xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ปู”ฟูมฟาย ส่อไม่ฟังศาล รธน.ชี้ขาดคดี“ถวิล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เหมือนรู้ชะตากรรมของตัวเองล่วงหน้าว่า กรณีการย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องหลุดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีค่อนข่างแน่

นั่นเพราะกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 ไว้แล้วว่าการโอนนายถวิลจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหาและคณะรวม 28 คนได้ยื่นเรื่องผ่านประธานวุฒิสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ว่า กรณีการย้ายนายถวิลดังกล่าว ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 268 กับมาตรา 266 (2) และ (3) หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้แล้ว จึงทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกอาการตีโพยตีพาย แสดงท่าทีที่จะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้า

วันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra กล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องการย้ายนายถวิลไว้วินิจฉัย ถือเป็นครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรอิสระรับคดีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลมาพิจารณา ทั้งๆ คดีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแก่นายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังอ้างว่า ตนเองได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 (2) แล้ว สืบเนื่องจากการยุบสภา และในปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เท่านั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับคำร้องดังกล่าวมาวินิจฉัยให้เกิดความซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเสียเองแล้ว คำวินิจฉัยที่ขาดหลักการความเป็นสากลในเรื่อง “หลักนิติธรรม” อาจจะกลายเครื่องมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในทางการเมืองอีกด้วย

แถมยังเพ้อเจ้อต่อไปว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญควรต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารโดยยึดหลักการ และหน้าที่ตามขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยไม่ก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ และที่สำคัญจะต้องไม่สร้างความแตกแยกให้กับสังคมด้วยการดำเนินการใดๆ ในลักษณะสองมาตรฐาน

คำพูดดังกล่าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้ นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตอบโต้ว่า เป็นการให้ความเท็จกับประชาชน เป็นเรื่องที่แย่มากสำหรับผู้นำรัฐบาลที่พยายามใส่ร้ายกระบวนการยุติธรรม เพราะการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคดีของนายถวิล เปลี่ยนศรี ไม่ใช่คดีบริหารงานบุคคล แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ยังปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีจึงไม่มีการจำหน่ายคดี การโพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ของทางฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมาโดยตลอด ที่พยายามให้เห็นว่ากลไก ตรวจสอบถ่วงดุลเป็นปฏิปักษ์ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อหวังให้คนหลงเชื่อตามแนวทางนี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการกระทำทุจริต โดยไม่ได้คิดในเชิงของภาพลักษณ์ของประเทศ

นอกจากนี้ โดยข้อเท็จจริง การโอนย้ายนายถวิลเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร. เพื่อให้เครือญาติคือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ไปเป็น ผบ.ตร.แทน และต้องหาเก้าอี้ตัวใหม่มาให้ พล.ต.อ.วิเชียร จึงย้ายนายถวิลออกจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และให้ พล.ต.อ.วิเชียรมานั่งแทน

พฤติกรรมดังกล่าว กลุ่ม ส.ว.ผู้ร้องเห็นว่า มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเองและเครือญาติตลอดจนพรรคเพื่อไทยที่ผู้ถูกร้องสังกัดอยู่และมิได้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3)

เพราะฉะนั้น กรณีการย้ายนายถวิลจึงไม่ใช่เรื่องการบริหารงานบุคคลตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์พยายามบิดเบือน

ขณะที่นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เห็นว่า การที่นายถวิลนำคดีไปฟ้องศาลปกครองนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อให้ศาลควบคุมตรวจสอบคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายตนว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนความมุ่งหมายของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยเรื่องนี้มีความมุ่งหมายเพื่อตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าว(ของนายกรัฐมนตรี)เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 268 หรือไม่ หากเข้าลักษณะต้องห้ามดังกล่าวจะส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความมุ่งหมายแห่งคดีของศาลทั้งสองนั้นไม่เหมือนกัน

ส่วนนายกรัฐมนตรีรักษาการจะถูกวินิจฉัยตามมาตรา 182(7) ได้หรือไม่นั้น นายบรรเจิดเห็นว่า โดยสถานภาพของคณะรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถือว่าได้สิ้นสุดลงแล้วตามมาตรา 180(2) ของรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการยุบสภา คณะรัฐมนตรีที่รักษาการจึงต้องปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็นตามมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่เป็นคำถามในทางกฎหมายคือ เมื่อคณะรัฐมนตรีพ้นทั้งคณะตามมาตรา 180(2) แล้ว รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งจะพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะตัวตามมาตรา 182 ของรัฐธรรมนูญได้อีกหรือไม่ หากพิจารณาดูมาตรา 182 ตั้งแต่ (1) – (8) หลายกรณีอาจเกิดกับรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะตัวได้ เช่น ตาม (1) ตาย (2) ลาออก (3) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก (7) กระทำการต้องห้ามตามมาตรา 267 มาตรา 268 หรือมาตรา 269 และ(9) วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง จะเห็นได้ว่า กรณี ตาม (1), (2), (3), (7) และ (8) ย่อมเป็นกรณีที่อาจจะเกิดกับรัฐมนตรีที่อยู่ในระหว่างการรักษาการได้ กล่าวคือ รัฐมนตรีที่รักษาการอยู่ อาจตายในระหว่างรักษาการณ์ได้ อาจลาออกได้ อาจต้องคำพิพากษาให้จำคุกได้ อาจถูกวินิจฉัยว่ากระทำการต้องห้ามตามมาตรา 268 ได้ หรือ ถูกถอดถอนตามมาตรา 274 ได้ ดังนั้นในกรณีนี้ย่อมมีผลทำให้รัฐมนตรีที่รักษาการนั้นพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีที่รักษาการไปด้วยนั่นเอง

กล่าวโดยสรุป ความมุ่งหมายของมาตรา 180 เป็นเรื่องให้รัฐมนตรี“พ้นทั้งคณะ”และรักษาการต่อได้ แต่มาตรา 182 มุ่งหมายให้รัฐมนตรี “สิ้นสุดลงเฉพาะตัว” และไม่สามารถรักษาการต่อไปได้ ดังนั้น กรณีที่รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วย่อมอยู่ภายใต้หลักการพ้นจากตำแหน่งเป็นการเฉพาะตัวตามมาตรา 182 (1) (2) (3) (7) และ (8) อีกได้ จากเหตุผลดังกล่าวนี้เองย่อมถือว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ากรณีต้องด้วยมาตรา 182(7) กรณีย่อมส่งผลกระทบต่อสถานภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างน้อยที่สุดทำให้ความเป็น “รัฐมนตรี” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลง ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่อาจจะทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปได้

นี่เป็นประเด็นทางข้อกฎหมายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยากจะดิ้นให้หลุด และพอจะมองออกล่วงหน้าว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นไร จึงได้เตรียมการที่จะไม่ยอมรับไว้ล่วงหน้า ด้วยการพยายามสร้างกระแสว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยึดหลักนิติธรรม เป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่ม ดำเนินการสองมาตรฐาน เป็นต้น เหมือนที่คนในระบอบทักษิณเคยทำมาแล้วในหลายๆ กรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมาในเชิงที่เป็นลบกับพวกตน


กำลังโหลดความคิดเห็น