ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หายใจโล่งไปได้ สำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พลันที่รู้มติของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 22 เม.ย. อนุญาตให้ยิ่งลักษณ์ ขยายเวลาในการส่งเอกสารคำชี้แจงต่อศาลรธน.ได้อีก 15 วัน
โดยให้นับจากวันที่ 18 เม.ย. ที่เป็นวันครบกำหนด ก่อนหน้านี้ยิ่งลักษณ์ได้ส่งเอกสารชี้แจงไปแล้วส่วนหนึ่ง ก็ยังสามารถยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติม หรือจะเป็นฉบับสมบูรณ์ทั้งหมดได้อีกครั้ง ภายในไม่เกิน 2 พ.ค. นี้
แม้ก่อนหน้านี้ ยิ่งลักษณ์และทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย จะมั่นใจเต็มร้อยว่าเป็นการใช้สิทธิตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอขยายเวลาในการส่งเอกสารคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
แต่ในใจลึกๆ ยิ่งลักษณ์ คงกังวลไม่น้อยว่าศาลรธน. จะอนุญาตหรือไม่ เพราะก็เป็นสิทธิของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน ที่อาจจะไม่ให้ยิ่งลักษณ์ ขยายเวลา
เนื่องจากคำร้องคดีดังกล่าว ทาง 28 ส.ว. ที่นำโดยไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ยื่นคำร้องมุ่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในเชิงข้อกฎหมายเป็นหลัก ว่ายิ่งลักษณ์ ต้องพ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า การที่รัฐบาลย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในข้อเท็จจริงต่างๆ ในคดีสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว เพราะได้ผ่านการพิจารณาคดีมาแล้วในชั้นศาลปกครอง กระบวนการคำร้องตอนนี้ ศาลรธน.เพียงแค่ดูในข้อกฎหมายเท่านั้น และการสู้คดีของยิ่งลักษณ์ ก็สู้แค่ในข้อกฎหมายเป็นหลัก
การจะมาอ้างเหตุผลเรื่องการย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี อะไรไม่จำเป็นอีกแล้ว มันจบไปแล้วสำหรับปมนี้ ปมสู้คดีของยิ่งลักษณ์ อาจมีข้อเท็จจริงเจือปนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากเรียกว่าไม่ถึง 20 เปอร์เซนต์เลยก็ว่าได้ นอกนั้นเป็นเรื่องข้อกฎหมายล้วนๆ
จุดนี้ ทำให้ทีมกฎหมายของยิ่งลักษณ์ รวมถึงตัวเธอเองก็ย่อมไม่มั่นใจว่า ศาลรธน.จะอนุญาตหรือไม่ เพราะศาลอาจมองว่ายิ่งลักษณ์พยายามประวิงเวลาก็เป็นไปได้ ทำให้ที่ผ่านมาทีมงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่มาช่วยยิ่งลักษณ์ ต่างก็บอกตรงกันว่า อาจเป็นไปได้ที่ศาลรธน. อาจจะไม่อนุญาตก็ได้ หรืออาจอนุญาต แต่อาจให้ไม่ครบ 15 วัน คืออาจให้แค่ 7 วัน โดยนับจาก 23 เม.ย. ก็ได้
เมื่อมติที่ประชุมตุลาการศาลรธน.ขยายเวลาให้ถึงไม่เกิน 2 พ.ค. ยิ่งลักษณ์ ก็น่าจะถอนใจได้เฮือกใหญ่ ว่าเส้นตายที่คนคิดกันว่าจะหลุดจากเก้าอี้รักษาการนายกฯ ไม่เกินเม.ย. อย่างน้อยๆ ดูแล้ว ก็น่าจะลากไปได้ถึงประมาณสัปดาห์ที่สองของเดือนพ.ค. เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม คาดว่า การสู้คดีของยิ่งลักษณ์และทีมกฎหมาย คงมีอะไรที่ต้องติดตามกันต่อไป เช่น ประเด็นที่ยิ่งลักษณ์จะระบุในเอกสารที่ยื่นเพิ่มเติม จะเพิ่มประเด็นการต่อสู้อะไรขึ้นไปอีกบ้าง
เพราะก่อนหน้านี้ ยิ่งลักษณ์ ได้ส่งเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรธน.ไปแล้วรอบหนึ่ง เมื่อ 17 เม.ย. ที่เป็นวันก่อนครบกำหนด 1 วัน คือ 18 เม.ย. ซึ่งสาเหตุที่ยื่นไปแล้ว ก็เป็นเรื่องของเทคนิคการสู้คดีที่ฝ่ายกฎหมายคงให้คำแนะนำว่า เพื่อให้ชัวร์ ไม่ให้เกิดมีปัญหา เพราะหากศาลรธน.ไม่อนุญาตขึ้นมา จะมีปัญหาว่า ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ยื่นเอกสารคำชี้แจงก็อาจทำให้เสียเปรียบฝ่ายผู้ถูกร้อง ก็ควรยื่นไปก่อนรอบแรก
โดยเอาประเด็นหลักๆ ยื่นไปก่อนเช่น การอ้างว่า ศาลรธน.ไม่มีอำนาจในการรับคำร้องคดีนี้ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยสิ้นสุดไปแล้ว และรัฐบาลได้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ให้ถวิลไปแล้ว
รวมถึง ยิ่งลักษณ์ได้สิ้นสภาพการเป็นนายกฯแล้ว ตั้งแต่ยุบสภา เพียงแต่อยู่ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เท่านั้น การจะให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เป็นครั้งที่สอง ทำไม่ได้
เมื่อศาลรธน.อนุญาตให้ขยายเวลาการยื่นคำร้องออกไปได้อีก 15 วัน ก็ต้องดูว่า ทีมกฎหมายจะให้คำแนะนำในการสู้คดีต่อไปอย่างไร จะเขียนปมแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติม หรือจะส่งใหม่ไปทั้งหมด ก็ต้องติดตามกัน
ไฮไลต์ของคดีที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดห้องให้มีการไต่สวนพยานบุคคล รวม 4 คน คือ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ผู้ยื่นคำร้อง- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้ถูกร้อง -พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีต ผบ.ตร. และอดีต เลขาธิการ สมช. ที่ทำให้ ถวิล ต้องโดนเด้ง และ ถวิล เปลี่ยนศรี ในวันที่ 6 พ.ค.
พยานทั้ง 4 คนดังกล่าว มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เพียงคนเดียว ที่อยู่ในลิสต์พยานบุคคลที่ยิ่งลักษณ์ ร้องขอต่อศาลรธน. เพื่อขอให้มีการไต่สวนพยานบุคคลเพิ่มเติม
ส่วนอีก 3 คนที่ร้องขอไปคือ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นคนชงเรื่องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสั่งย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการ รมว.แรงงาน และ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีต รอง ผบ.ตร. ศาลมีคำสั่งไม่ไต่สวนพยานทั้ง 3 คน เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดี จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวน แต่ก็ไม่ตัดสิทธิคือ หากบุคคลทั้งหมดจะยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นเป็นหนังสือและเอกสารที่เกี่ยวข้องก็ให้ยื่นได้ที่สำนักงานศาลรธน.แต่ต้องยื่นภายใน 2 พ.ค. เช่นเดียวกับยิ่งลักษณ์
หากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ นั่นหมายถึงว่า คนไทยทั้งประเทศ จะได้เห็น ยิ่งลักษณ์ เข้าห้องไต่สวนพิจารณาคดีของศาลรธน. ไปตอบข้อซักถามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และต้องเผชิญหน้ากับทั้ง ไพบูลย์ นิติตะวัน และ ถวิล เปลี่ยนศรี ในวันที่ 6 พ.ค.
แต่ในเอกสารแถลงข่าวผลการประชุมตุลาการศาลรธน.ดังกล่าวก็ระบุไว้ว่า หากบุคคลที่ศาลฯเรียก ไม่มาศาลฯ หรือไม่ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น ถือว่าไม่ติดใจ
ยิ่งลักษณ์ อาจไม่ไปศาลรธน. ก็ได้
เบื้องต้นวิเคราะห์ไว้ก่อนว่า ในคดีรับจำนำข้าว ยิ่งลักษณ์ ยังเดินทางไปชี้แจงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แบบหลายคนไม่คาดคิด ดังนั้น ก็น่าเชื่อว่า ยิ่งลักษณ์ ก็คงไม่สละสิทธิตรงนี้ แต่ก็คงต้องรอดูสถานการณ์ช่วงใกล้ๆ ถึงวันที่ 6 พ.ค. อีกทีหนึ่ง
กระบวนการสู้คดีของยิ่งลักษณ์ทั้งในชั้นศาลรธน.และคดีรับจำนำข้าว ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)อยู่ในช่วงใกล้วันชี้ขาดที่เข้มข้นอย่างยิ่ง