“ส.ว.คำนูณ” เผยวุฒิสภายืนยัน เป็นหน้าที่ของนายกฯ ต้องทูลเกล้าฯ และลงนามรับสนองพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง เตรียมทำหนังสือตอกย้ำถึงเลขาคณะรัฐมนตรีวันนี้ คาด ครม.มีมติ 22 เม.ย. หากยังไม่เห็นด้วยจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทันที และผลชี้ขาดจะออกภายใน พ.ค. “ยิ่งลักษณ์” อาจผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ซ้ำ
วันนี้ (17 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.54 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “คำนูณ สิทธิสมาน” ว่า วุฒิสภายังคงยืนยันความเห็นทางกฎหมายว่าหน้าที่ทูลเกล้าฯ ถวายและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งและให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง เป็นของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 195 วรรคแรกประกอบมาตรา 128 วรรคสาม “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้” (ม.195 วรรคแรก) “เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้” (ม.128 วรรคสาม)
ไม่ใช่กรณีเฉพาะถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งที่มาตรา 273 วรรคสองระบุให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพราะนั่นเป็นกรณีทั่วไปนอกสมัยประชุมปรกติต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 127 ในขณะที่มีองค์ประกอบของรัฐสภาครบถ้วน คือมีสภาผู้แทนราษฎรอยู่ เพียงแต่อยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมเท่านั้น
แต่กรณีปัจจุบันเป็นกรณีพิเศษ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร องค์ประกอบของรัฐสภาไม่ครบ แต่วุฒิสภามีเหตุให้ต้องประชุมเพื่อทำหน้าที่ตามมาตรา 132 (2) และ (3) ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่ “มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ...” ยกเว้นจะมีความเห็นพิสดารว่าการถอนถอนคนมีตำแหน่งทางการเมืองที่จงใจกระทำการผิดกฎหมายไม่ใช่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ
นายคำนูณระบุอีกว่า วันนี้สำนักเลขาธิการวุฒิสภาจึงจะทำหนังสือยืนยันความเห็นเดิมไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาจะทำหนังสือยืนยันความเห็นและทวงถามคำตอบไปยังนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีน่าจะมีมติในวันอังคารที่ 22 เมษายน หากเห็นด้วยก็ไม่มีปัญหา แต่หากยืนยันความเห็นเดิมตอบกลับมา กรณีก็จะเป็นข้อขัดแย้งระหว่างองค์กรตามมาตรา 214 วุฒิสภาสามารถยื่นขอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที และเชื่อว่าเนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายและเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยได้ภายในต้นเดือนพฤษภาคม ผลการวินิจฉัยอาจจะทำให้นายกรัฐมนตรีถูกร้องว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีกโสดหนึ่งด้วย