสู่กันฟังในฐานะที่เกี่ยวกับวงงานที่สัมผัสอยู่

พี่น้องคงตัดสินได้เองว่าอะไรเป็นอะไร

ผมเพียงแต่นึกถึงข้อความหนึ่งที่ฟรานซิส เบคอนเคยกล่าวไว้เมื่อเขากล่าวถึงแมคเคียเวลลี...

“(เราเป็นหนี้มาคิอาเวลลีและคนอื่นๆ เป็นอย่างมากที่เขียนถึงสิ่งที่มนุษย์กระทำไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาควรจะกระทำ – เพราะ...) มันเป็นไปไม่ได้ที่จะประสานความชาญฉลาดอสรพิษเข้ากับความไร้เดียงสาของนกพิราบ เว้นแต่มนุษย์จะรู้ถึงลักษณะทั้งปวงของอสรพิษอย่างถ่องแท้ คนที่สัตย์ซื่อนั้นไม่อาจทำสิ่งที่ดีต่อคนชั่วร้ายได้เลยหากปราศจากความรู้เรื่องความชั่ว...”

2 พฤษภาคมจะได้ประชุมวุฒิสภาหรือไม่ วันสองวันนี้คงพอรู้ชัดเจน!
กำลังโหลดความคิดเห็น