xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นแชมป์ยิลด์สูงสุด ผลตอบแทน 56.72%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มอนิ่งสตาร์ชี้ประเทศญี่ปุ่นแชมป์ผลตอบแทนสูงสุดปี 56 จัดรีเทิร์น 56.72% ส่วนสหรัฐฯ ยุโรปไม่น้อยหน้าเช่นกันหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ด้านเอเชียไม่แผ่วหลังเงินทุนเริ่มไหลกลับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่หุ้นไทยสุดเห่ยผลตอบแทนติดลบ 12.32%

รายงานจากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากการสำรวจของบริษัทพบว่าการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดในปีที่ผ่านมา(2556) เป็นการลงทุนในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะยุโรป และอเมริกาอย่างแท้จริง หลังจากที่ตามหลังกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) อยู่หลายปีนับตั้งแต่วิกฤต Hamburger Crisis เมื่อปี 2551

สำหรับผลตอบแทนสูงสุดคือประเทศญี่ปุ่น ที่ดัชนี Nikkei 225 ทำผลตอบได้ถึง 56.72% เรียกได้ว่านำแบบม้วนเดียวจบตั้งแต่หมดไตรมาสหนึ่งเป็นต้นมา ตามมาเป็นอันดับ 2 หนี้ไม่พ้นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอเมริกา ที่ทั้ง 3 ดัชนี NASDAQ S&P 500 และ Dow Jones ต่างพากันทำนิวไฮ ด้วยผลตอบแทน 38.82% 29.60% และ 26.50% ตามลำดับ เป็นผลมาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง มาตราการ QE ตลอดทั้งปีก็ตาม ส่วนในยุโรปไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ก็ต่างพากันทำผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจที่ระดับประมาณ 16-22%

ส่วนกลุ่มประเทศในเอเชียต้องถือว่าเป็นปีที่ยากลำบากเนื่องจากเงินทุนเริ่มไหลกลับไปยัง กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ผลตอบแทนในปีที่ผ่านมาไม่ดีเท่าไรอยู่ระดับ -8% ถึง 10% วกกลับมาดูกลุ่มท้ายตารางกันบ้าง ต้องเรียกว่าเป็นนางฟ้าตกสวรรค์อย่างแท้จริงทั้ง อันดับ 1 และ 2 ของปีก่อนหน้านี้ (2555) นั่นก็คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของตุรกี และ SET Index ของไทยเรา ด้วยผลตอบแทน -12.32% (แย่ที่สุด) และ -6.70% (แย่ที่สุดอันดับ 3) ตามลำดับ

สำหรับ SET Index ของไทยเราต้องเรียกว่าสะดุดขาตัวเองอย่างแท้จริง ทั้งที่เมื่อจบไตรมาสแรกของปียังคงอยู่ใน 5 อันดับแรกที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของค่าเงินบาท เศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว และปิดท้ายด้วยปัญหาทางการเมืองที่รุมเร้าตลอดช่วงครึ่งปีหลังของปี ต้องบอกว่าทั้งปราบเซียนและต้อนรับนักลงทุนหน้าใหม่ได้อย่างไม่สวยนัก และนี่คือสิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมีความผันผวนมาก ยิ่งในระยะสั้นยิ่งผันผวนสูงมาก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมองผลตอบแทนย้อนหลังในระยะยาว SET Index ก็ยังทำได้ดีอยู่

ตราสารหนี้
สำหรับภาวะการลงทุนตราสารหนี้ในปีที่ผ่านมาเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตราสารหนี้ทั่วโลกอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ก็คือ ความกังวลต่อการลดมาตราการ QE ของธนาคารกลางของสหรัฐฯ ตลอดทั้งปี ส่งผลให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ทั่วโลกผันผวนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะตราสารหนี้ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และทำผลตอบแทนติดลบ -6.58% ซึ่งถือว่ามากในระดับของตราสารหนี้ ในขณะที่ตราสารหนี้ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วก็ติดลบเช่นกันที่ -2.40% กลับกันว่าเป็นปีที่พอใช้ได้สำหรับตราสารหนี้ในประเทศไทยที่ยังคงรักษาระดับของผลตอบแทนได้ที่ประมาณ 2% กว่าๆ โดยตราสารหนี้ระยะสั้นทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตราสารหนี้ระยะยาว โดยตั๋วเงินคลังระยะเวลา 91 วัน (ThaiBMA 91 day T-bill) มีผลตอบแทนอยู่ที่ 2.71% ขณะที่ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (ThaiBMA Government bond) ให้ผลตอบแทนเพียง 2.14%

ทองคำ น้ำมัน
หลังจากผ่านช่วงเวลาที่ดีติดต่อกันมา 5 ปี ดูเหมือนการลงทุนในทองคำกำลังพบกับช่วงเวลาที่ยากอีกครั้ง ทั้งจากความกังวลที่มีต่อการลดมาตรการ QE ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความต้องการทองคำ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับแรงขายทำกำไรของนักลงทุนที่ได้กำไรจากการลงทุนมาตลอด 5 ปี ส่งผลให้ปิดสิ้นปีทองคำเป็นทรัพย์สินที่ทำผลตอบแทนได้ต่ำที่สุดที่ -27.79% (London Fix Gold AM) กลับกันถือว่าเป็นปีที่พอใช้ได้สำหรับการลงทุนในน้ำมันที่สามารถทำผลตอบแทนได้ที่ประมาณ 6.81% หลังจากที่เมื่อปีก่อนหน้านี้เป็นทรัพย์สินที่ทำผลตอบแทนได้น้อยที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น