ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ ประธานรัฐสภามีมูลความผิด จงใจใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ แก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ทั้งการสอดไส้รัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านการลงชื่อ จงใจตัดสิทธิ์ผู้ขออภิปราย กำหนดแปรญัตติรวบรัด แต่ประเด็นลงมติวาระ 3 ระหว่างยื่นศาลรับคำร้องพิจารณาให้ตีตกไป เพราะไม่มีบทบัญญติห้ามไว้ ส่งเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอน
วันนี้ (1 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช.แถลงผลการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหาผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ และกรณีร้องขอให้ถอดถอนออกจากตําแหน่ง กรณีเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในส่วนของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา สรุปได้ว่า นายสมศักดิ์ได้นําญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับซึ่งมิใช่ฉบับเดิมของนายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ เป็นผู้เสนอเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2556 ส่งสําเนาให้สมาชิกรัฐสภาเพื่อประกอบการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2556 โดยไม่มี ส.ส.และ ส.ว.ลงชื่อเสนอญัตติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 อันเป็นการดําเนินการในลักษณะที่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง ไม่แจ้งข้อความจริงว่าได้มีการจัดทําญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้สมาชิกรัฐสภาทราบทุกคน
ขณะเดียวกัน นายสมศักดิ์ ได้ตัดสิทธิ์ผู้ขออภิปรายในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ และจงใจปิดการอภิปรายในมาตรา 10 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2556 ทั้งๆ ที่มีสมาชิกที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิอภิปรายจํานวนมาก นอกจากนี้ได้ร่วมกับนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ตัดสิทธิ์ผู้ขอแปรญัตติและผู้สงวนความเห็นเป็นจํานวน 57 คน เพราะเหตุขัดต่อหลักการ และนายสมศักดิ์ ได้กําหนดเวลาแปรญัตติ ไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 96 นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ได้จัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 เพื่อเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ทั้งๆ ที่มีสมาชิกรัฐสภาได้ทักท้วงแล้วว่าไม่สมควรที่จะมีการลงมติ เพราะเหตุว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคําร้องในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทําเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้น และได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ประกอบคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2556 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายสมศักดิ์ ได้นําญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับซึ่งมิใช่ฉบับเดิมของนายอุดมเดช และคณะเป็นผู้เสนอ โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 27 มี.ค.นายอุดมเดช ได้ประสานเจ้าหน้าที่สํานักการประชุม สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม บันทึกหลักการและเหตุผล และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสําคัญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ไปเปลี่ยนกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและนําร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิมกลับคืนไป โดยการแก้ไขดังกล่าวไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาลงชื่อเสนอญัตติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งนายสมศักดิ์ ทราบถึงการแก้ไขดังกล่าว
ขณะเดียวกัน นายสมศักดิ์ ได้ตัดสิทธิ์ผู้ขออภิปรายในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2556 และจงใจปิดการอภิปรายในมาตรา 10 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2556 ทั้งๆ ที่มีสมาชิกที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิอภิปรายจํานวนมาก นอกจากนี้เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2556 ยังได้ขอมติที่ประชุมเพื่อวินิจฉัยตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติและผู้สงวนความเห็นเป็นจํานวน 57 คน เพราะเหตุขัดต่อหลักการทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการฟังการอภิปราย ตามคําร้องจริง แต่ไม่มีพฤติการณ์ร่วมกับนายนิคมตัดสิทธิ์ดังกล่าว
ต่อมา นายสมศักดิ์ ได้จัดให้มีการลงมติให้กําหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยให้เริ่มนับระยะเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2556 ซึ่งเป็นวันที่รับหลักการ เห็นว่าการแปรญัตติเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาที่จะเสนอความคิดเห็น การแปรญัตติจึงต้องมีเวลาพอสมควรเพื่อให้สมาชิกผู้ประสงค์จะขอแปรญัตติได้ทราบระยะเวลาที่แน่นอนในการยื่นขอแปรญัตติ อันเป็นสิทธิในการทําหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การนับระยะเวลาในการแปรญัตติ ย่อมไม่อาจนับเวลาย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป การเริ่มนับระยะเวลาย้อนหลังไปจนทําให้เหลือระยะเวลาขอแปรญัตติเพียง 1 วัน เป็นการดําเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ส่วนประเด็นที่กล่าวหานายสมศักดิ์ ได้จัดให้มีการลงมติในวาระที่ 3 นั้น เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่กําหนดให้รัฐสภาหยุดการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะเหตุมีผู้ทักท้วงและเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคําร้องไว้พิจารณาโดยไม่มีมาตรการให้ระงับการพิจารณาไว้ชั่วคราว จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ส่อว่าจงใจกระทําการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายแต่อย่างใด ข้อกล่าวหาในส่วนนี้ไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหานี้ตกไป การกระทําและพฤติการณ์ของนายสมศักดิ์ จึงมีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา 291 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และมาตรา 274 ประกอบ พ.ร.บ. ป.ป.ช.มาตรา 56 มาตรา 58 มาตรา 61 และมาตรา 62
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าข้อกล่าวหาที่ประธานวุฒิสภาส่งมาที่เกี่ยวข้องกับนายสมศักดิ์ เป็นเรื่องสําคัญและได้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว จึงให้แยกทํารายงานเฉพาะข้อกล่าวหาดังกล่าว ส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณาก่อนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ประกอบมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.และให้ประธาน ป.ป.ช.ส่งรายงาน และเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อดําเนินการตามมาตรา 273 และมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญ สําหรับในส่วนของการดําเนินคดีอาญาขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง ผลเป็นประการใดจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง