xs
xsm
sm
md
lg

เสนอกำหนดสัดส่วนครูแนะแนว:นร.ให้ชัด ชี้อัตราร่อยหรอเพราะถูกโอนใช้บรรจุสาขาอื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานครูแนะแนว กทม.ชี้ครูทุกทำหน้าที่แนะแนวได้แต่ไม่ใช่ครูแนะแนว ระบุเหตุที่ทำให้อัตราครูแนะแนวขาด หรือร่อยหรอ เพราะอัตราถูกโอนไปเพื่อบรรจุครูสายอื่นๆ เช่น วิทย์ คณิต แนะหากปฏิรูปการแนะแนว ต้องเริ่มจากกำหนดสัดส่วนครูแนะแนวต่อจำนวนนักเรียนที่ชัดเจน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษายูเนสโก ระบุจุดอ่อนของครูแนะแนวคือขาดความเชี่ยวชาญและเท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปของตลาดแรงงาน อีกทั้งยังทำหน้าที่เพียงลำพังขาดการประสานเชื่อมโยง โดยเฉพาะการแนะแนวเรื่องของอาชีพที่ภาครัฐและผู้ประกอบการไม่มีการร่วมมือกัน เสนอควรออกระเบียบรองรับให้ ร.ร.เตรียมพร้อมเพื่อแนะแนวอาชีพแก่เด็กด้วย

วันที่ 18 ธ.ค.ที่โรงแรมเวสทิน แกรนด์สุขุมวิท ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุรภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 6 “การปฏิรูประบบแนะแนว:ประสบการณ์จากต่างประเทศ” จัดโดย สสค.ว่า ที่ผ่านมา ตนพยายามทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กชายขอบที่มักจะหวังให้ลูกเรียนสูงๆ เพื่อการมีงานทำ ทั้งที่ข้อเท็จจริงโอกาสของเด็กชายขอบจะน้อยกว่าเด็กในเมืองทั้งการศึกษาต่อระดับสูงรวมถึงการมีงานทำ ซึ่งสร้างภาระให้กับครอบครัวทั้งยังเป็นความสูญเปล่าค่อนข้างสูง เพราะการเรียนในระบบถึง 16 ปีไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง ในขณะที่การเรียนวิชาการพื้นฐานควบคู่กับการเรียนวิชาชีพ และสามารถเรียนควบคู่ไปกับการทำงาน สามารถตอบสนองความต้องการตลาดแรงงานได้ดีกว่าและสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดกับการเรียนในลักษณะนี้ คือ เด็กมีวุฒิภาวะ ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในสถานประกอบการ

“ภาพพจน์การศึกษาด้านอาชีพของไทยไม่ค่อยดีนัก ผู้ปกครองมักมองว่าเป็นระบบที่รองรับคนที่ตกจากสายวิชาการ ทั้งที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะพัฒนาความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพควบคู่กัน เพราะฉะนั้น ผู้บริหารสถานศึกษา สมาคมครูผู้ปกครองและครูแนะแนวมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจกับการศึกษาด้านวิชาชีพ” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

ด้าน นางซาโตโกะ ยาโนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการศึกษาระบบแนะแนวในหลายประเทศ พบว่า ครูแนะแนวไม่ได้มีความเชี่ยวชาญและตามทันการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเทคโนโลยีและตลาดแรงงาน ครูแนะแนวถูกแยกการทำงานตามลำพังโดยไม่ได้มีการประสานหรือบูรณาการกับครูวิชาการ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านคุณภาพและปริมาณ โดยเฉพาะนักเรียนมีความต้องการเฉพาะที่แตกต่างกัน แต่ครูแนะแนวไม่สามารถสนองตอบได้ อีกทั้งระบบแนะแนวกับระบบการจัดหางานโดยภาครัฐ และสถานประกอบการนายจ้างไม่ได้มีการติดต่อเชื่อมโยงกัน อย่างไรก็ตาม มาตรการระบบแนะแนวการศึกษาเพื่อการอาชีพนั้นควรจะมีกฎระเบียบรองรับที่จะให้สถานศึกษาเตรียมความพร้อมและจัดการแนะแนวด้านอาชีพ มีนโยบายจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างเหมาะสม มีการบริหารและจัดการข้อมูลเป็นระบบ และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ขณะที่ นางวิภา เกตุเทพา ครูแนวแนวโรงเรียนสตรีวิทยา 2 และประธานครูแนะแนวกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์ครูแนะแนวปัจจุบัน พบว่าทุกโรงเรียนมีครูแนะแนวอย่างน้อย 1 คน แต่มีทั้งมีวุฒิและไม่มีวุฒิทางการแนะแนว โดยเฉพาะโรงเรียนประถมพบชัดเจนว่าบางโรงเรียนจัดให้มีครูที่รับผิดชอบงานแนะแนว แต่บางโรงเรียนให้ครูประจำชั้นหรือวิชาอื่นๆ ทำหน้าที่แนะแนว ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขาดครูแนะแนวเกิดจากความเชื่อที่ไม่ถูกต้องที่ว่าครูทุกคนคือครูแนะแนว ทั้งที่ สิ่งที่ถูกคือครูทุกคนทำหน้าที่แนะแนวได้ แต่ไม่ใช่ครูแนะแนว และปัญหาที่การบรรจุครูแนะแนวร่อยหรอ เพราะมักจะถูกโอนอัตราไปให้ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์แทน เพราะต้องการเน้นคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) รวมทั้งไม่มีมาตรฐานการกำหนดสัดส่วนครูแนะแนวต่อนักเรียน สถาบันผลิตครูแนะแนวเลิกผลิตหรือผลิตน้อยลงเพราะไม่มีงานรองรับ

เพราะฉะนั้นหากจะมีการปฏิรูปการบริหารจัดการแนะแนวอยากเสนอให้กำหนดให้มีหน่วยงานแนะแนวทุกโรงเรียน กำหนดสัดส่วนครูแนะแนวต่อนักเรียน น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ต่อ 500 คน กำหนดมาตรฐานการแนะแนวทั้งด้านคุณภาพผู้เรียน คุณภาพการดำเนินงานแนะแนว และคุณภาพการบริหารจัดการแนะแนว เร่งพัฒนาคุณภาพครูแนะแนวที่มีอยู่แล้ว ประสานสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตครูแนวแนวใหม่ที่มีคุณภาพ และเร่งพัฒนาเครื่องมือมาตรฐาน สื่อ นวัตกรรมทางการแนะแนวที่ทันสมัย 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น