ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -พลันศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ รับวินิจฉัยสถานะ “นายกรัฐมนตรี”ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง ( 7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้รัฐบาลคืนเก้าอี้ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้กับถวิล เปลี่ยนศรี
ทำเอาหลายคนพากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และมองเลยไกลไปถึงผลแห่งคำวินิจฉัยที่จะออกมา และความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นกับสถานการณ์การเมืองไทย
เหล่ามวลมหาประชาชน ที่มีเป้าหมายต้องโค่นระบอบทักษิณให้สิ้นซาก พากันคาดหวังว่าผลของคำวินิจฉัยครั้งนี้จะสามารถทะลุทะลวงความตีบตันของสถานการณ์การเมือง ให้พบทางออกที่เดินหน้าต่อไปได้ แม้จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติชาติในขณะนี้ได้ทั้งหมด
ขณะที่บางกลุ่ม บางฝ่ายกลับเห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่นำมาสู่ความแตกแยกสองขั้วอย่างรุนแรงของคนในชาติ ยากที่จะดับลงได้เพียงแค่ การดำเนินการขององค์กรชี้ขาดอย่างศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้
ซ้ำร้ายยังมองด้วยว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาจะยิ่งเป็นการ "เติมฟืนในกองไฟ" โหมสถานการณ์ให้เลวร้ายมากยิ่งขึ้น หรืออาจถึงขั้นยกระดับเป็นสงครามกลางเมือง ที่คนไทยต้องมาฆ่ากันเองอีกคำรบหนึ่ง ก็เป็นได้
เฉพาะอย่างยิ่ง ท่าทีลนลานของบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย รวมทั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ชิงออกมาดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญ ว่าสองมาตรฐาน และไม่มีอำนาจรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา สอดรับกับแกนนำ นปช. ฮาร์ดคอร์ ทั้ง จตุพร พรหมพันธุ์ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่เตรียมระดมมวลชนคนเสื้อแดง ประกาศ พร้อมลุยเต็มที่ ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการวินิจฉัย
ก็น่าจะพอทำนายอนาคตอันใกล้ได้ว่า ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยออกมารูปไหน ก็ยากที่มวลชนแต่ละฝ่ายจะยอมปล่อยผ่าน ไม่ฉกฉวยเอาคำวินิจฉัยมาแปลความให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนเอง
ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงปัญหาในเชิงข้อกฎหมายที่จะตามมา ทั้งประเด็นที่ว่า คณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยหรือไม่ หากสถานะนายกรัฐมนตรี ของ ยิ่งลักษณ์ ต้องสิ้นสุดลง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
หรือว่ารักษาการนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่ได้พ้นจากตำแหน่งแล้ว ตั้งแต่มีพระราชกฤษฏีกายุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 56 ถ้านายกรัฐมนตรี ถูกชี้ว่าต้องพ้นเก้าอี้ แล้ว จะทำให้รักษาการนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งอีกครั้งหรือไม่
และหากการวินิจิฉัยครั้งนี้ นำไปสู่สุญญากาศทางการเมือง เหมือนที่บางฝ่ายวิเคราะห์ จะเป้นการเปิดช่องให้ประเทศไทยได้มีนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ได้หรือไม่
เงื่อนปมเหล่านี้ จึงทำให้สายตาทุกคู่ ถนนทุกสาย มุ่งตรงมาที่ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะออกหัว ออกก้อย
หลายคนอาจจะนึกไม่ออกว่า เส้นสน กลนัยของคดีนี้ มีความเป็นมาอย่างไร ไฉนถึงทำให้พรรคเพื่อไทย ออกอาการทุรนทุราย เหมือนปลาถูกทุบเช่นนี้ได้
ที่มาเป็นเพราะ"ไพบูลย์ นิติตะวัน" ส.ว.สรรหา และเพื่อนๆส.ว.อีก 28 คนได้ใช้สิทธิตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ยื่นผ่านประธานวุฒิสภา ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่ ยิ่งลักษณ์ ทำการผลัก ถวิล เปลี่ยนศรี ให้ พ้นจากเก้าอี้เลขา สมช. เป็นเพราะ มีเบื้องหน้าเบื้องหลังซ่อนเร้น นั่นก็คือหวังเกลี่ยตำแหน่งนี้ให้ว่าง เพื่อเอา พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ซึ่งช่วงนั้นนั่งครองเก้าอี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)อยู่ มานั่งแทน
แต่เป้าหมายที่แท้จริงอยู่ที่ ความต้องการจะดันพี่ชายของพี่สะใภ้ คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ. ป้อมเพชร อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ขณะนั้นยังเป็นรอง ผบ.ตร. ให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร. จะได้เป็นเกียรติเป็นศรี ให้กับตัวเองว่าได้เกษียณอายุราชการในตำแหน่งสูงสุดขององค์กรนี้
พฤติการณ์ของ ยิ่งลักษณ์ แม้จะลับ ลวง พราง อย่างไร สุดท้ายแล้วก็เหมือนหมากตื้นๆ ที่ใครก็มองเห็นเจตนาที่ซ่อนเร้นได้ จึงเห็นว่าเข้าข่าย เป็นการใช้ตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เพื่อประโยชน์ของตนเอง และเครือญาติ ตลอดจนพรรคเพื่อไทย ที่สังกัดอยู่ ซึ่งเป็นไปตามลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266
ซึ่งเรื่องนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้การันตีแล้วว่า เป็นการโยกย้ายมิชอบ และให้คืนตำแหน่งเดิมแก่ ถวิล ดังที่กล่าวข้างต้น จึงเป็นสาระสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญ อาจไม่จำต้องการแสวงหาข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายอื่นใด มาเสริมเติมน้ำหนักในการวินิจฉัยเลย ก็ย่อมได้
ทำให้บรรดานักวิเคราะห์หลายสำนัก กระทั่งคนในรัฐบาลเอง ก็ฟันธงตรงกันว่างานนี้ ยิ่งลักษณ์ คอขาดแน่
จึงเป็นที่มาของการระดมมวลชนของทั้งฝ่าย กปปส.ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ และฝ่ายแดง นปช. ที่นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ ที่จะมาประจันหน้ากัน ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน
โดยที่ฝ่ายแดงนปช. ตั้งธงมาล่วงหน้านานแล้วว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า ยิ่งลักษณ์ ผิด ก็จะไม่ยอมรับคำตัดสิน จะยังคงสนับสนุนให้ ยิ่งลักษณ์ รักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะถือว่า ยิ่งลักษณ์ และครม.ทั้งหมดนั้นได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วตั้งแต่วันยุบสภา แต่ที่ยังอยู่รักษาการ ก็เพราะต้องทำหน้าที่ต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ในมาตรา 181
ขณะที่ฝ่าย สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เตรียมการไว้ว่า ถ้าศาลตัดสินว่า ยิ่งลักษณ์ ผิด ก็ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี รวมทั้งครม.ทั้งชุด ก็ต้องสิ้นสภาพไปด้วย จะสั่งราชการ จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ จะใช้ทรัพยากร หรืองบประมาณแผ่นดินใดๆ ไม่ได้เด็ดขาด ส่วนราชการและข้าราชการทั้งหมด ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามอีกต่อไปแล้ว แต่ถ้ายังดึงดัน และมีใครร่วมคบคิด เพื่อให้มีอำนาจต่อไป นั่นก็หมายความว่า
ได้มีการก่อกบฏ เพื่อยึดอำนาจ หรือรัฐประหารตัวเอง เกิดขึ้นแล้ว
ข้างฝ่าย กปปส. จึงมีการพูดถึงเรื่องการตั้ง "รัฏฐาธิปัตย์" ขึ้นมา ในนามมวลชน กปปส. จะทูลเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี และครม.ชุดใหม่ โดยนายสุเทพ จะอาสารับเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการเอง
ไม่ว่ายิ่งลักษณ์ จะอยู่ในอำนาจรักษาการต่อไปได้หรือไม่ รัฏฐาธิปัตย์ ของสุเทพ จะเดินหน้าไปได้หรือไม่นั้น ใช่ว่าจะดำเนินการได้โดยลำพัง ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ว่า กองทัพจะยืนอยู่ข้างไหน ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลาย จะสนับสนุนรัฐบาลต่อไป หรือเห็นว่ารัฐบาลก็เป็นกบฏที่ต้องปราบ
ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบรรดาขุนทหาร ณ เวลานั้น
แต่บังเอิญ ท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า จะไม่ยืนอยู่ข้างรัฏฐาธิปัตย์ เพราะเห็นว่าผิดกฎหมาย
รัฏฐาธิปัตย์ ที่เป็นความฝันลึกลึกของสุเทพ จึงมีโอกาสแท้ง สูงมาก !!