ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลังจากได้นำเสนอเรื่องน้ำมันมะพร้าวแล้ว ก็ได้ปรากฏว่ามีผู้อ่านได้มีความสนใจในเรื่องน้ำมันมะพร้าวมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้น้ำมันมะพร้าวในหลายกรณี จึงถือโอกาสนี้ตอบคำถามยอดฮิตที่มีความสงสัยในเรื่องต่างๆ ดังนี้
คำถามที่ 1:ดื่มน้ำมันมะพร้าวสรุปแล้วดีอย่างไร?
คำตอบที่ 1:ตอบได้อย่างสรุปที่สุดคือ 1.เป็นไขมันอิ่มตัวจึงไม่เปิดโอกาสให้อนุมูลอิสระเข้าโจมตีให้เป็นโทษต่อร่างกาย 2. เป็นไขมันอิ่มตัวเมื่อโดนความร้อนจึงไม่กลายสภาพเป็นไขมันทรานส์ที่อันตรายต่อสุขภาพ 3. น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันสายปานกลางมากที่สุดต่างจากน้ำมันชนิดอื่นที่เป็นกรดไขมันสายยาว จึงทำให้ดูดซึมเร็วและกลายเป็นพลังงานแก่ตับได้เร็วโดยไม่ตกค้าง 4. มีสารต้านอนุมูลอิสระโดยการดูดซึมที่เร็วผ่านกรดไขมันสายปานกลางจึงสามารถนำมาใช้ทั้งดื่ม ทาผิว และหมักเส้นผมได้ 5. มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อโรค
คำถามที่ 2 :ทำไมดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วท้องเสีย มวนท้อง จะเป็นลมแล้วควรทำอย่างไร?
คำตอบที่ 2 :สำหรับคนที่ดื่มน้ำมันมะพร้าวใหม่ อาจมีอาการดังกล่าวได้ เพราะเมื่ออัตราการเผาผลาญสูงขึ้น จะทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้เร็วและมีกำลังมากขึ้น จึงทำให้เกิดการขับพิษผ่านกระบวนการขับถ่ายได้มาก เปรียบเหมือนคนที่ไม่เคยออกกำลังกายแล้วมาวิ่งหรือยกน้ำหนักอาจจะเกิดอาการปวดล้ากล้ามเนื้อได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้ "ลดปริมาณ"การดื่มให้เหมาะสมกับตัวเอง เริ่มจากน้อยๆจนคุ้นชิ้นแล้วไต่ระดับขึ้นไปให้สอดคล้องกับน้ำหนักของตัวเอง
คำถามที่ 3:ควรจะดื่มเท่าไหร่ถึงจะพอดี?
คำตอบที่ 3:แบ่งออกเป็นได้ 3 แบบ คือ
1.ปริมาณที่ดื่มต่อวันให้วัดตามน้ำหนักของแต่ละคน โดยให้น้ำหนัก 11-22 กิโลกรัม ดื่มได้ 1 ช้อนโต๊ะ (15 ซีซี), น้ำหนัก 23-33 กิโลกรัม ดื่มได้ 1.5 ช้อนโต๊ะ (22 ซีซี), น้ำหนัก 34-44 กิโลกรัม ดื่มได้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 ซีซี), น้ำหนัก 45-56 กิโลกรัม ดื่มได้ 2.5 ช้อนโต๊ะ (37 ซีซี), น้ำหนัก 57-67 กิโลกรัม ดื่มได้ 3 ช้อนโต๊ะ (44 ซีซี), น้ำหนัก 68-78 กิโลกรัม ดื่มได้ 3.5 ช้อนโต๊ะ (52 กิโลกรัม), น้ำหนัก 79 กิโลกรัมชึ้นไป ดื่มได้ 4 ช้อนโต๊ะ (60 ซีซี)
2.ปริมาณที่ดื่มต่อวันให้วัดตามปริมาณแคลลอรี่ที่บริโภค โดยหากเป็นผู้รับประทานเนื้อสัตว์อยู่ให้รับประทานตอนเช้าประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ แต่หากเป็นผู้รับประทานมังสวิรัติอาจดื่มได้ถึง 6 ช้อนโต๊ะต่อวัน
3.ปริมาณที่ดื่มต่อวันวัดว่าอุณหภูมิร่างกายตอนเช้าเมื่อตื่นนอนเฉลี่ย 5 วัน (เพื่อวัดอัตราการเผาผลาญของร่างกาย) ถ้าในผู้ชายหรือผู้หญิงที่หมดประจำเดือนวัดแล้วปรากฏว่าอุณหภูมิต่ำกว่า 36.3 องศาเซลเซียส หรือในผู้หญิงที่ยังไม่หมดประจำเดือนแล้วอุณหภูมิต่ำกว่า 36.4 องศาเซลเซียส ให้ดื่มตามเกณฑ์ในข้อ 1 แล้วหากผ่านไป 4 สัปดาห์แล้ว อุณหภูมิยังไม่ถึง 36.3-36.4 องศาเซลเซียส ให้เพิ่มปริมาณดื่มขึ้นเป็นลำดับ
คำตอบที่ 4:กลัวคอเลสเตอรอลในน้ำมันมะพร้าว จะทำอย่างไรดี?
คำตอบที่ 4:น้ำมันพืชแทบไม่มีคอเลสเตอรอล โดยเฉพาะน้ำมันมะพร้าวมีคอเลสเตอรอลเพียงแค่ 14 ส่วนใน 1 ล้านส่วนเท่านั้น เพราะคอเลสเตอรอลนั้นสังเคราะห์จากตับของสัตว์เป็นหลัก ในทางตรงกันข้ามกรดไขมันในน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันสายปานกลาง จึงทำให้เป็นพลังงานแก่ตับให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยน้ำมันมะพร้าวจะเพิ่มไลโปโปรตีนหนาแน่นสูง หรือที่ไขมันตัวดี HDL (High Density Lipoprotein) ให้สูงขึ้น และเมื่อนำสัดส่วนคอเลสเตอรอลมาหารด้วย HDL แล้ว จะลดน้อยลงจึงทำให้อัตราความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดลดลง
คำถามที่ 5 :ดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วคอเลสเตอรอลสูงขึ้น เพราะอะไร แล้วทำอย่างไรดี?
คำตอบที่ 5:มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แม้น้ำมันมะพร้าวตัวมันเองอาจไม่มีคอเลสเตอรอล แต่เมื่อตับได้พลังงานจากการบริโภคน้ำมันมะพร้าวแล้ว ก็จะทำให้อัตราการเผาผลาญของร่างกายสูงขึ้นโดยสังเคราะห์คอเลสเตอรอลได้มากขึ้นเพื่อนำคอเลสเตอรอลไปเป็นวัตถุดิบผลิตฮอร์โมน (โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ) น้ำดี เยื่อหุ้มเซลล์ เยื่อหุ้มสมอง ฉนวนหุ้มประสาท วิตามินดี ให้มากขึ้น ด้วยเหตุผลนี้ตับจึงจะสังเคราะห์ HDL (ไขมันตัวดี) เพิ่มมากขึ้นเพื่อนำคอลเลสเตอรอลตามหลอดเลือดไปส่งที่ตับไปผลิตเป็นฮอร์โมน น้ำดี เยื่อหุ้มเซลล์ เยื่อหุ้มสมอง ฉนวนหุ้มประสาท วิตามินดี ให้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสัดส่วนระหว่างคอเลสเตอรอลเมื่อนำมาหารกับ HDL จะลดลง และถ้าต่ำกว่า 4.0 ถือว่าไม่เกินเกณฑ์ที่จะเสี่ยงอัตราการเกิดโรคหัวใจแต่ประการใด
คำถามที่ 6 :ดื่มน้ำมันมะพร้าวเวลาไหนดีที่สุด?
คำตอบที่ 6 :ดื่มตอนเช้าก่อนอาหารดีที่สุด เพราะได้อดอาหารมาทำให้งดแป้งและน้ำตาลมาประมาณ 12-14 ชั่วโมง เพราะหากช่วงเวลาที่เราไม่ได้บริโภคแป้งและน้ำตาล น้ำมันมะพร้าวจะแปลงเป็นสารคีโตนที่ได้จากกรดไขมันสายปานกลางไปเป็นอาหารชั้นเลิศเลี้ยงเซลล์ต่างๆได้ และดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่พึ่งอินซูลิน โดยเฉพาะเซลล์สมอง อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ต้องการแบ่งบริโภคในระหว่างวันก็สามารถดื่มได้ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงก่อนอาหารแต่ละมื้อ จะทำให้อิ่มและโหยแป้งและน้ำตาลน้อยลง แต่สำหรับคนที่ผอมแล้วอยากอ้วน อาจให้รับประทานหลังอาหารแทน
คำถามที่ 7 : ดื่มน้ำมันมะพร้าวยาก เพราะผะอืดผะอม อยากอาเจียน เหนียวคอ จะทำอย่างไร?
คำตอบที่ 7: สำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับการดื่มน้ำมันมะพร้าว แนะนำให้ดื่มน้ำมันมะพร้าวที่ผลิตจากกระบวนการผลิตแบบเหวี่ยงแยกความหนาแน่น (Centrifuge Process) เพราะนอกจากจะได้คุณภาพน้ำมันดีที่สุดแล้ว (ตามรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งองค์การสหประชาชาติ) ยังมีความละเอียดบางเบา ไม่บาดคอเวลาดื่มซึ่งดีกว่าน้ำมันสกัดเย็นโดยวิธีบีบหรือหมัก
อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ดื่มยากแม้จะเป็นน้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการเหวี่ยงแยกความหนาแน่นแล้ว แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นหรือร้อนบีบมะนาวตามลงไปหลังดื่มน้ำมันมะพร้าว แต่ถ้าดื่มโดยตรงยากก็สามารถประยุกต์เปลี่ยนได้หลายวิธี เช่น นำเทใส่แม่พิมพ์แล้วแช่ไว้ในตู้เย็นแล้วใช้เป็นเนยมะพร้าวทาขนมปัง หรือตักใส่ข้าวหลังหุงใกล้เสร็จแล้ว 1-2 ทัพพีให้เป็นข้าวมันน้ำมันมะพร้าว ใส่แทนครีมเทียมในชาหรือกาแฟ ฯลฯ
คำถามที่ 8 :น้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไม่ใช่หรือ (ในรูปของกรดไขมัน) แล้วเหตุใดจึงมาสนับสนุนให้ดื่มน้ำมันมะพร้าว?
คำตอบที่ 8: แม้น้ำมันมะพร้าวจะมีคุณประโยชน์อย่างมาก (ตามที่ระบุเอาไว้ในข้อ 1) แต่มันก็ออกฤทธิ์เป็นกรดอยู่ดี ดังนั้นการบริโภคของมนุษย์ที่จะสอดคล้องกับเลือดของมนุษย์ที่เป็นด่างอ่อนๆ (ค่า pH 7.3-7.4) คือบริโภคอาหารที่เป็นกรดประมาณ 30% ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล ไขมัน (รวมน้ำมันมะพร้าว) ธัญพืช เนื้อสัตว์ โปรตีน ผลไม้หวานๆ ฯลฯ และบริโภคอาหารที่เป็นด่างให้ได้ประมาณ 70% ได้แก่ ผักใบเขียว ผลไม้รสเปรี้ยว ดังนั้นหากดื่มน้ำมันมะพร้าวเพื่อเพิ่มอัตราการเผาผลาญแล้วควรลดการบริโภคแป้งและน้ำตาลลงด้วย และหากสัดส่วนการบริโภคไม่สามารถทำได้ คือ 70% กรด และ 30% ด่าง ก็ควรจะดื่มน้ำที่มีฤทธิ์เป็นด่างควบคู่กันไปด้วย
คำถามที่ 9:น้ำมันมะพร้าวที่วางในร้านค้าที่ติดแอร์เป็นไขมีสีขุ่น บริโภคได้หรือ?
คำตอบที่ 9:เพราะมะพร้าวเกิดขึ้นในอุณหภูมิร้อนจึงอิ่มตัวโดนความร้อนได้ดีโดยไม่กลายสภาพ แต่จะกลายสภาพเป็นไขเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส แต่ร่างกายมนุษย์มีอุณหภูมิเฉลี่ย 36-37 องศาเซลเซียส น้ำมันมะพร้าวจึงไม่กลายเป็นไขในอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามน้ำมันพืชที่ไม่อิ่มตัวส่วนใหญ่เกิดในอุณหภูมิเย็นจะไม่เป็นไขในอุณหภูมิเย็น แต่จะกลายสภาพเมื่อโดนความร้อนแล้วพร้อมจะเป็นไขคราบเหนียวแม้อยู่ในอุณหภูมิร่างกายมนุษย์
คำถามที่ 10: ทำไมน้ำมันมะพร้าวราคาแพง?
คำตอบที่ 10: เพราะปริมาณการผลิตและการเพาะปลูกมีน้อย เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวถูกโจมตีจากกลุ่มทุนน้ำมันพืชอย่างอื่นมาหลายสิบปี ทำให้ไม่มีการพัฒนาพันธุ์และการเพาะปลูกมะพร้าว หลายพื้นที่มะพร้าวถูกโค่นลงไปเพื่อทำรีสอร์ต จึงทำให้มะพร้าวขาดแคลนอย่างหนัก ในขณะที่ชาวยุโรป อเมริกา ไต้หวัน ญี่ปุ่นหันมากว้านซื้อน้ำมันมะพร้าวจากเมืองไทยมากขึ้น เชื่อได้ว่าหากคนไทยหันมาสนใจน้ำมันมะพร้าวกันมากขึ้นแล้ว ก็ต้องใช้เวลาเพาะปลูกอย่างน้อยอีก 5 ปีกว่าจะได้ผลผลิต เมื่อถึงเวลานั้นก็อาจจะทำให้น้ำมันพร้าวมีราคาถูกลงในอนาคตได้
คำถามข้อสงสัยยังมีอีกยาวเหยียด ใครสงสัยสามารถฝากคำถามเอาไว้ที่ความเห็นท้ายบทความตอนนี้ และจะมาตอบคำถามที่สงสัยกันต่อในตอนหน้า