ASTVผู้จัดการรายวัน – บอร์ด กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับ 2%ต่อปีตามคาด ด้วยมติ 6 ต่อ 1 เสียง มองเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากจากความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหลัก ทำให้ประสิทธิผลนโยบายการเงินน้อยและคำนึงผลข้างเคียงเสถียรภาพการเงินในระยะยาว ย้ำตอนนี้ดอกเบี้ยแท้จริงของไทยต่ำสุดในภูมิภาคนี้ เล็งลดตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ คาดต่ำกว่า 2.7%
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมบอร์ดกนง.เมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00%ต่อปี เนื่องจากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นมากจากความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหลัก ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ขณะที่ภาวะการเงินไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายในประเทศและนโยบายการเงินในปัจจุบันยังผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
“ในที่ประชุมบอร์ด กนง.มีการหารือกันมากถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนโยบายการเงินต่อการสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน พบว่า การชะลอเศรษฐกิจไม่เกี่ยวกับปัจจัยทางการเงิน และพื้นที่นโยบายการเงินลดลงเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระดับต่ำ จึงควรระมัดระวังการสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจระยะสั้นให้ต่อเนื่องและเพียงพอ รวมถึงดูผลข้างเคียงต่อความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินในระยะยาวด้วย”
นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ บอร์ด กนง.ประเมินว่าความไม่แน่นอนมีค่อนข้างมาก ทำให้ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยติดลบ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และอาจจะมีแนวโน้มติดลบในไตรมาส 2 ของปีนี้เช่นกัน เทียบกับไตรมาส 1 ของปีนี้ ทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต่ำกว่า 2.7% ซึ่งเป็นประมาณการเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา จึงคาดว่าจะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ในการประชุม กนง.ครั้งหน้า คือ วันที่ 18 มิ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ติดลบ ต่างกับประเทศหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นที่มีปัญหาเศรษฐกิจลึกกว่าไทยและปัญหาทางการเงินค่อนข้างมาก ทำให้ความจำเป็นนโยบายการเงินผ่อนปรนเป็นพิเศษก็ไม่มากกว่าไทย จึงเทียบกันไม่ได้ ส่วนกรรมการ 1 คน ที่เสียงเห็นต่าง มองว่าควรลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%ต่อปี เพื่อความต่อเนื่องของการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
“ขณะนี้มีความไม่แน่นอนมีค่อนข้างเยอะ จึงไม่ทราบว่าการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นไตรมาสไหน อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยนโยบายใน 2 ครั้งช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-ฝากตามค่อนข้างเร็วส่งผ่านมายังต้นทุนการเงินภาคเอกชนและประชาชน แต่ยอมรับว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัด จึงไม่เกี่ยวกับสภาพคล่องและต้นทุนทางการเงินมากนัก เพราะการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการพบว่าข้อจำกัดการทำธุรกิจ อันดับแรกความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจมากกว่าการขึ้นหรือลงดอกเบี้ย หรือเข้าถึงแหล่งเงินทุน ถือเป็นปัจจัยอันดับท้ายๆ มากกว่า”
นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวค่อนข้างต่ำเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระหว่างรัฐและเอกชนค่อนข้างแคบ จึงเป็นหลักฐานตอกย้ำว่าภาวะการเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักเป็นการชะลอการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ตอบได้ยากว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง แต่ที่มั่นใจได้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศหลัก จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกและภาคท่องเที่ยวได้ ในกรณีสถานการณ์ทางการเมืองไม่เลวร้ายกว่าในปัจจุบัน ดังนั้น ความเชื่อมั่นภาคเอกชน นักลงทุน หรือแม้กระทั่งผู้บริโภคจะปรับตัวอย่างไร ขึ้นอยู่กับความคลี่คลายทางการเมืองเป็นสำคัญ
ต่อข้อซักถามที่ว่า ระยะต่อไปบอร์ด กนง.จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยโยบาย ในภาวะเศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูงหรือไม่นั้น เลขานุการบอร์ดกนง.กล่าวว่า การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายในแต่ละครั้ง ขึ้นกับข้อมูลเป็นครั้งคราวไปและให้น้ำหนักทั้งปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ.
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมบอร์ดกนง.เมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00%ต่อปี เนื่องจากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นมากจากความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหลัก ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ขณะที่ภาวะการเงินไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายในประเทศและนโยบายการเงินในปัจจุบันยังผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
“ในที่ประชุมบอร์ด กนง.มีการหารือกันมากถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนโยบายการเงินต่อการสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน พบว่า การชะลอเศรษฐกิจไม่เกี่ยวกับปัจจัยทางการเงิน และพื้นที่นโยบายการเงินลดลงเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระดับต่ำ จึงควรระมัดระวังการสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจระยะสั้นให้ต่อเนื่องและเพียงพอ รวมถึงดูผลข้างเคียงต่อความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินในระยะยาวด้วย”
นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ บอร์ด กนง.ประเมินว่าความไม่แน่นอนมีค่อนข้างมาก ทำให้ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยติดลบ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และอาจจะมีแนวโน้มติดลบในไตรมาส 2 ของปีนี้เช่นกัน เทียบกับไตรมาส 1 ของปีนี้ ทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต่ำกว่า 2.7% ซึ่งเป็นประมาณการเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา จึงคาดว่าจะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ในการประชุม กนง.ครั้งหน้า คือ วันที่ 18 มิ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ติดลบ ต่างกับประเทศหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นที่มีปัญหาเศรษฐกิจลึกกว่าไทยและปัญหาทางการเงินค่อนข้างมาก ทำให้ความจำเป็นนโยบายการเงินผ่อนปรนเป็นพิเศษก็ไม่มากกว่าไทย จึงเทียบกันไม่ได้ ส่วนกรรมการ 1 คน ที่เสียงเห็นต่าง มองว่าควรลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%ต่อปี เพื่อความต่อเนื่องของการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
“ขณะนี้มีความไม่แน่นอนมีค่อนข้างเยอะ จึงไม่ทราบว่าการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นไตรมาสไหน อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยนโยบายใน 2 ครั้งช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-ฝากตามค่อนข้างเร็วส่งผ่านมายังต้นทุนการเงินภาคเอกชนและประชาชน แต่ยอมรับว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัด จึงไม่เกี่ยวกับสภาพคล่องและต้นทุนทางการเงินมากนัก เพราะการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการพบว่าข้อจำกัดการทำธุรกิจ อันดับแรกความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจมากกว่าการขึ้นหรือลงดอกเบี้ย หรือเข้าถึงแหล่งเงินทุน ถือเป็นปัจจัยอันดับท้ายๆ มากกว่า”
นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวค่อนข้างต่ำเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระหว่างรัฐและเอกชนค่อนข้างแคบ จึงเป็นหลักฐานตอกย้ำว่าภาวะการเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักเป็นการชะลอการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ตอบได้ยากว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง แต่ที่มั่นใจได้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศหลัก จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกและภาคท่องเที่ยวได้ ในกรณีสถานการณ์ทางการเมืองไม่เลวร้ายกว่าในปัจจุบัน ดังนั้น ความเชื่อมั่นภาคเอกชน นักลงทุน หรือแม้กระทั่งผู้บริโภคจะปรับตัวอย่างไร ขึ้นอยู่กับความคลี่คลายทางการเมืองเป็นสำคัญ
ต่อข้อซักถามที่ว่า ระยะต่อไปบอร์ด กนง.จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยโยบาย ในภาวะเศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูงหรือไม่นั้น เลขานุการบอร์ดกนง.กล่าวว่า การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายในแต่ละครั้ง ขึ้นกับข้อมูลเป็นครั้งคราวไปและให้น้ำหนักทั้งปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ.