xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปประเทศ ‘3 ไม่’ ที่จะขาดเสียมิได้ !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

วันนี้ – วันที่ 10 มีนาคม 2557 - กปปส.เขาจะเริ่มสัมมนาลงลึกแนวทางการปฏิรูปประเทศ และการปฏิรูปการเมืองในเบื้องต้นหลังมีรัฐบาลคนกลาง

ขอเสนอ “3 ไม่” เป็นข้อเสนอพื้นฐาน 3 ประการแรก

1) ไม่บังคับผู้สมัครส.ส.ให้ต้องสังกัดพรรคการเมือง

2) ไม่ให้อำนาจพรรคการเมืองขับไล่ส.ส.ที่ไม่ปฏิบัติตามคำบงการพ้นจากตำแหน่ง

3) ไม่บังคับว่านายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากส.ส.เท่านั้น


ถ้าการปฏิรูปการเมืองหมายความถึงการทำลายระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดของระบอบเผด็จการรัฐสภาของนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนขั้วอำนาจ ก็ไม่อาจจะเว้นการปฏิรูปใน 3 ประการนี้ได้

พูดเรื่องนี้มา 20 ปีแล้วเป็นอย่างน้อย และก็เป็นสารัตถะหลักเดียวกับนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัตน์ภายใต้การนำของท่านอาจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ อันเป็นแนวคิดที่สืบทอดมาจากศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์

ขออนุญาตเผยแพร่คลิป “เกาะติดวิกฤตชาติกับศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์” อีกสักครั้ง ณ ที่นี้

ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์เคยไปอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศในหัวข้อ “ปฏิรูปประเทศ : ปฏิรูประบบรัฐสภาเพื่อการพัฒนาคุณภาพประชาธิปไตย” ให้กับสถาบันพระปกเกล้าในช่วงเดือนสิงหาคม 2553 นับถึงวันนี้ก็เกิน 3 ปีเต็มมาแล้วมา อาศัยที่ถ้อยคำที่ท่านพูดบางคำบางประโยคนั้นดู “แรง” จึงทำให้ปรากฏเป็นข่าวฮือฮาในวงเล็ก ๆ อยู่วันหนึ่ง แต่ก็เท่านั้น เป็นข่าวพาดหัวอยู่วันเดียวแล้วก็เงียบหายไป เหมือนที่เคยเป็นมาโดยตลอดกับแนวคิดของท่านตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

โดยหลักแล้วแนวคิดนี้เห็นว่าปัญหาวิกฤตของประเทศเกิดจากระบอบเผด็จการรัฐสภา หรือระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน

ถ้าจะแก้ไขก็มีแต่ต้องทำลายระบอบ/ระบบนั้นในทันที !


จริง ๆ แล้วสารัตถะของแนวความคิดนี้ไม่ต่างจากแนวความคิดปฏิวัติประชาธิปไตยของนักเคลื่อนไหวมวลชนกลุ่มหนึ่งที่สืบมรดกความคิดมาจากท่านอาจารย์ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร แน่นอนพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธอยู่ในสกุลความคิดนี้ด้วย

วิธีการแก้ไขในเบื้องต้นที่ต้องทำทันทีก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างน้อย ๆ 3 ประการที่กล่าวมา

จากนั้นขั้นต่อไปก็คือเริ่มกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อการปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูปประเทศ โดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้มีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ โดยผ่านระบบการคัดเลือกจาก “รัฐบุรุษ” หรือ “ผู้นำ” ในความหมายของ Statesman ไม่ใช่ในลักษณะของ “สภา” หรือ “สมัชชา” ที่มีที่มาหลากหลาย

ขั้นสุดท้ายเมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พร้อมด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องทำเสร็จพร้อมกันแล้วให้นำมาผ่านการลงประชามติจากประชาชนโดยตรง

ไม่ว่าใครจะเห็นพ้องหรือเห็นต่างอย่างไรท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ก็ยืนยันของท่านอย่างนี้ มากว่า 20 ปีแล้วนับตั้งแต่นำข้อเขียนเรื่อง “รัฐธรรมนูญ : โครงสร้างและกลไกทางกฎหมาย” เสนอต่อที่ประชุมในการสัมมนาทางวิชาการที่โรงแรมเอเซีย จัดโดยสถาบันนโยบายศึกษา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2534 และเป็นหัวหน้าคณะวิจัยรวมทั้งเขียนบทความต่อเนื่องด้วยตนเองตลอด 2 ปีต่อมา ก่อนจะตกรวบยอดเป็นบทสรุปด้วยการเขียนบทความขนาดยาวเรื่อง “Constitutionalism : ทางออกของประเทศไทย” ลงในนสพ.ผู้จัดการรายวันช่วงเดือนเมษายน 2537 สมัยเมื่อผมเป็นบรรณาธิการข่าวการเมืองและบรรณาธิการบทความ และจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มโดยสถาบันนโยบายศึกษาในอีก 3 เดือนต่อมา อย่างที่เล่าให้ฟังในตอนต้น

ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสีก็เคยนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้กับการทำงานของคณะกรรมการพัฒนา ประชาธิปไตย (คพป.) เมื่อปี 2537 อย่างจริงจัง

คุณบรรหาร ศิลปอาชานำมาหาเสียงเลือกตั้งในปี 2538 เป็นสัญญาประชาคมของพรรคชาติไทยว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวทางคพป.นี้ และจะเพราะสัญญาประชาคมนี้หรือไม่ ไม่ทราบ แต่ท่านก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศนี้หลังการเลือกตั้งครั้งนั้น และได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาศึกษาหาแนวทางทำตามสัญญาประชาคมโดยมีคุณชุมพล ศิลปะอาชาเป็นประธาน

เป็นรากฐานที่นำไปสู่การแก้ไขมาตรา 211 รัฐธรรมนูญ 2534 ในปี 2539

ก่อให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 ขึ้นมาในที่สุด แต่เป็นรูปแบบสภาหรือสมัชชา แตกต่างไปจากแนวคิดเดิม จึงก่อให้เกิดเป็นข้อจำกัด แม้นวัตกรรมทางการเมืองหลายอย่างจะมาจากแนวคิดวิชากฎหมายมหาชนยุคใหม่ที่นำเสนอโดยท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ แต่หลักสำคัญที่สุด 3 ประการข้างต้นไม่ได้รับการแก้ไข เพราะไม่สามารถยืนหยัด “ทานกระแส” ที่เชื่อผิด ๆ ต่อ ๆ ตามกันมา

ผลที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับนั้นในที่สุดจึงคือการกระชับอำนาจให้กับระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน

ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ไม่ได้ย่อท้อ หรือเปลี่ยนแปลงความคิด ท่านนำเสนอแนวคิดพื้นฐานของท่านอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งหนึ่ง 2 ศิษย์เอกอย่างท่านอาจารย์สมยศ เชื้อไทยและท่านอาจารย์บรรเจิด สิงคเนติถึงกับก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาพรรคหนึ่งชื่อ “พรรคทางเลือกที่สาม” ในช่วงปี 2547 ช่วงวิกฤตเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2553 ก่อนจะนองเลือด ท่านก็เสนอทางออกของประเทศไทยอีกครั้งภายใต้แนวคิดพื้นฐานเดิมแต่ประยุกต์ไป ตามสถานการณ์

เมื่อเกิดกระแส “ปฏิรูปประเทศ” ขึ้นควบคู่กันไป ท่านก็ออกมาตอบโจทย์อีกว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง 2 ขั้นตอน

เสนอตัวอย่าง “ร่างต้นแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” ออกมาด้วย !


จุดอ่อนประการสำคัญของท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ก็คือภาคประชาชนส่วนหนึ่งกล่าวหาท่านว่าไม่เห็นพลังของมวลชน ไปเน้นแต่ชนชั้นนำมากเกินไป

ท่านก็ไม่ได้ใส่ใจ เพราะเชื่อแนวทางการวิเคราะห์สังคมไทยตามหลักสังคมวิทยาการเมือง

เมื่อ 2 ปีก่อนท่านวิจารณ์แนวทางตั้งสมัชชาของท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไว้ว่า การแก้ปัญหาการปฏิรูปประเทศไม่ได้อยู่ที่จำนวนของสมัชชา และคาดหมายว่าสิ่งที่คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปจะได้จากสมัชชาทั้ง 14 สมัชชา ก็คือ ความคิดเห็นที่หลากหลาย จนจับสาระและเหตุผลไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะทำให้ข้อเสนอเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างไร

อยากให้มวลชนกปปส.ลองพิจารณาแนวทางปฏิรูปประเทศของท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์มาประยุกต์กับการต่อสู้ของมวลมหาประชาชน แม้อาจจะเป็นแนวทางที่แตกต่างไปจากแนวทางสภาประชาชน-รัฐบาลประชาชน

จะอย่างไรลักษณะไหน เชื่อว่านักวิชาการเครือข่ายกปปส.น่าจะช่วยกันได้ โดยเฉพาะกลุ่มสยามประชาภิวัตน์

ในคลิปสัมภาษณ์ล่าสุด ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ก็ได้พูดถึงการปฏิวัติโดยประชาชนไว้ด้วย

แนวทางการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศอาจเป็นหนึ่งในทางออกได้เมื่อเกิดสุญญากาศลักษณ์ใดลักษณ์หนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น