xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ชี้ 3 ปัจจัยประเมิน กนง.คงดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายแม้เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอชัด ระบุมาตรการทางการเงินยังส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้ออาจเร่งตวขึ้นในระยะต่อไป และต้องระวังด้านเสถียรภาพโดยรวม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุในการประชุมคระกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 12 มี.ค.นี้ โอกาสที่ กนง.อาจเลือกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน ยังมีน้ำหนักมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเล็กน้อย โดยการสงวนช่องว่างในการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ในยามที่จำเป็น ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ กนง. อาจพิจารณาในการประชุมรอบที่ 2 ของปีนี้ในวันที่ 12 มี.ค.57 ก็เป็นได้ ขณะที่ กนง.คงต้องติดตามเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองต่างๆ ในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพื่อประเมินโอกาสการจัดตั้งรัฐบาล และเปิดประชุมสภาครั้งแรก รวมถึงข้อมูลด้านการส่งออกซึ่งเป็นความคาดหวังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ระหว่างรอความชัดเจนทางการเมือง

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นการมองถึงประสิทธิผลของการส่งผ่านนโยบายไปยังภาคเศรษฐกิจจริง โดยท่ามกลางกลไกทางเศรษฐกิจ และการเงินที่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ได้รับการตอบรับมากนักจากภาคเศรษฐกิจจริง เนื่องจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาคธุรกิจยังคงลังเลที่จะมีการขยายการลงทุน และผู้บริโภคยังคงระมัดระวังด้านการใช้จ่าย

นอกจากนี้ สถานการณ์ของเงินเฟ้อที่เริ่มมีแรงกดดันต่อการเร่งตัวในระยะข้างหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวอ่อนค่าลงของค่าเงินบาท สถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ของไทยอันอาจกระทบต่อทิศทางราคาสินค้าเกษตรหลัก รวมทั้งความผันผวนในขาขึ้นของราคาน้ำมันโลกและไทย ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ประเทศยูเครน ที่มีความเสี่ยงที่จะบานปลายออกไป และการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของทางการไทย อันล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ช่องว่าง/พื้นที่ในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของ กนง.เผชิญกับข้อจำกัด ทั้งนี้ การเร่งใช้นโยบายการเงินในช่วงที่สภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการส่งผ่านของนโยบาย อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความเสี่ยงที่มากขึ้น จากช่องว่างในการดำเนินนโยบายการเงินที่ลดลง หากพัฒนาการของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน

รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม มี “ต้นทุน” ต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงภาวะหนี้ภาคครัวเรือน ที่อาจทวีความกังวลมากขึ้นภายใต้กรณีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อันเป็นการสะสมความเปราะบางของพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมทั้งความเสี่ยงต่อสภาพคล่องของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ผ่านแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อการปรับลดการถือครองพันธบัตรไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต้นทุนทางการเงินในระยะข้างหน้าของภาคเอกชนให้ทยอยปรับตัวสูงขึ้น จากส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรไทย กับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรของประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีความน่าดึงดูดที่ลดลง รวมถึงลดทอนประสิทธิผลในการส่งผ่านเชิงนโยบายการเงินต่อภาคเศรษฐกิจจริงด้วย

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยรอบด้านที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ ทำให้มีความก้ำกึ่งมากต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ในรอบนี้ และคงต้องยอมรับว่าภายใต้สถานการณ์ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจกำลังสูญเสียแรงส่ง การใช้นโยบายการเงินพยุงเศรษฐกิจนั้นมีความเหมาะสม อย่างไรก็ดี ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ของการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องอาศัยประสิทธิภาพในการส่งผ่านนโยบาย รวมถึงประเด็นความเสี่ยงด้านหนี้ครัวเรือน และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของระบบการเงิน/กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับเดิมที่ 2.25%
กำลังโหลดความคิดเห็น