นักวิชาการขึ้นเวที กปปส.หนุนปฏิรูป “กิตติศักดิ์” สวนสื่อนอก ยันมหาชนไม่กลัวเลือกตั้ง ย้ำปฏิรูปต้องอาศัยพลังประชาชน อย่าหวังพึ่งองค์กรอิสระ หากทำไม่เสร็จครั้งเดียว ก็ตามเช็ดถูต่อเนื่องได้ “บรรเจิด” เชื่อมั่นชัยชนะต้องเป็นของประชาชน ชี้เลื่อนเลือกตั้งทำได้ เตือนดันทุรังโดยขาดฉันทมติ จะโมฆะซ้ำรอยปี 49
คลิกที่นี่ เพื่อฟังการเสวนาเรื่องสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันนี้ (14 ธ.ค.) คณะกรรมการประชาชนเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.ได้มีการจัดงานสมัชชามวลมหาประชาชน เพื่อเสวนาเรื่องสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โดยมีนักวิชาการ เช่น นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และแกนนำกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โดยมีนายอภิชาติ ดำดี เป็นผู้ดำเนินรายการบนเวที
นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ที่จริงแล้วสภาประชาชนมีอยู่แล้วตามข้อเท็จจริงตามความชอบธรรมในตัวของมันเองจากการที่ประชาชนลุกขึ้นแสดงเจตจำนงทางการเมืองให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นไปโดยชอบ ซึ่งจะอยู่เหนือสภาใดๆ สิ่งที่ กปปส.กำลังเรียกร้องคือ ขอให้มีกฎหมายมารองรับเท่านั้น ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะจัดตั้งอย่างไรเพื่อให้มีขั้นตอนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เพื่อให้มีผู้แทน ผู้ประสานความคิดให้การปฏิบัติลุล่วงไปได้ ข่าวที่ออกในต่างประเทศที่มองว่าฝ่ายคัดค้านคือเสียงข้างน้อยที่ลุกขึ้นมาเพราะกลัวแพ้เลือกตั้ง จึงต้องทำทุกทางไม่ให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้น เราต้องพิสูจน์ว่าเขาคิดผิด
นายกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า เราต้องพิสูจน์กันที่การเลือกตั้งอีกภายใน 50 วันนี้ แต่ถามว่าเราควรยอมรับการเลือกตั้งนี้หรือไม่ เพราะมันจะโกงเรา คนที่ตื่นตัวมากที่สุดคือ คนในต่างจังหวัด ภารกิจแรกของสภาประชาชนคือ ล่อให้มันมาติดกับแล้วจับโกงมันทั้งประเทศ กปปส.ไม่ควรกลัวการเลือกตั้ง แต่ว่าเราต้องเป็นแมวจับหนูให้ดู แต่หากจับไม่ได้เราก็ต้องยอมรับ เพราะมันก็จะโกงอีกยังไงพวกเราก็ต้องจับมันได้ เนื่องจากที่ผ่านมา เราฝากความหวังไว้กับกรรมการอิสระองค์กรต่างๆ เช่น ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิฯ เป็นต้น องค์กรอิสระเหล่านี้เข้าไปประชุมกันครั้งแรกก็พูดกันแต่เรื่องเครื่องแบบ และเงินเดือน เลยทำให้เราได้ ส.ว.แบบนี้
“ทุกวันนี้หากจะมีการปฏิรูปต้องเกิดจากประชาชน ไม่ใช่กรรมการอิสระต่างๆ แต่อย่างใด และขอเรียนอีกครั้งว่า ผมไม่กลัวการเลือกตั้ง เพราะถ้าเขาไม่ยินดีเลื่อนการเลือกตั้งเราก็พร้อมที่จะปฏิรูปตอนกลางเลือกตั้ง ผมคิดว่าหากเราปฏิรูปสำเร็จได้เร็วก็ดี ปัญหามันหมักหมมมานานแล้ว เรากวาดมันครั้งเดียวไม่หมด แต่เราต้องเช็ดถูอย่างต่อเนื่อง และจะใช้กำลังไม่ได้ต้องใช้สติปัญญาเพราะสิ่งที่หมักหมมอยู่มันคือ อวิชาที่เราต้องขจัดออกไป” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
ด้านนายบรรเจิด กล่าวว่า ปีนี้เป็นครั้งที่ประชาชนจะมีโอกาสมากที่สุดในการชี้ทิศทางของบ้านเมือง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.2475 ซึ่งพลังของประชาชนคือพลังที่บริสุทธิ์ ไม่อาจชนะได้ แต่การต่อสู้ด้วยมือเปล่าคงจะไม่ใช่การชนะภายใน 3 วัน แต่ตนเชื่อว่าชัยชนะจะอยู่กับประชาชนแน่นอน เพราะฉะนั้นประเทศไทยควรมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลรักษาการที่เป็นกบฏต่อแผ่นดิน หมดความชอบธรรมที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนปฏิรูปการเมือง เพราะตราบใดที่ประชาธิปไตยต้องมีค่าใช้จ่ายสูงก็จะนำไปสู่การทุจริตอย่างมโหฬาร วงจรอุบาทว์นี้จะยุติไม่ได้ การเลือกตั้งเป็นเพียงการเลือกผู้บริหารมาทำหน้าที่ในสภาวะปกติ เหมือนบ้านที่สร้างเสร็จแล้วหาคนมาทาสีใหม่ แต่วันนี้เรามองว่าบ้านมันทรุดโทรมแล้ว เราต้องการซ่อมแซมบ้านก่อนที่จะหาคนมาทาสี จึงต้องให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนจะมีการเลือกตั้ง
นายบรรเจิด กล่าวอีกว่า เลขากฤษฎีกาชี้แจงว่า การเลือกตั้งต้องมีในวันที่ 2 ก.พ.57 เท่านั้น เลื่อนไม่ได้นั้น ถูกต้อง แต่ในทางกฎหมายใครเป็นคนกำหนดได้ก็เลื่อนได้ สมมติว่าจะมีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 แต่หากเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 การเลือกตั้งก็ทำไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งต้องพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้น จึงไม่ใช่ปัญหาที่รัฐบาลจะเลื่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้มีสภาปฏิรูปก่อนได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เรื่องน้ำท่วมเป็นเพียงตัวอย่างเหตุผลหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนได้ มันยังมีเหตุการณ์อย่างอื่นอีกเยอะ
นายบรรเจิด กล่าวต่อว่า ส่วนเหตุการณ์เมื่อปี 2549 การเลือกตั้งสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีการบอยคอตกันหลายพรรค และศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าเป็นการเลือกตั้งที่โมฆะ โดยศาลให้เหตุผลว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 18 ล้านเสียง แต่มีผู้ไม่ลงคะแน 9 ล้านเสียง และบัตรเสียอีก 1 ล้าน แสดงว่า คนไม่ประสงค์จะเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ดังนั้น หากการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้รับฉันทมติจากประชาชนมันก็จะเดินไปสู่รูปแบบนั้นอีก ฉะนั้นเงิน 3 พันกว่าล้านบาทอาจสูญเปล่า ส่วนแนวทางการปฏิรูปก็ต้องให้พี่น้องประชาชน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ร่วมกันปฏิรูป โดยเราจะรอการเจรจาในช่วงบ่ายวันนี้