xs
xsm
sm
md
lg

เสนอเปิดประชุมวุฒิ24เม.ย. "นิคม"ดักคอแผนนายกฯม.7

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ในวันที่ 18 เม.ย.นี้ จะไม่มีการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญอย่างแน่นอนแล้ว เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัต นายกรัฐมนตรี ไม่ยอมลงนามทูลเกล้าฯ
ส่วนประเด็นดังกล่าว เห็นว่ารัฐบาลยื้อเวลาหรือไม่นั้น มองว่าประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การเปิดประชุมได้ช้าหรือเร็ว แต่อยู่ที่พฤติกรรมที่เป็นความผิด เพราะหากการประชุมเริ่มขึ้นเมื่อไร พฤติกรรมที่เป็นความผิด ถือว่าผิดอยู่ดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นยอมรับว่าจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ของวุฒิสภาในเรื่องที่ได้กำหนดกรอบการทำงานไว้
"การเปิดประชุมสมัยวิสามัญในช่วงที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรสามารถทำได้ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ได้แก่ การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ การแต่งตั้งบุคคลตามรัฐธรรมนูญ ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง และสิ่งที่กำหนดไว้ดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่รัฐทั้งสิ้นและมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ" นายสุรชัย กล่าว
รายงานข่าวจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แจ้งว่า ได้เสนอวันเปิดประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญใหม่ไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว จากเดิมที่กำหนดในวันที่ 18 เม.ย. ให้เป็นวันที่ 24 เม.ย.นี้แทน

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า กรณีที่รัฐบาลอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าไม่สามารถเปิดประชุมวุฒิสภา สมัยสามัญได้ จากการตรวจสอบหนังสือจากกฤษฎีกา วันที่ 3 และ 4 เม.ย. แล้ว ตอบกลับเรื่องเปิดประชุมไม่ได้ เฉพาะการถอดถอนบุคคล แต่ไม่ได้ระบุถึงไม่สามารถแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ ทั้งที่การประชุมกำหนดไว้ทั้ง 2 ประเด็น
การอ้างเหตุผลกฤษฎีกาของรัฐบาล จึงทำให้ไม่มีการประชุมในวันที่ 18 เม.ย. น่าจะเป็นคดีไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญอีกคดี และผลที่ออกมาจะเป็นการบีบรัดรัฐบาลไปอีกเปลาะ

**"นิคม"ดักคอเปิดประชุมวุฒิฯตั้งนายกฯม.7

ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่วุฒิสภา เตรียมทำหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีตรา พ.ร.ฎ.เปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 24 เม.ย.ว่า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกฯ ว่าจะเห็นชอบหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวมองว่า ในเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดตน ตามมาตรา 272 วุฒิสภาก็ต้องเปิดประชุม เพื่อถอดถอนตนตาม มาตรา 273 แต่ถ้าจะขอให้นายกรัฐมนตรี ตรา พ.ร.ฎ.เปิดประชุมตามมาตราอื่น ก็ต้องดูว่า จะเปิดประชุมเพื่ออะไร แต่ถ้ายังไม่สามารถทำการเปิดประชุมได้ ตนมองว่า ก็จะต้องมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอ้างว่าเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร ตามมาตรา 214 อย่างแน่นอน
"และเมื่อศาลฯรับเรื่อง ก็ไม่ต้องคิดว่าจะเป็นอย่างไรต่อ แน่นอนว่า สุดท้ายแล้วจะต้องเปิดประชุมวุฒิสภาจนได้ นอกจากนี้ความพยายามเปิดประชุมวุฒิสภา ยังสะท้อนได้ว่า เป็นความพยายามจ้องจะเล่นงานผม เตรียมการสำหรับการถอดถอนนายกฯ และต้องการเลือกประธานวุฒิสภา ทั้งที่อยู่นอกสมัยการประชุม ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์วุฒิสภา ทั้งนี้ก็เพื่อจะนำไปสู่การแต่งตั้งนายกฯ มาตรา 7 ในชั้นวุฒิสภาให้ได้ อย่างไรก็ตามวุฒิสภา ยังคงมีความสำคัญต่อสถานการณ์ทางเมืองในขณะนี้ จึงอยากฝากไว้ว่า ไม่ว่าจะดำเนินการอะไร ก็ขอให้วางอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย เนื่องจากมันจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้วุฒิสภา ซึ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติสุดท้ายที่เหลืออยู่ได้เป็นที่พึ่งให้แก่สังคม" นายนิคม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น