xs
xsm
sm
md
lg

ความจริงกลับด้าน! เมื่องานวิจัยพบว่าคอเลสเตอรอลสูงขึ้น แต่อัตราการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจลดลง? (ตอนที่ 4)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากความตอนที่แล้วที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เราจะสังเคราะห์คอเลสเตอรอลได้น้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้นจึงน่าจะสอดคล้องกับการศึกษาอย่างยาวนานของฟรามิงแฮม (Framingham Study) มลรัฐแมสซาชูเซ็ท ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่าถึงแม้คนที่อายุต่ำกว่า 50 ปีจะมีความเสี่ยงในเรื่องโรคหลอดเลือดและหัวใจน้อย แต่คนที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีก็ไม่ควรจะมีคอเลสเตรอลสูงมากเกินไปเพราะร่างกายยังสามารถสังเคราะห์คอเลสเตอรอลได้ปริมาณที่มากอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีคอเลสเตอรอลจากการรับประทานอาหารให้มากเกินไป

ดังนั้นการมีคอเลสเตอรอลที่สูงนั้นจะต้องมีความสอดคล้องกับความสามารถในการเผาผลาญที่ร่างกายจะนำคอเลสเตอรอลมาสังเคราะห์ฮอร์โมน น้ำดี วิตามินดี เยื่อหุ้มเซลล์ ฉนวนหุ้มประสาทให้ได้ด้วย

ในขณะเดียวกันคนที่มีความเสี่ยงในเรื่องโรคหลอดเลือดและหัวใจมักจะอายุมากกว่า 50 ปี โดยคนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจจะเริ่มมีระดับคอเลสเตอรอลลดลง (ความจริงเมื่ออายุมากกว่า 35 ปีกขึ้นไประดับการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลจะทยอยลดน้อยลงแล้ว) เพราะความเสื่อมภายในร่างกาย ทำให้มีอัตราการเผาผลาญต่ำ ร่างกายจึงสังเคราะห์ระดับคอเลสเตอรอลได้น้อยลง เมื่อคอเลสเตอรอลมีอยู่น้อยลงจึงทำให้สังเคราะห์ฮอร์โมน น้ำดี วิตามินดี เยื่อหุ้มเซลล์ และฉนวนหุ้มประสาทได้น้อยลงด้วย

ดังนั้นการศึกษาหลายชิ้นจึงมักพบว่าคนที่อายุมากจะใกล้เสียชีวิตเมื่อระดับของคอเลสเตอรอลลดลงอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงโรคหลอดเลือดและหัวใจด้วย


ด็อกเตอร์ มัลคอลม์ เคนดริค (Malcolm Kendrick) ผู้เขียนหนังสือ “The Great Cholesterol Con” ได้นำข้อมูลจากโครงการศึกษาและติดตามผลการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจในหลายประเทศขององค์การอนามัยโลก แล้วนำมาเขียนเป็นกราฟแสดงรายงานการศึกษาเปรียบเทียบระดับคอเลสเตอรอลของผู้ชายชาวยุโรปที่มีอายุระหว่าง 35-74 ปี ในจำนวน 15 ประเทศ พบเรื่องที่น่าสนใจคือกลุ่มประเทศที่มีคอเลสเตอรอลต่ำมากที่สุดคือ ชาวอะบอริจิ้นที่อาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลียมีระดับคอเลสเตอรอลเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ 4.9 มิลลิโมลต่อลิตร เทียบเท่าประมาณ 154.44 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่กลับมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจสูงที่สุดคือ 1,100 คนต่อประชากร 100,000 คน

ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักรแล้วก็จะพบว่า:

ชาวอังกฤษมีคอเลสเตอรอลประมาณ 6.1 มิลลิโมลต่อลิตร เทียบเท่าประมาณ 235.52 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมีคอเลสเตอรอลสูงมากกว่าชาวอะบอรินจิ้นถึง 52%

ความดันโลหิตของชาวอะบอริจิ้นนั้นอยู่ประมาณ 125/77 ซึ่งต่ำกว่าชาวอังกฤษเสียอีก

ไขมันที่ชื่อ ไลโปโปรตีนหนาแน่นสูง หรือไขตัวดีที่เรียกว่าเอชดีแอล (HDL) นั้น ชาวอะบอริจิ้นมีน้อยกว่าชาวอังกฤษเพียงเล็กน้อยต่างกันประมาณ 0.2 มิลลิโมลต่อลิตร เทียบเท่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกันมาก

เมื่อเทียบความสูงต่อน้ำหนักก็พบว่าชาวอะบอริจิ้นอ้วนน้อยกว่าชาวอังกฤษเสียด้วย

แต่ชาวอะบอริจิ้นกลับมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมากกว่าชาวอังกฤษถึง 4 เท่าตัว!!!!

สาเหตุของการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจของชาวอะบอริจิ้นจึงอยู่ไม่ได้มาจากคอเลสเตอรอลสูงหรือความดันโลหิตสูงเลย แต่ก็มีบางคนสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นเพราะชาวอะบอริจิ้นมากกว่า 80% เป็นคนสูบบุหรี่ ซึ่งถือว่าสูงกว่าชาวญี่ปุ่นเพียงเล็กน้อย แต่ถึงกระนั้นอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจของชาวญี่ปุ่นก็ยังต่ำกว่าชาวอะบอริจิ้นถึง 20 เท่าตัว

เมื่อเทียบกับชาวรัสเซียซึ่งมีคอเลสเตอรอลอยู่ในระดับต่ำมากที่สุดรองจากชาวอะบอริจิ้น แต่กลับมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจอยู่ในระดับสูงรองลงมาจากชาวอะบอริจิ้น เช่นกัน

ตรงกันข้ามชาวสวิสเซอร์แลนด์ที่บริโภคไขมันอิ่มตัวมากเป็นอันดับ 2 ของยุโรป และมีระดับคอเลสเตอรอลสูงที่สุดในยุโรป แต่กลับมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเกือบต่ำที่สุดในยุโรป (บางปีก็ต่ำที่สุด)

แม้ว่าอาจจะมีตัวแปรอีกหลายอย่าง แต่จากกราฟที่แสดงมานั้นยังบ่งบอกเสียด้วยซ้ำว่าแนวโน้มของคนที่มีคอเลสเตอรอลสูงกว่าดูจะมีอัตราการความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจน้อยกว่า

สิ่งที่เราควรทำความรู้จักมันให้มากขึ้นก็คือเอชดีแอล (HDL) ชื่อแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ไลโปโปรตีนควาหนาแน่นสูง ซึ่งตับมีหน้าที่สังเคราะห์สิ่งนี้ออกมาเพื่อไปกวาดขนส่งเอาคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด(ที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นมา) และกวาดเอาไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำหรือ แอลดีแอล (LDL) ที่ตับสังเคราะห์มาเพื่อไปเกาะอยู่ตามหลอดเลือดโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีการอักเสบ ให้นำมาส่งให้กับตับเอาไปเป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์เป็น ฮอร์โมน น้ำดี วิตามินดี เยื่อหุ้มเซลล์ และฉนวนหุ้มประสาท


ดังนั้นสำหรับคอเลสเตอรอลสูงจึงไม่มีความน่ากลัวเลย ถ้าเรามี เอชดีแอล (HDL) อยู่ในระดับสูงเพียงพอ และจะว่าไปแล้วการมีคอเลสเตอรอลสูงกว่ามาตรฐานโดยมี เอชดีแอลสูงด้วย น่าจะเป็นสัญญาณเชิงบวกว่าเรามีสุขภาพที่ดีได้ เพราะร่างกายสามารถสังเคราะห์ฮอร์โมน น้ำดี วิตามินดี เยื่อหุ้มเซลล์ และ ฉนวนหุ้มประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และมาตรวัดซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นในปัจจุบันคือ คอเลสเตอรอลโดยรวมควรมีไม่เกินเป็น 5 เท่าของ เอชดีแอล (HDL) ยิ่งต่ำยิ่งดี!!!


และการที่เอชดีแอล (HDL) จะเพิ่มขึ้นได้ ร่างกายก็ต้องมีอัตราการเผาผลาญที่ดีด้วย เพราะอัตราการเผาผลาญสูงขึ้น ตับก็จะสังเคราะห์เพื่อเอาคอเลสเตอรอลและ แอลดีแอล (LDL) มาส่งที่ตับเพื่อมาผลิตเป็น ฮอร์โมน น้ำดี วิตามินดี เยื่อหุ้มเซลล์ และฉนวนหุ้มประสาท ตามที่ร่างกายต้องการเช่นนั้น และถ้าอัตราการเผาผลาญดีและคอเลสเตอรอลเป็นที่ต้องการมากขึ้น ตับก็อาจจะผลิตคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นได้อีก

แล้วอัตราการเผาผลาญของร่างกายจะสูงขึ้นได้อย่างไร คำตอบนั้นมีหลายวิธี วิธีที่ง่ายๆวิธีหนึ่งก็คือการออกกำลังกายเป็นประจำ และวิธีที่สองคือดื่มน้ำมันมะพร้าว

“น้ำมันมะพร้าว” ดูเหมือนจะตอบโจทย์ในประเด็นนี้ได้อย่างตรงประเด็น เพราะน้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันสายปานกลางมากที่สุดในโลก ต่างจากไขมันจากพืชและสัตว์ที่ส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันสายยาว ผลก็คือกรดไขมันสายปานกลางในน้ำมันมะพร้าวจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วส่งไปยังที่ตับอย่างรวดเร็วและไม่ตกค้าง กลายเป็นพลังงาน ดังนั้นจึงสังเกตได้ว่าคนที่ดื่มน้ำมันมะพร้าว 2-3 สัปดาห์จะมีอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น

ดังนั้นในการศึกษาในเชิงระบาดวิทยา จะพบว่าประเทศที่ดื่มน้ำมันมะพร้าวหรือกะทิเป็นประจำจึงไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องโรคหลอดเลือดและหัวใจ

ตัวอย่างเช่นผลการสำรวจของไพเออร์ (Prior) และคณะ ซึ่งถูกตีพิมพ์ใน วารสารอเมริกันแห่งโภชนาการคลีนิค (American Journal Clinical Nutrition) เมื่อปี พ.ศ. 2524 พบว่าชาวหมู่เกาะปูก้าปูก้า (Pukapuka) และโตกิโล (Tokeleu) ซึ่งดื่มน้ำมันมะพร้าว 100 กรัมต่อวันเป็นประจำ ได้พลังงาน 900 แคลอรี่ โดยที่ไม่มีใครเป็นโรคหัวใจ ไม่มีเบาหวาน และไม่มีโรคไทรอยด์ต่ำ

การสำรวจและรายงานในวารสารด้านการศึกษาสตร์เกี่ยวกับหัวใจ “Cardiology” ในปี พ.ศ. 2531ของมิสช์ (Misch) และคณะพบว่าในประเทศปาปัวนิวกินี ผู้คนบริโภคน้ำมันมะพร้าวมาเป็นพันปี แต่เพิ่งมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2507 หลังจากเริ่มมีการเปลี่ยนมาบริโภคไขมันไม่อิ่มตัว

เช่นเดียวกับการสำรวจของลินเดนเบิร์ก (Lindenberg) และคณะเมื่อปี พ.ศ.2536 และ พ.ศ. 2540 ได้ศึกษาประชากรเกาะคีตาวา นิวกินี ซึ่งดื่มน้ำมันมะพร้าวมาโดยตลอดพบว่าไม่มีใครเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจเลย

ความจริงแล้วน้ำมันมะพร้าวแทบไม่มีคอเลสเตรอลเลย เพราะไม่ได้มีตับที่จะสังเคราะห์คอเลสเตอรอลได้ แต่การที่คนที่บริโภคน้ำมันมะพร้าวและไม่เป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ ก็เพราะน้ำมันมะพร้าวทำให้อัตราการเผาผลาญของร่างกายสูงขึ้น จึงสามารถเพิ่มได้ทั้งเอชดีแอล (HDL) และ เพิ่มคอเลสเตอรอล ให้กับคนที่ดื่มน้ำมันมะพร้าว

ข้อสำคัญคือเมื่ออัตราการเผาผลาญสูงขึ้น กลับทำให้คอเลสเตรอลที่เพิ่มขึ้นนั้น มีสัดส่วนที่น้อยลงเมื่อนำมาเทียบกับเอชดีแอล (HDL) เพราะอัตราส่วนในการเพิ่มเอชดีแอล (HDL) จะเพิ่มสูงมากขึ้นกว่าดัชนีอย่างอื่น

ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า คอเลสเตอรอลโดยรวมควรมีไม่เกินเป็น 5 เท่าของ เอชดีแอล (HDL) ตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งมีความเสี่ยงโรคหัวใจต่ำลงไปด้วย นั่นก็คือเอาคอเลสเตอรอลโดยรวมให้นำมาหารด้วย เอชดีแอล (HDL) ก็จะรู้ผลโดยทันที

เริ่มต้นจากงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2532 ของเมนดิส (Mendis) และคณะที่ได้ทดลองกับกลุ่มตัวอย่างชาวศรีลังกาซึ่งใช้น้ำมันมะพร้าว(ไขมันอิ่มตัว)อยู่แล้ว ให้หันมาเปลี่ยนมาใช้น้ำมันข้าวโพด(ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัว) ผลปรากฏว่าชาวศรีลังกากลุ่มดังกล่าวมีคอเลสเตอรอลโดยรวมลดลง มีแอลดีแอล (LDL) ลดลง และเอชดีแอลก็ลดลงด้วย ซึ่งฟังดูผิวเผินดูเหมือนจะดีขึ้นในสายตาคนที่กลัวคอเลสเตอรอล

แต่เมื่อนำคอเลสเตอรอลมาหารด้วยเอชดีแอล (HDL) กลับปรากฏว่า จากเดิมชาวศรีลังกากลุ่มนี้ใช้น้ำมันมะพร้าวไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจเลย เพราะคอเลสเตอรอลนำมาหารด้วยเอชดีแอล (HDL) ผลปรากฏว่าได้ผลลัพธ์อยู่ที่ 4.13 ซึ่งต่ำกว่า 5 แต่เมื่อมาใช้น้ำมันข้าวโพดกลับปรากฏว่าเมื่อนำคอเลสเตอรอลมาหารด้วยเอชดีแอล (HDL) กลับได้ผลลัพธ์อยู่ที่ 5.75 กลายเป็นคนที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจสูงขึ้นโดยทันที

ทีนี้ลองกลับด้านดูบ้างสำหรับกลุ่มที่ไม่เคยใช้น้ำมันมะพร้าวมาก่อน ให้มาใช้น้ำมันมะพร้าวแล้วจะมีผลอย่างไร โดยงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2537 ตีพิมพ์ในวารสารอเมริกันแห่งโภชนาการคลีนิค (American Journal Clinical Nutririon) โดย ซันดราม (Sundram K) และคณะ ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างมีค่าคอเลสเตอรอลสูงขึ้น ค่าแอลดีแอล (LDL)สูงขึ้น และค่าเอชดีแดล (HDL) สูงขึ้น ซึ่งถ้าคนมีความไม่เข้าใจกลัวคอเลสเตอรอลแล้วคงเลิกบริโภคน้ำมันมะพร้าวเป็นแน่

แต่ถ้าคนเข้าใจประโยชน์ของคอเลสเตอรอลนอกจากจะต้องดีใจที่คอเลสเตอรอลโดยรวมจะเพิ่มขึ้นแล้ว ความเสี่ยงของอัตราการเกิดโรคหัวใจจะลดลงไปด้วย โดยก่อนดื่มน้ำมันมะพร้าวพบว่าคอเลสเตอรอลโดยรวมหารด้วยเอชดีแอล ได้ค่าอยู่ที่ 3.89 แต่เมื่อดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วปรากฏว่าดัชนีดังกล่าวลดลงเหลือ 3.72 นั่นหมายความว่าความเสี่ยงโรคหัวใจลดลงโดยทันที

จากหลักฐาน 2 ชิ้นนี้จึงแสดงให้เห็นว่า น้ำมันมะพร้าวไม่มีคอเลสเตอรอลเลย แต่กลับทำให้ตับสามารถสังเคราะห์คอเลสเตอรอลให้สูงขึ้นได้ และทำให้อัตราการเผาผลาญสูงขึ้น จนสามารถผลิตเอชดีแอล (HDL) ได้มากขึ้นเพื่อนำคอเลสเตอรอลมาสังเคราะห์เป็นฮอร์โมน น้ำดี วิตามินดี เยื่อหุ้มเซลล์ และฉนวนหุ้มประสาทได้มากขึ้น โดยที่ความเสี่ยงในเรื่องอัตราการเกิดโรคหัวใจลดลงได้อย่างเห็นได้ชัด


คนไทยสมัยก่อนจึงมีความฉลาดมากที่นำน้ำมันมะพร้าวมาทำอาหาร ใช้กะทิทำทั้งของคาวและหวาน อีกทั้งยังรู้จักความสมดุลกรดด่างโดยการทำขนมหวานที่มีฤทธิ์เป็นกรดนั้นมาสมดุลด้วยการใส่น้ำปูนใสให้ออกฤทธิ์เป็นด่างได้

ด้วยเหตุนี้คนไทยในสมัยก่อนจึงแทบไม่ค่อยมีใครเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เหมือนยุคนี้ เพราะมีภูมิปัญญาที่หลักแหลมที่น่ายกย่องชื่นชมอย่างยิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น